สธ.เผยผลตรวจภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีน สกัดโควิด BA.2 ดีกว่า BA.1 ส่อสัญญาณดี

สธ.เผยผลตรวจภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีน สกัดโควิด BA.2 ดีกว่า BA.1 ส่อสัญญาณดี

เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงความคืบหน้าการตรวจหาระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน BA.2 ว่า กรมวิทยาศาสตร์ฯได้ติดตามตรวจภูมิคุ้มกันของประชาชนที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 โดยเฉพาะเมื่อมีเชื้อกลายพันธุ์เรื่อยๆ เนื่องจากพบว่าภูมิคุ้มกันที่มีต่อสายพันธุ์หนึ่งอาจจะลดระดับลงในอีกสายพันธุ์หนึ่ง

ทั้งนี้ นพ.ศุภกิจกล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดในระลอกที่ 5 ซึ่งมีสายพันธุ์โอมิครอนเป็นตัวหลัก และมีการกลายพันธุ์ย่อยเป็น BA.1 และ BA.2 แต่ยังไม่พบ BA.3 ในประเทศไทย พบว่า โอมิครอนทำให้มีการติดเชื้อในประเทศสะสมกว่า 3 ล้านคน ขณะที่คนรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มที่ 3 มีเพียงร้อยละ 35-36 ของคนที่รับวัคซีนเข็มที่ 2 อย่างไรก็ตาม จากการติดตามการระบาดในประเทศ ณ ขณะนี้พบว่าเป็นสายพันธุ์ย่อย BA.2 ถึง ร้อยละ 96 คาดว่าจะครบร้อยละ 100 ในอีก 1-2 สัปดาห์นี้ เนื่องจากมีการแพร่เชื้อได้เร็วกว่าตัวเดิม

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯกล่าวถึงการตรวจหาระดับภูมิคุ้มกันในคนที่ได้รับวัคซีน ว่า เป็นวิธีมาตรฐานโลก คือวิธี PRNT

Advertisement

“โดยการนำภูมิคุ้มกันในน้ำเลือดของคนได้รับวัคซีนมาสู้กับไวรัสตัวเป็นๆ คือ BA.2 ที่ได้เพาะเลี้ยงขึ้นมา ซึ่งต้องใช้เวลาหลังจากมีการระบาดเพื่อให้มีตัวอย่างเพียงพอ โดยหลักการง่ายๆ คือ นำน้ำเลือดมาทำการเจือจางลงไปเป็นเท่าๆ เช่น 1 ต่อ 10, 1 ต่อ 40, 1 ต่อ 160 ไล่จนถึงจุดที่ฆ่าตัวไวรัสได้ครึ่งหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า เป็น PRNT50 คือเมื่อฆ่าได้ครึ่งหนึ่งจึงเป็นจุดที่หยุด เพราะตัวเลขเจือจางถึงในระดับที่ต้องการ เช่น หากเจือจางถึง 100 เท่า ฆ่าได้ครึ่งหนึ่ง จะเป็นไตเตอร์ 100 โดยใช้เวลาตรวจ 7-8 วัน” นพ.ศุภกิจกล่าว และว่า สำหรับผลที่ออกมา ซึ่งเป็นการทยอยตรวจในแต่ละช่วงเวลา คือ หลังจากรับวัคซีนใน 2 สัปดาห์ และรับมาแล้ว 3 เดือน เบื้องต้น จากกราฟสีน้ำเงินและสีแดง แบ่งเป็น

กลุ่มที่ 1 ได้รับวัคซีน 2 เข็ม คือ ซิโนแวค+แอสตร้าเซนเนก้า แอสตร้า 2 เข็ม ไฟเซอร์ 2 เข็ม ซิโนแวค+ไฟเซอร์ และแอสตร้า+ไฟเซอร์

กลุ่มที่ 2 ได้รับวัคซีน 3 เข็ม คือ ซิโนแวค 2 เข็ม+แอสตร้า ซิโนแวค 2 เข็ม+ไฟเซอร์ และมีแอสตร้า 2 เข็ม+ไฟเซอร์ อีกทั้ง ยังมีสูตรซิโนแวค แอสตร้า ตามด้วยไฟเซอร์ และยังมีสูตรซิโนแวค แอสตร้า และตามด้วยแอสตร้า

