ไทยติดไวรัสบี 2.2 ล้านคน สธ.-มท.ตั้งเป้ากำจัดโรคตับอักเสบ เริ่ม! คัดกรอง-ฉีดวัคซีน
วันนี้ (20 เมษายน 2565) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ว่าด้วยความร่วมมือในการกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบ ระหว่าง นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. กับ นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.)
นายอนุทิน กล่าวว่า โรคตับอักเสบเป็นภัยคุกคามสุขภาพประชาชน มีโอกาสเสียชีวิตสูง ความร่วมมือครั้งนี้ มท.จะช่วยในการค้นหา คัดกรอง กลุ่มเสี่ยงและส่งเข้าระบบการรักษาในสถานพยาบาลเพื่อดูแลต่อไป
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี เป็นปัญหาคุกคามทำให้ผู้ติดเชื้อมีปัญหาตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง ตับวาย และกลายเป็นมะเร็งตับ ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีผู้ติดเชื้อตับอักเสบบีในประเทศไทยราวๆ 2.2 ล้านคน ตับอักเสบซี ประมาณ 3-8 แสนคน ดังนั้น จึงร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) คัดกรองกลุ่มเสี่ยงเข้าสู่การรักษาอย่างทันท่วงที
“ที่ผ่านมา มีการทำโครงการนำร่อง 44 พื้นที่ 20 จังหวัด ได้ผลดี การลงนามครั้งนี้ก็จะขยายการดำเนินการไปทั่วประเทศ เพื่อบรรจุเป้าหมายลดการป่วยจากไวรัสตับอักเสบบีต่ำกว่าร้อยละ 95 จากตับอักเสบซีน้อยกว่าร้อยละ 80 และลดโรคที่เกี่ยวข้องกับไวรัสทั้ง 2 ตัว น้อยกว่าร้อยละ 65” นพ.โอภาส กล่าว
นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ขณะนี้ มท.กำลังเร่งดำเนินการแก้ปัญหาความยากจนของคนไทย ซึ่งจากการประชุมหารือ พบว่าการที่ประชาชนมีเชื้อไวรัสตับอักเสบ จะทำให้เป็นโรคตับแข็ง และพัฒนาเป็นโรคมะเร็งตับ ซึ่งการมีปัญหาสุขภาพเช่นนี้ โดยเฉพาะกับคนที่เป็นเสาหลักของครอบครัว ทำมาหากินไม่ได้ ก็จะมีปัญหาความยากจนตามมา ดังนั้น การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะช่วยเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาความยากจนของประชาชนได้
พญ.ชีวนันท์ เลิศพิริยสุวัฒน์ ผู้อำนวยการกองโรคเอดส์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญในการลดผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบี และไวรัสตับอักเสบซี คือ ต้องคัดกรองและรักษาให้เร็ว โดยการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงเป็นกลุ่มคนที่เกิดก่อนปี 2535 เนื่องจากคนเกิดหลัง 2535 จะได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ในชุดสิทธิประโยชน์ของเด็กอยู่แล้ว ดังนั้น ในกลุ่มที่เกิดก่อนปี 2535 จึงควรไปตรวจภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ และสามารถฉีดวัคซีนป้องกันได้ ทั้งนี้ โรคดังกล่าวยังสามารถติดได้จากการมีเพศสัมพันธ์ อย่างสามีภรรยา หากคนใดคนหนึ่งมีเชื้อจะถ่ายทอดต่อกัน และยังถ่ายทอดไปลูกได้ แต่ปัจจุบันมีวัคซีนให้เด็กแล้ว
“กลุ่มผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบี ปัจจุบันมี 2.2 ล้านคน ซึ่งยังไม่มียารักษา แต่มียาช่วยไม่ให้ตับถูกทำลาย ซึ่งทางที่ดีที่สุด ต้องคัดกรองให้เร็ว และหากกลุ่มไหนฉีดวัคซีนได้ ต้องรีบฉีดวัคซีนป้องกัน” พญ.ชีวนันท์ กล่าว
พญ.ชีวนันท์ กล่าวอีกว่า ส่วนไวรัสตับตับอักเสบซีมีประมาณ 3-7 แสนคน ตัวเลขไม่ชัดเจน โดยกลุ่มนี้มียารักษาหายขาดได้ กิน 12 สัปดาห์ ซึ่งต้องตรวจคัดกรองให้เร็วเช่นกัน ซึ่งอาการของไวรัสตับอักเสบบีและซีจะเหมือนกัน คือ อาการเฉียบพลัน อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด และหากกรณีตับถูกทำลายมากๆ จะมีภาวะตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องมาน ท้องโต
“กลุ่มผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีในไทยเฉลี่ยพบ ร้อยละ 4-5 โดย ร้อยละ 90 หายขาดได้ แต่มี ร้อยละ 10 เป็นเรื้อรัง และในระยะยาว 20-30 ปี พบ ร้อยละ 10 อาจลุกลามตับแข็ง หรือมะเร็งตับ ซึ่งสวนทางกลับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีในไทยพบเฉลี่ย ร้อยละ 0.9 โดยไวรัสตับอักเสบซี ร้อยละ 90 ไม่หายขาด และ ร้อยละ 10 หายได้ อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มไวรัสตับอักเสบซีมักพบมากในบางพื้นที่ อย่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบมาก และยังพบในกลุ่มสักยันต์สมัยก่อน หมอตำแย เพราะติดต่อผ่านเลือด การมีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะชายรักชาย ดังนั้น ขอเน้นย้ำผู้มีพฤติกรรมเสี่ยง หรือคนเกิดก่อนปี 2535 ขอให้ไปตรวจภูมิคุ้มกัน ซึ่งสามารถไปตรวจได้ในโรงพยาบาล (รพ.) ทุกแห่ง แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง” พญ.ชีวนันท์ กล่าว