อนุทิน ขอบคุณ ปชช. ผ่านสงกรานต์ 10 วัน ยอดไม่พุ่ง ชี้โรคประจำถิ่นต้องทำพร้อมกันทั่วประเทศ

แฟ้มภาพ

อนุทินชี้โรคประจำถิ่นต้องทำพร้อมทั่ว ปท. ชงแผนราย จว.ให้ ศบค.ประเมินหลัง 1 พ.ค.นี้

เมื่อวันที่ 27 เมษายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. ให้สัมภาษณ์ภายหลังการรับมอบรับมอบชุดตรวจโควิด-19 ชนิด ATK จำนวน 20,000 ชุด และ หน้ากากอนามัย จำนวน 20,000 ชิ้น จากบริษัท เอชไอพี โกลบอล จำกัด และประธานสมาคมผู้ประกอบการระบบรักษาความปลอดภัยไทย ว่า ตั้งแต่มีสถานการณ์โควิด-19 สธ.ก็ได้รับความร่วมมือจากประชาชน ภาคเอกชน ในการบริจาคสิ่งของที่จำเป็นมาโดยตลอด ซึ่งเป็นขวัญและกำลังใจของบุคลากรทางการแพทย์อย่างมาก ทำให้ประเทศไทยรับมือกับโควิด-19 ได้

นายอนุทินกล่าวว่า ขณะเดียวกันสถานการณ์โควิด-19 ปัจจุบันมีความทรงตัวระดับหนึ่ง หากไม่มีการกลายพันธุ์ในช่วงนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วย และผู้เสียชีวิตก็น่าจะลดลง จากการติดตามข้อมูลทุกวันพบว่าการใช้เครื่องช่วยหายใจ การใช้ยาต้านไวรัสก็มีแนวโน้มลดลง ซึ่งสอดคล้องกับความตั้งใจของรัฐบาลและ สธ.ที่ทำให้ประเทศมีการผ่อนคลายมากที่สุด

“ตอนนี้ผ่านเทศกาลสงกรานต์มาแล้ว 10 วัน แต่ตัวเลขก็ไม่ได้พุ่งขึ้น ต้องขอบคุณประชาชนและความร่วมมือจากทุกฝ่าย” นายอนุทินกล่าว

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ.

รัฐมนตรีว่าการ สธ.กล่าวถึงกรณีแต่ละจังหวัดที่จะทำให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นว่า ส่วนใหญ่มีความพร้อม ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด รับทราบนโยบายรัฐบาล ความต้องการของประชาชนเป็นอย่างดี เพื่อเปิดประเทศ โดย สธ.ก็ต้องแสดงความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยในสุขภาพให้กับทุกคน ด้วยการขอให้ไปรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 อย่างน้อย 3 เข็ม ยิ่งถ้า 4 เข็มยิ่งดี เพื่อลดความรุนแรงของโรคได้ถึงร้อยละ 90 ไม่ต้องเข้าโรงพยาบาล (รพ.) และไม่มีผู้เสียชีวิต

Advertisement

“หากทั้งประเทศเข้าใจบริบทเดียวกันก็ต้องปรับเป็นโรคประจำถิ่นทั่วประเทศ เพราะหากจังหวัดหนึ่งเป็นแล้ว อีกจังหวัดข้ามไปยังไม่เป็น ก็จะวุ่นวายมาก ดังนั้น ต้องเป็นมาตรฐานเดียวกันอย่างเข้าใจ ไม่ใช่สิ่งที่ยากแล้ว ประชาชนร่วมมือ สวมหน้ากากอนามัย ฉีดวัคซีน สถานพยาบาล เวชภัณฑ์ บุคลากรแพทย์พร้อม เราก็ต้องลุยแล้ว เดินหน้าไป