“ข้อเท็จจริงเบื้องต้น คนที่ฉีดนั้น ไม่ว่าสูตรไหนก็ตาม ปรากฏว่าภูมิคุ้มกันที่ลบล้างฤทธิ์ไวรัสโอมิครอน BA.2 สูงกว่า BA.1 หมายความว่า ภูมิคุ้มกันจัดการ BA.2 ได้มากกว่า BA.1 ดังนั้น ที่กังวลว่า BA.2 จะหลบวัคซีนได้มาก น่าจะไม่จริง อันนี้เป็นเลือดหลังจากฉีดวัคซีนไป 2 สัปดาห์ ซึ่งภูมิคุ้มกันจะขึ้นสูง” นพ.ศุภกิจกล่าว

นพ.ศุภกิจกล่าวอีกว่า สำหรับกลุ่มที่ 1 ฉีดเพียง 2 เข็ม แม้จะจัดการ BA.2 ได้สูง แต่ตัวเลขไม่ได้มากนัก ซึ่งข้อมูลวัดช่วง 2 สัปดาห์หลังฉีด ดังนั้น ณ วันนี้ฉีดมานาน ภูมิคุ้มกันอาจตก แต่ขณะที่ผู้ฉีดวัคซีน 3 เข็ม หรือบูสเตอร์ โดส ภูมิคุ้มกันกลับขึ้นสูงขึ้นพอสมควร จึงเป็นสาเหตุต้องให้ฉีดเข็มที่ 3 อย่างข้อมูล หากปล่อยเวลาเลยไปประมาณ 1 เดือน คนที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม ภูมิคุ้มกันแทบไม่เหลือ เฉลี่ย 11 ซึ่งเลยจุดตัดอยู่ที่ 10 มานิดๆ ป้องกันได้ ส่วนแอสตร้า 2 เข็มขึ้นไป ประมาณ 26 แต่หากกินเวลา 2-3 เดือน ก็จะเหลือน้อยลงไปอีก แต่หากบูสเตอร์ โดส ด้วยเข็มที่ 3 เช่น ซิโนแวค 2 เข็ม เติมด้วยแอสตร้า หรือไฟเซอร์ ก็จะเป็น 61 และ 94 ซึ่งถือว่า ภูมิคุ้มกันสูงพอสมควร อยู่ในระดับที่พอจะช่วยป้องกันโรคได้ อย่างไรก็ตาม จะมีการศึกษากรณีแอสตร้า 2 เข็ม ตามด้วยไฟเซอร์ ว่า หากผ่านไปแล้วนาน 3 เดือน จะเป็นอย่างไรต่อไป

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯกล่าวอีกว่า การศึกษาครั้งนี้ สอดคล้องกับของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ที่ศึกษาในโลกจริง (Real world) ว่าวัคซีน 2 เข็ม ช่วยป้องกันไม่ได้มาก แต่บูสเตอร์ โดส จะช่วยป้องกันการติดเชื้อมากขึ้น โดยเฉพาะลดการเสียชีวิต นอกจากนี้ กรมควบคุมโรคมีข้อมูลตัวเลขจริง เอาคนที่เสียชีวิตต่อล้านคนมาเทียบ พบว่า คนไม่ฉีดวัคซีนเสียชีวิตที่ 767 ต่อล้านคน ขณะที่ฉีดวัคซีน 1 เข็ม เหลือเสียชีวิต 366 ต่อล้านคน เมื่อฉีด 2 เข็ม เหลือ 145 ต่อล้านคน แต่เมื่อฉีดวัคซีนบูสเตอร์ โดส เป็น 3 เข็ม จะพบเสียชีวิต 25 ต่อล้านคน หรือเสียชีวิตลดลง 31 เท่า ส่วนฉีด 4 เข็ม ยังไม่มีใครเสียชีวิตเลย เพราะตัวเลขฉีดยังน้อยอยู่

