เปิด 5 ข้อปฏิบัติตัว เมื่อต้องอาศัยในบ้านเดียวกับผู้ป่วยโควิดไม่มีห้องแยก

เปิด 5 ข้อปฏิบัติตัว เมื่อต้องอาศัยในบ้านเดียวกับผู้ป่วยโควิดไม่มีห้องแยก

วันนี้ (7 เมษายน 2565) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ปัจจุบันโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ทำให้มีผู้ติดเชื้อสูงมากกว่าหมื่นรายต่อวัน แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง ทำให้ผู้ป่วยที่มีอาการน้อยสามารถรักษาตัวที่บ้านได้ โดยอาจไม่จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาแบบผู้ป่วยในของโรงพยาบาล (รพ.) สำหรับผู้ที่เข้าเกณฑ์ในการทำโฮม ไอโซเลชั่น (Home Isolation) ได้แก่ ผู้ติดเชื้อที่มีอาการเล็กน้อย หรือไม่แสดงอาการ, มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง อาจมีโรคร่วมที่รักษา และสามารถควบคุมได้ตามดุลยพินิจของแพทย์, มีอายุน้อยกว่า 75 ปี และยินยอมแยกตัวในที่พักของตนเอง ทั้งนี้ แนวทางการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่ทำ HI อาจปรับได้ตามดุลยพินิจของแพทย์ โดยพิจารณาเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วยและด้านการควบคุมโรคประกอบกัน

นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) ราชวิถี กล่าวว่า สิ่งที่ผู้ป่วยโควิด-19 จะได้รับการสนับสนุนเมื่อทำ HI ได้แก่ อุปกรณ์ประเมินอาการ เช่น ปรอทวัดไข้ และเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว เพื่อประเมินการแลกเปลี่ยนก๊าซในปอดว่าปกติดีหรือไม่ โดยค่าปกติจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 96-100 ถ้าตัวเลขอยู่ที่ร้อยละ 94 หรือต่ำกว่านั้น มีแนวโน้มที่เชื้อโควิด-19 จะลงปอดได้ ซึ่งอยู่ในภาวะที่ต้องเฝ้าระวัง, มีการประเมินอาการผ่านระบบเทเลเมด หรือ ระบบออนไลน์ที่ช่วยให้ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์สามารถพูดคุยตอบโต้กันได้, การให้ยากับผู้ป่วยในแต่ละวัน (ประเมินตามอาการขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์), อาหาร 3 มื้อ และการติดตามประเมินอาการ รวมทั้งการให้คำปรึกษา

สิ่งสำคัญ คือ ผู้ป่วยต้องหมั่นสังเกตอาการของตนเอง วัดอุณหภูมิและวัดค่าออกซิเจนปลายนิ้ว 2–3 ครั้งต่อวัน หากมีอาการแย่ลง คือ มีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ เช่น ไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส หายใจ หอบเหนื่อย วัดค่าออกซิเจนปลายนิ้วได้น้อยกว่าร้อยละ 94 หรือไม่สามารถปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ ให้รีบติดต่อ รพ.ที่รับการรักษาอยู่ และหากมีเหตุจำเป็นที่จะต้องเดินทางไป รพ. แนะนำให้ใช้รถยนต์ส่วนตัว หรือรถที่ รพ.จัดให้ ไม่ควรใช้รถโดยสารสาธารณะ และต้องสวมหน้ากากอนามัยอยู่ตลอดเวลา หากใช้รถยนต์ส่วนตัวขอให้ยึดแนวทางป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด จัดให้ผู้ป่วยนั่งในแถวหลัง เปิดกระจกในรถเพื่อควบคุมทิศทางลมให้ไหลออกไปนอกรถ เป็นการลดความเสี่ยงในการหมุนวนของอากาศ เพื่อความปลอดภัยของผู้ที่เดินทางไปด้วย” นพ.จินดา กล่าว

Advertisement

ขณะที่ นพ.ไพโรจน์ เครือกาญจนา รองผู้อำนวยการด้านวิชาการและการแพทย์ รพ.ราชวิถี กล่าวว่า สำหรับแนวทางการปฏิบัติ กรณีที่ไม่มีห้องแยกให้กักตัวในบ้าน แต่จำเป็นต้องอาศัยอยู่ร่วมกันกับคนในครอบครัว ควรปฏิบัติดังนี้

1.ขอให้ทุกคนที่อยู่ในห้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และยึดแนวทางการป้องกันตนเองตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนด

Advertisement

2.แบ่งเขตพื้นที่ส่วนผู้ที่ติดเชื้อและส่วนผู้ที่ไม่ติดเชื้อแยกออกจากกันอย่างชัดเจน

3.จัดหาพัดลมวางไว้ในห้องและเปิดตลอดเวลา เพื่อเป็นการกำหนดทิศทางลมให้ไปออกที่หน้าต่างฝั่งที่ใกล้กับส่วนผู้ที่ติดเชื้อ ซึ่งจะทำให้พื้นที่ของส่วนผู้ที่ไม่เป็นปลอดภัยเนื่องจากอยู่เหนือลม โดยมีพื้นที่กำหนดพิเศษที่จะให้ผู้ที่เป็นสามารถผ่านเข้ามาได้เฉพาะกรณีวางของหรือออกจากห้องเท่านั้น

4.กำหนดพื้นที่พิเศษสำหรับการจัดการกับสิ่งของหรือเครื่องใช้ต่างๆ ที่ใช้แล้ว โดยขอให้ผู้ป่วยนำของใส่ในถุง พ่นด้วยแอลกอฮอล์ข้างในก่อนปิดปากถุง เมื่อวางแล้วให้พ่นแอลกอฮอล์ซ้ำที่ตรงปากถุงด้านนอก ส่วนผู้ที่จะนำไปจัดการต่อจะต้องสวมถุงมือ โดยพ่นแอลกอฮอล์ที่ด้านนอกถุงอีกครั้ง เมื่อนำถุงออกมาจากพื้นที่แล้ว ให้เปิดปากถุงแล้วแช่ด้วยน้ำสบู่หรือน้ำผสมผงซักฟอกประมาณ 10-15 นาที ก่อนที่จะนำไปทำความสะอาดตามปกติ

5.เมื่อมีการสัมผัสสิ่งของที่ใช้ร่วมกัน ขอให้มีการปฏิบัติตัวป้องกันตามแนวทางที่ สธ.กำหนด โดยยึดหลัก “ไม่แพร่เชื้อ-ไม่ติดเชื้อ” ทั้งนี้ หากผู้พักอาศัยหรือผู้ดูแลมีอาการผิดปกติควรรีบตรวจหาเชื้อทันที

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image