“กรมควบคุมโรคจะนำเสนอศูนย์บริหารสถานการณ์โรคโควิด-19 (ศบค.) เพื่อหารือกัน ซึ่งทุกคนก็จะหันมาถาม สธ.ว่ารับไหวหรือไม่ ถ้าเรายืนยันว่าทำได้ ท่านก็เอาด้วย การสนับสนุนของรัฐบาลในเรื่องโควิด-19 เป็นสิ่งที่ สธ.ได้รับมาตลอด ทุกวันนี้เราเดินเข้าสู่ Endemic อยู่ตลอด ที่เราเริ่มผ่อนคลายการเดินทางเข้าประเทศ ก็เหลือเพียง ATK เมื่อมาถึง หลังจากวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ อีก 2-3 สัปดาห์ ก็จะมาดูผลการติดเชื้อ ก็อาจเสนอให้ไม่มีการตรวจ หรือไม่มี Thailand Pass แต่เราก็ต้องค่อยๆ มูฟเข้าไป เพราะมีประชาชนที่เห็นด้วยให้เปิดหมด แต่กลุ่มหนึ่งก็บอกให้เราใจเย็นๆ เราต้องบาลานซ์สภาวะจิตใจประชาชนให้มากที่สุด แต่จะเอาใจคนทั้งหมดไม่ได้ ก็ต้องบาลานซ์ด้วยข้อมูลว่าทำได้ เราก็เปิดได้” นายอนุทินกล่าว

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับแผนการทำเป็นโรคประจำถิ่นตามกรอบเดิมคือวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ซึ่งตอนนี้ยังมีเวลาตามแผน และที่ย้ำคือสถานการณ์โควิด-19 เปลี่ยนแปลงบ่อย แต่เราต้องเตรียมพร้อมทั้งฉีดวัคซีน ระบบสาธารณสุข และความร่วมมือของหน่วยงาน หลายจังหวัดเสนอเป็นโรคประจำถิ่นก่อนซึ่งเป็นเรื่องดี แต่จะต้องดูสถานการณ์ต่อไป อย่างใน 12 จังหวัดที่อยู่ในช่วงขาลงก็มีความพร้อม แต่เราต้องประเมินในภาพรวมประเทศ และรายจังหวัด ส่วนจะเข้าหรือไม่เข้าโรคประจำถิ่นก็ไม่ได้มีเกณฑ์ตายตัว เราต้องปรับตามสถานการณ์

Advertisement

“แต่ละจังหวัดมีแผนตามกรอบของ ศบค.และ สธ. เราก็ให้ไปปรับแก้ตามบทบาทของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดตามบริบท เช่น จ.ภูเก็ต เน้นท่องเที่ยว หรือ จ.ยโสธร ก็เน้นเรื่องกิจกรรมในจังหวัด รวมถึงแผนวัคซีน แผนการผ่อนคลาย ซึ่งเป็นตามเดิมคือคณะกรรมการฯ จังหวัด เข้มกว่า ศบค.ได้ แต่ห้ามน้อยกว่า” นพ.โอภาสกล่าว และว่า ส่วนการถอดหน้ากากอนามัยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับแต่ละจังหวัด เพราะที่ผ่านมา ศบค.ก็ไม่ได้บังคับ แต่เป็นกติกาสังคมร่วมกัน

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค

นพ.โอภาสกล่าวว่า ขณะนี้เองทุกอย่างก็เป็นตามที่เราคาดการณ์ไว้ แนวโน้มติดเชื้อคงที่และเริ่มลดลง สำหรับปัจจัยที่ต้องดูต่อคือเชื้อจะกลายพันธุ์หรือไม่ แต่ข้อมูลปัจจุบัน แม้จะเป็น BA.2 หรือ BA.3 ก็ยังไม่มีการกลายพันธุ์ที่ก่อปัญหามากนัก เราก็ผ่านสายพันธุ์ที่รุงแรงคือเดลต้า สายพันธุ์ที่แพร่เร็วคือโอมิครอนมาแล้ว ก็ขออย่าเตือนกลัวจนเกินไป ขณะเดียวกัน สธ.ก็จะติดตามการกลายพันธุ์ หากพบว่ามีความรุนแรง แพร่เร็ว หรือดื้อต่อวัคซีนขึ้น เราจะต้องรีบแจ้งประชาชน

