กทม.ร่วมขับเคลื่อนโครงการปลอดพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานกรมพระศรีสวางควัฒนฯ

กทม.ร่วมขับเคลื่อนโครงการปลอดพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานกรมพระศรีสวางควัฒนฯ

เมื่อวันที่ 18 เมษายน ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการ สัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธาน ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ครั้งที่ 2/2565 โดยมี นพ.ชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมประชุม ผ่านระบบออนไลน์ ณ อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการ กทม. 2 เขตดินแดง พร้อมด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวง หรือผู้แทน ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้แทน ผู้บริหารหรือผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ผ่านระบบออนไลน์

ในที่ประชุมได้รายงานผลการดำเนินโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ ออกหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ โดยให้บริการตรวจคัดกรองสุขภาพของสัตว์เบื้องต้น พร้อมให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และการผ่าตัดทำหมันสุนัขและแมว วันที่ 20-23 กุมภาพันธ์ 2565 และวันที่ 30-31 มีนาคม -วันที่ 2 เมษายน 2565 ณ วัดเกษรศีลคุณ (วัดป่าบ้านตาด) อ.เมือง จ.อุดรธานี และทรงตรวจเยี่ยมศูนย์ดูแลสุนัขจรจัดของกองทัพเรือ วันที่ 9 เมษายน 2565 ณ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการ สัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 -วันที่ 31 มีนาคม 2565 ในประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 – 8 ประกอบด้วย

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ ยุทธศาสตร์ที่ 2 การจัดการระบบศูนย์พักพิงสัตว์ ยุทธศาสตร์ที่ 3 การเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุม และดูแลรักษาโรคพิษสุนัขบ้าในคนยุทธศาสตร์ที่ 4 การขับเคลื่อนการดำเนินงานโรคพิษสุนัขบ้าในท้องถิ่น ยุทธศาสตร์ที่ 5 การประชาสัมพันธ์ ยุทธศาสตร์ที่ 6 การบูรณาการและการบริหารจัดการข้อมูลโรคพิษสุนัขบ้า ยุทธศาสตร์ที่ 7 ด้านการติดตาม และประเมินผล และยุทธศาสตร์ที่ 8 การพัฒนานวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี

ทั้งนี้ นพ.ชวินทร์ ได้รายงานยุทธศาสตร์ที่ 2 เรื่องศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดกรุงเทพมหานคร ว่า กทม.มีสถานที่ควบคุมและพักพิงสุนัข ดังนี้

Advertisement

1.ศูนย์ควบคุมสุนัขกรุงเทพมหานคร (เขตประเวศ) พื้นที่ 13 ไร่ เพื่อแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนสุนัข จับสุนัขออกจากพื้นที่สาธารณะ กักกัน ควบคุมโรค (ระยะเวลา 14 วัน ) ก่อนส่งไปยังศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดกรุงเทพมหานคร (จ.อุทัยธานี) ปี 2563 รับสัตว์เข้าศูนย์ฯ จำนวน 1,384 ตัว ปี 2564 รับสัตว์เข้าศูนย์ฯ จำนวน 341 ตัว ปี 2565 รับสัตว์เข้าศูนย์ฯ จำนวน 87 ตัว (วันที่ 1 มกราคม – วันที่ 31 มีนาคม 2565) ปัจจุบันดูแลสัตว์ จำนวน 26 ตัว (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565)

2.ศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดกรุงเทพมหานคร (จ.อุทัยธานี) พื้นที่ 200 ไร่ เป็นที่พักพิงของสุนัขจรจัด ที่ได้รับการเลี้ยงดูจนสิ้นอายุขัย เริ่มดำเนินการ ปี 2548 รองรับสุนัขได้ 6,400 ตัว ปี 2563 รับสัตว์เข้าศูนย์ฯ จำนวน 1,052 ตัว ปี 2564 รับสัตว์เข้าศูนย์ฯ จำนวน 275 ตัว (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564) ปี 2565 รับสัตว์เข้าศูนย์ฯ จำนวน 37 ตัว (วันที่ 1 มกราคม – วันที่ 31 มีนาคม 2565) ปัจจุบันดูแลสัตว์ จำนวน 3,507 ตัว (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565)

“สำหรับโครงการก่อสร้างปรับปรุงศูนย์ควบคุมสุนัขกรุงเทพมหานคร (ประเวศ) เพื่อปรับปรุงศูนย์ควบคุมสุนัขกรุงเทพมหานคร (ประเวศ) ให้เป็นคอกสุนัขต้นแบบของการพักพิงสุนัขอย่างถูกสุขลักษณะ รวมถึงเป็นศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับสุนัขและคัดกรองโรคก่อนส่งต่อไปยังศูนย์ควบคุมและพักพิงสุนัขจรจัด (อุทัยธานี) ประกอบด้วยอาคารต่างๆ ดังนี้ 1.อาคารกลุ่มควบคุมและพักพิงสุนัข (ชั้น 1 เป็นคลินิกรักษาสัตว์) 2.อาคารเก็บอาหาร 1 หลัง 3.อาคารคอกเลี้ยงสุนัข 18 หลัง รองรับสุนัขได้ 1000 ตัว 4.อาคารคอกเลี้ยงแมว 3 หลัง รองรับแมวได้ 300 ตัว 5.อาคารและเตาเผาสุนัข 1 หลัง ระยะเวลาการก่อสร้าง เริ่มสัญญาวันที่ 20 มกราคม 2564 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 11 ตุลาคม 2565 รวมระยะเวลาการก่อสร้าง 540 วัน ความคืบหน้าการดำเนินงาน (ข้อมูล ณ วันที่ 5 เมษายน 2565) ดำเนินการได้ ร้อยละ 22.68 ในส่วนของการป้องกัน เฝ้าระวัง และควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในคน กทม.ไม่พบผู้เสียชีวิตจากพิษสุนัขบ้าตั้งแต่ปี 2560 โดยไม่พบผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้ามาแล้ว เป็นระยะเวลา 5 ปี รายสุดท้ายเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2559 ข้อมูล ณ วันที่ 7 เมษายน 2565 จากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)” นพ.ชวินทร์ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image