หมอชี้แพกซ์โลวิดใช้กับคนไข้โควิดมีโรคร่วม-วัคซีนไม่ครบ 3 เข็ม แต่ใช้กับกลุ่มอาการรุนแรงไม่ได้

หมอชี้แพกซ์โลวิดใช้กับคนไข้โควิดมีโรคร่วม-วัคซีนไม่ครบ 3 เข็ม แต่ใช้กับกลุ่มอาการรุนแรงไม่ได้

เมื่อวันที่ 14 เมษายน พญ.เปี่ยมลาภ แสงสายัณห์ หัวหน้ากลุ่มงานอายุรศาสตร์ปอด สถาบันโรคทรวงอก ให้ข้อมูลถึงการใช้ยาแพกซ์โลวิด ซึ่งเป็นยาเม็ดรับประทานรักษาโรคโควิด-19 ว่า สำหรับยาดังกล่าวในแนวทางเวชปฏิบัติฯ สำหรับการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 จะให้แก่คนไข้ที่มีโรคร่วม และร่วมกับมีประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไม่ครบ 3 เข็ม เนื่องจากหลักการเมื่อได้รับวัคซีนแล้ว จะไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันป้องกันโควิด -19 ทำให้การติดเชื้อต่ำลง ซึ่งหากไม่ได้รับครบ 3 เข็ม โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่รับวัคซีนไม่ครบจะเสี่ยง และควรได้รับยาตัวนี้ตามข้อบ่งชี้ แต่หากใครรับประทานยาบางตัวก็จะไม่สามารถรับยาตัวนี้ได้ ซึ่งกรณีนี้แพทย์จะทราบว่าจะต้องจ่ายยาอย่างไร

พญ.เปี่ยมลาภ กล่าวอีกว่า ยาตัวนี้ใช้ในกลุ่มอาการรุนแรงไม่ได้ เพราะเวลาอาการรุนแรง ปอดอักเสบ จะเกิดหลังไวรัสเข้าไปแล้ว 5-10 วันขึ้นไป ซึ่งยาฆ่าเชื้อไวรัสต้องเน้นเร็ว เหมือนยาฟาวิพิราเวียร์มีประโยชน์ลดอาการ อย่างเจ็บคอ ให้เร็วลดอาการทันที ซึ่งตัวไวรัสจะเพิ่มมากที่สุดในช่วงเริ่มมีอาการต้นๆ ส่วนปอดอักเสบจะเกิด 5-10 วันขึ้นไป ซึ่งเป็นปฏิกิริยาที่ร่างกายเราหลั่งสารอักเสบออกมาโต้ตอบกับเชื้อไวรัส ตัวสารอักเสบเป็นตัวปัญหาทำลายปอด ดังนั้น การรับประทานยาต้านไวรัส ไม่ได้ประโยชน์ช่วยลดปอดอักเสบ การรับประทานยาต้านไวรัสจึงไม่ได้ประโยชน์ เพราะตอนนั้นไวรัสเริ่มลดแล้ว เพียงแต่ร่างกายเราโต้ตอบกับการอักเสบ ทำให้เกิดการอักเสบ ปอดอักเสบเพิ่มขึ้นๆ จนรุนแรง

“เมื่อปอดอักเสบแล้ว ในเรื่องการรักษาจะมียาลดการอักเสบตามมาตรฐานการรักษา เป็นไปข้อบ่งชี้การรักษา ซึ่งเรามีผู้เชี่ยวชาญพิจารณาเรื่องนี้ และจะมีการปรับแนวทางเวชปฏิบัติใหม่เป็นฉบับปรับปรุงที่ 22 ซึ่งจะออกมาในเร็วๆ นี้ จากปัจจุบันอยู่ที่ฉบับ 21 ซึ่งออกมาเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 โดยมีการปรับตลอดเวลา” พญ.เปี่ยมลาภ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ยาโมลนูพิราเวียร์ และยาแพกซ์โลวิด มีความแตกต่างกันอย่างไร พญ.เปี่ยมลาภ กล่าวว่า ข้อบ่งชี้เหมือนกัน เป็นแอนตี้ไวรัสต้องให้เร็วภายใน 5 วัน โดยกำหนดว่า ต้องเป็นกลุ่มเสี่ยง อย่างไม่ได้รับวัคซีน หรือรับไม่ครบโดส โดยเฉพาะกลุ่มอายุมาก โรคประจำตัว และหลายๆปัจจัย แต่บางเคสเป็นผู้ป่วยที่รับประทานยาบางชนิดที่กินยาแพกซ์โลวิดไม่ได้ ก็ต้องไปทานยาโมลนูพิราเวียร์ ทั้งนี้ ข้อบ่งชี้ในงานวิจัยที่เหมือนกันคือ ทั้งคู่ใช้ในรายที่มีอาการไม่รุนแรง ปอดอักเสบไม่มาก

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image