“ปัจจัยบุคคล ซึ่งไทยเราซึ่งวัคซีนเข็ม 1 กว่าร้อยละ 80 กลุ่มสูงอายุเกือบ 11 ล้านคน รวมกับภูมิคุ้มกันหลังการติดเชื้อ และคนรู้จักโควิด-19 มากขึ้น ฉีดวัคซีนป้องกัน มียารักษา ส่วนกิจกรรมเราเหลือผับบาร์คาราโอเกะต้องรอเปิดอย่างเป็นทางการ แต่ก็อยู่ในไทม์ไลน์ที่เราวางไว้ ซึ่งช่วงเดือนพฤษภาคมจะยกเลิก Test and go หากฉีดวัคซีน มีประกันสุขภาพ ก็เข้าได้เลย แต่หากไม่ฉีดวัคซีนต้องตรวจ RT-PCR ก่อนเข้าประเทศและตรวจ ATK เมื่อมาถึง หรือถ้าไม่ฉีดและไม่ตรวจก็เข้าสู่ระบบกักตัว 5+5 วัน ซึ่งเราจะประเมินหลังเปิดประเทศวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ว่าจะเป็นอย่างไร” นพ.โอภาสกล่าว

นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า สำหรับเดือนพฤษภาคมจะมีเรื่องการเปิดเทอม เราฉีดวัคซีนเด็กมัธยมเกือบร้อยละ 90 ส่วนในเด็กประถม ตอนนี้ฉีดเข็มที่ 1 ไปร้อยละ 50-60 ก็จะเร่งฉีดให้เสร็จอย่างน้อยหลังเปิดเทอมแล้ว 1 เดือน และเน้นการเรียนออนไซต์เป็นหลัก ออนไลน์เป็นรอง หากพบการติดเชื้อก็อย่าตื่นตระหนก ให้ทำตามแผนเผชิญเหตุของแต่ละโรงเรียน โดยเน้นย้ำกับผู้ปกครองว่าอย่ากลัวจนมากเกินไป หากเราเข้าใจก็ไม่ต้องปิดโรงเรียน ดังนั้น หากผ่านเดือนพฤษภาคมไปได้ ทุกอย่างจะเป็นไปตามแผน

ผู้สื่อข่าวถามถึงแนวโน้มยอดผู้เสียชีวิตลดลง นพ.โอภาสกล่าวว่า หลายประเทศกำลังมองถึงเรื่องการเสียชีวิตจากโควิด-19 คือติดเชื้อแล้วมีอาการโควิด-19 ชัด เช่น ปอดอักเสบ และเสียชีวิตโดยมีโควิด-19 ร่วมด้วย เช่น เป็นมะเร็งอาการแย่ลงไปรับรักษาแล้วตรวจพบติดโควิด-19 พยายามจะแยกให้ชัดเจนซึ่งหลายประเทศทำแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ ซึ่งราวเดือนพฤษภาคมนี้จะมีรายละเอียดให้เห็น ทั้งนี้ ข้อมูลที่มหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ให้ตัวเลขในที่ประชุม EOC สธ. 3-4 วันก่อน จะเป็นเสียชีวิตจากโควิด-19 (Die From Covid) ประมาณร้อยละ 30-40 และเสียชีวิตโดยมีการติดโควิด-19 ร่วมด้วย (Die with Covid) ร้อยละ 60-70 กำลังพิจารณาข้อมูลทั้งหมด ซึ่งก็จะทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตของประเทศไทยดูเหมือนสูง เพราะรายงานทุกอย่างที่มี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image