รมว.สุชาติ ถกร่วม 127 บริษัท เร่งเครื่องขยายตลาดแรงงานไทยในต่างประเทศ

รมว.สุชาติ ถกร่วม 127 บริษัท เร่งเครื่องขยายตลาดแรงงานไทยในต่างประเทศ

วันนี้ (22 เมษายน 2565) ที่กระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยระหว่างเป็นประธานการประชุมมอบนโยบายด้านการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศ ประจำปี 2565 มีตัวแทนผู้รับอนุญาตจัดหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ จำนวน 127 บริษัท เข้าร่วม ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้มีข้อจำกัดในการเดินทางระหว่างประเทศ เพราะประเทศผู้รับแรงงานบางประเทศ มีการปรับนโยบายและชะลอการรับแรงงานต่างชาติเข้าไปทำงาน แต่ปัจจุบันประเทศผู้รับแรงงานเริ่มมีมาตรการผ่อนคลายในการเดินทางระหว่างประเทศมากขึ้น โดยปีงบประมาณ 2566 ตั้งเป้าหมายจัดส่งแรงงานไปทำงานต่างประเทศไว้ประมาณ 50,000 คน ไม่รวมการเดินทางแบบ Re-entry จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับแรงงานไทย และภาคเอกชนที่ดำเนินธุรกิจด้านการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศ

“วันนี้กระทรวงแรงงานได้เชิญผู้รับอนุญาตจัดหางานเพื่อไปทำงานต่างประเทศ จำนวน 127 บริษัท และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในภารกิจการจัดส่งแรงงานไปทำงานต่างประเทศ มาร่วมกันหารือ รับฟังข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะ เพื่อให้การจัดส่งแรงานไทยไปทำงานในต่างประเทศเกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม แรงงานไทยได้รับประโยชน์สูงสุด รับค่าจ้าง สวัสดิการ และการคุ้มครองที่เหมาะสม ตลอดจนป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน เพื่อปลดล็อก Tier 2 Watch List” นายสุชาติ กล่าวและว่า ขอบคุณผู้รับอนุญาตจัดหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศที่มีการจัดหางานอย่างมีจริยธรรม ให้ความสำคัญกับประโยชน์สูงสุดของแรงงานไทยซึ่งเป็นกลไกหลักในระบบเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ต่างให้ความสำคัญกับการสร้างโอกาสให้แรงงานไทยในการไปทำงานในต่างประเทศมาโดยตลอด ปีนี้กระทรวงแรงงานจะเป็นเรี่ยวแรงหลักในการเจรจากับทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อกระชับความสัมพันธ์ และร่วมกันแก้ไขปัญหาอุปสรรค ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นและเพิ่มแรงจูงใจในการจ้างแรงงานไทยของนายจ้างในต่างประเทศ เพื่อรักษาตลาดแรงงานเดิม และเร่งขยายตลาดแรงงานใหม่

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวว่า หนึ่งในภารกิจสำคัญของ กกจ. คือการส่งเสริมแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีนโยบายขยายตลาดแรงงานใหม่ในต่างประเทศ

“ปีที่ผ่านมา สามารถจัดทำข้อตกลงความร่วมมือด้านแรงงานกับซาอุดีอาระเบีย ลงนามบันทึกความร่วมมือด้านข้อมูลพื้นฐานเพื่อการจัดระบบและการพำนักของแรงงานที่มีทักษะเฉพาะ ร่วมกับประเทศญี่ปุ่น อยู่ระหว่างความพยายามในการจัดทำบันทึกความร่วมมือโครงการวีซ่าเกษตรออสเตรเลีย (Australian Agriculture Visa (AAV) Program) กับออสเตรเลีย และเสนอให้มีการจัดส่งแรงงานรูปแบบ G to G (Government to Government) และ A to A (Agency to Agency) ภายใต้การกำกับดูแล ควบคุมของกระทรวงแรงงาน กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยดำเนินการควบคู่กับการคุ้มครองดูแลสิทธิประโยชน์ของแรงงานไทยไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน มิให้แรงงานไทยถูกหลอกลวงจากสาย/นายหน้าจัดหางานเถื่อน ที่ปัจจุบันนิยมใช้สื่อโซเชียลมีเดียที่มีอิทธิพลอย่างมากในการโฆษณาเชิญชวนหลอกลวงแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ” นายไพโรจน์ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image