กรมควบคุมโรคแจงเหตุลดวันกักตัวโควิดกลุ่มเสี่ยงสูง 5 วัน ชี้ระยะฟักตัวโอมิครอนสั้น เริ่ม พ.ค.นี้

กรมควบคุมโรคแจงเหตุลดวันกักตัวโควิดกลุ่มเสี่ยงสูง 5 วัน ชี้ระยะฟักตัวโอมิครอนสั้น เริ่ม พ.ค.นี้

วันนี้ (12 เมษายน 2565) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2565 มีมติที่เห็นชอบลดวันกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ว่า การลดวันกักตัว เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่หลายประเทศทั่วโลกใช้

“หลักการคือ เราดูจากระยะฟักตัวของโรคหลังสัมผัสผู้ติดเชื้อ โดยย้ำว่า คนกักตัวไม่ใช่คนป่วย ดังนั้น เราจะคิด 2 อย่าง คือ 1.ความเสี่ยง ใกล้ชิดแค่ไหน ไม่ใช่เพียงพบหน้าผู้ติดเชื้อแล้วจะแปลว่า มีความเสี่ยงต้องกักตัว 2.เดิมเราใช้มาตรการกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 7 วันที่บ้าน ไม่พบผู้อื่นเลย และอีก 3 วัน ให้สังเกตอาการตนเอง โดยออกจากพื้นที่ได้ แต่ต้องคงมาตรการป้องกันตัวสูงสุด ทั้งนี้ จะมีการเสนอตามขั้นตอนไปที่ ศปก.ศบค. แล้วไปยัง ศบค.ชุดใหญ่ต่อไป” นพ.โอภาสกล่าว

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้มีข้อมูลว่าโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ระยะฟักตัวค่อนข้างสั้น ทั่วโลกได้เริ่มลดวันกักตัวในการเดินทางลง รวมถึงในผู้สัมผัสเสี่ยงสูงด้วย คณะกรรมการโรคติดต่อฯ จึงเห็นชอบว่าให้ลดวันกักตัวเหลือ 5 วัน และสังเกตอาการอีก 5 วัน เป็นระยะเวลารวม 10 วันเท่าเดิม

“เพียงแต่ 5 วันแรก ที่เสี่ยงสูงสุด ให้อยู่ที่บ้าน และอีก 5 วัน ให้สังเกตอาการโดยออกไปไหน มาไหนได้ แต่ต้องระวังตัวเองสูงสุด สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา” นพ.โอภาสกล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะสามารถเริ่มใช้มาตรการได้ในช่วงใด นพ.โอภาสกล่าวว่า คาดว่าอย่างช้าที่สุดคือ เดือนพฤษภาคมนี้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาเห็นชอบจาก ศบค. รวมถึงการประเมินสถานการณ์หลังสงกรานต์ เนื่องจากคาดว่า จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในการควบคุมดูแลได้ หากทุกอย่างเป็นไปตามคาดหมาย ทุกอย่างก็จะเป็นไปตามขั้นตอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image