ทั้งนี้ นพ.ศุภกิจกล่าวว่า สรุปคือ ภูมิคุ้มกันต่อ BA.2 ดีกว่า BA.1 จึงอย่ากังวลว่า BA.2 เต็มประเทศจะทำให้ภูมิคุ้มกันแย่ลง ซึ่งข้อมูลชัดว่า สู้ได้ ส่วนคนที่ฉีด 2 เข็ม โดยเฉพาะกลุ่มวัคซีนเชื้อตาย หรือแม้แต่ไวรัลแวคเตอร์ เกิน 1 เดือน ภูมิต่อ BA.2 ลดลงมากพอสมควร จึงควรไปฉีดกระตุ้น หากฉีดนานแล้วยิ่งต้องไปฉีด

“ในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้เสนอเรื่องนี้เข้าไปด้วย โดยหลักการฉีดบูสเตอร์ โดส ดีๆ ต้องเว้นระยะพอสมควร อย่างเข็มที่ 2 แล้ว ทิ้ง 1 เดือน ไปฉีดเข็มที่ 3 อาจไม่ดีพอ แต่ก็ต้องพิจารณาเป็นกรณี เพราะวัคซีนบางชนิดทำภูมิคุ้มกันตกเร็ว ถ้ารอ อาจช้าเกินไป ซึ่งตรงนี้ก็มีข้อมูลให้คณะกรรมการฯพิจารณาว่า อาจเป็นเงื่อนไข 1-3 เดือนหรือไม่ และต้องการให้ภูมิคุ้มกันสูงเร็วขึ้น เป็นต้น ทั้งหมดเป็นข้อมูลตรวจภูมิคุ้มกัน แต่ยังไม่ได้สรุปว่า ต้องให้วัคซีนห่างกันเท่าไร ที่สำคัญแน่ๆ คือ ฉีด 2 เข็ม ไม่พอ ต้องกระตุ้นด้วยเข็มที่ 3 จะช่วยป้องกันได้ และแพร่เชื้อในระดับหนึ่ง และอธิบายได้ว่า ตอนนี้คนไม่ค่อยมีอาการ อาการไม่ค่อยหนัก เพราะส่วนหนึ่งภูมิคุ้มกันในร่างกายจัดการเชื้อไปส่วนหนึ่ง แต่ไม่ได้ทั้งหมด ยังแพร่เชื้อได้ แต่ลดความรุนแรง ลดการเสียชีวิต ลดปอดอักเสบได้” นพ.ศุภกิจกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ผลการทดสอบภูมิคุ้มกันที่พบว่า คนฉีดวัคซีน 3 เข็ม ป้องกัน BA.2 ได้ดีกว่า BA.1 ในขณะที่ BA.2 เริ่มครองตลาดเกือบร้อยละ 100 เป็นสัญญาณที่ดีหรือไม่ นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ถูกต้อง เป็นเรื่องน่าประหลาดใจพอสมควร เมื่อมีการระบาดเยอะ จึงเป็นสาเหตุที่เราทดสอบกับ BA.2 เพื่อให้เห็นว่าภูมิคุ้มกัน จัดการได้จริง แต่ข้อสรุปชัดว่า ฉีด 2 เข็มไม่เพียงพอ ต้องกระตุ้นเข็ม 3 ซึ่งตอนนี้ฉีดไปแค่ ร้อยละ 35 ที่เราอยากได้ให้ถึงร้อยละ 80 ฉะนั้น ขอให้ทุกคนไปรับเข็มกระตุ้นให้ประเทศปลอดภัย

เมื่อถามต่อว่า มีการทดสอบกับสายพันธุ์ XE ที่เป็นการผสมกันระหว่าง BA.1 และ BA.2 หรือไม่ นพ.ศุภกิจกล่าวว่า สำหรับข้อมูลการติดเชื้อในสายพันธุ์ที่พบมากเป็น BA.2 จึงมีข้อมูลในส่วนนี้เพียงพอ ส่วนสายพันธุ์อื่นก็จะติดตามเพิ่มเติม แต่เท่าที่ดูขณะนี้ ยังไม่น่ากังวล โดยเฉพาะเชื้อเดลต้ากับเชื้อโอมิครอน ก็คาดว่าจะจบเกมแล้ว เพราะเชื้อเดลต้าก็แทบไม่มีแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม จะมีอีกโอกาสคือเชื้อเดลต้าบวกกับโอมิครอนแล้วมีอิทธิฤทธิ์ขึ้น ก็อาจจะกลับมาได้ แต่หากไม่มีอิทธิฤทธิ์ ก็อาจจะหายไปในที่สุด

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image