รักษา 14 ชีวิต โลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลา ก่อนตายเหี้ยน

รักษา 14 ชีวิต โลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลา ก่อนตายเหี้ยน

สัตว์หลายชนิด หายหน้าหายตา รวมไปถึงสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ ไปจากธรรมชาติ และความทรงจำของคนไทย อย่างไม่น่าจะเป็น

เราสูญเสียพญาแร้งฝูงสุดท้าย ที่ป่าห้วยขาแข้งไปจากการวางยาเบื่อของพรานป่า ทำให้ป่าในประเทศไทย ปราศจากพญาแร้งมากว่า 30 ปี

ไม่รวมสัตว์ตัวอื่นอีกมากมาย ที่มีอยู่แค่ความทรงจำ

ละอง แรด ควายป่า(เหลือน้อยมาก) ตัวลิ่น หรือนิ่ม(ใกล้สูญพันธุ์จากประเทศไทยเต็มที) ฯลฯ

Advertisement

ตัวล่าสุดที่กำลังพูดถึง แต่เสียงกลับเงียบงันอย่างน่าใจหาย
มันคือ โลมาอิรวดี ในทะเลสาบสงขลา ที่เวลานี้เหลืออยู่ 14 ตัว เท่านั้น
เป็น 14 ตัว สุดท้าย ที่ยังเหลือรอด ท่ามกลางความเลวร้ายของถิ่นที่อยู่อาศัย ของพวกมัน
ทะเลสาบสงขลา ที่เน่าเสีย ตื้นเขิน และ ทุลัก ทุเล ต่อการเอาชีวิตรอดของบรรดาสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในนั้น

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขียนเรื่องราวความเศร้าของโลมาอิรวดีไว้ตอนหนึ่งในเฟซบุ๊ก ว่า

สมัยก่อน ความต้องการไม่มาก โลมายังมีความสุข
พวกเธอว่ายไล่เลาะเลียบเรือลำน้อยของชาวประมง เราอยู่ด้วยกันได้
ทว่า…คนมีมากขึ้น จับปลามากขึ้น
ยังมี…การปล่อยปลาบึกลงในทะเลสาบ เพื่อเป็นสัตว์เศรษฐกิจใหม่ ทำให้เครื่องมือประมงเปลี่ยนไป มุ่งหวังจับปลาบึก
โลมากับปลาบึกขนาดใกล้เคียงกัน
โลมาไม่เคยรู้จักเครื่องมือชนิดใหม่ หลบไม่เป็น หนีไม่รอด
โลมาหายใจด้วยปอด โลมาติดอวนจมน้ำตาย
ข้อมูลสถิติบ่งชี้ชัด ก่อนหน้านี้ โลมาตายเฉลี่ยปีละ 4-5 ตัว
ปล่อยปลาบึกปี 2545-51 พอปลาโต คนเริ่มจับ
ในช่วงปี 2550-2555 โลมาตายเฉลี่ยปีละ 10 ตัว
หลังจากนั้น จำนวนตายเริ่มลดลง
ไม่ใช่เพราะเราแก้ปัญหาได้
แต่เป็นเพราะโลมาลดลง จนไม่มีเหลือให้ตาย
ยังรวมถึงปัญหาอื่นๆ เช่น ปลาที่เป็นอาหารถูกจับจนเหลือน้อย น้ำตื้นมากขึ้นจากตะกอนที่ไหลมาจากการเปิดหน้าดิน ฯลฯ
จนถึงเลือดชิด ประชากรเหลือน้อยมาก ผสมพันธุ์กันเอง
แต่ละปัญหานำพามาสู่เลข 14
14สุดท้าย 14ก่อนจะไม่มีอะไรเหลือ
โลมาที่เคยอาศัยมาตั้งแต่ก่อนยุคผีแมนแห่งแม่ฮ่องสอน ก่อนมนุษย์ในอดีตจะวาดภาพโลมาบนผนังถ้ำในภาคใต้
เหลือเพียง 14สุดท้าย และจะสูญสิ้นไปในรุ่นเรา
ตายเหี้ยน หมดสิ้น สูญพันธุ์ !

Advertisement

คำว่า ตายเหี้ยน ที่ อ.ธรณ์ กล่าวไว้ ช่างน่าเศร้า สยดสยอง และสะท้อนภาพบางอย่างว่า ช่างมองไม่เห็นอนาคตของ โลมาอิรวดีทั้ง 14 ตัวเลย หรืออย่างไร

ร้อนถึง วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่กำกับดูแลเรื่องนี้โดยตรง ที่บอกว่า จะทำทุกอย่างและทำเต็มที่ ดูแลและฟื้นฟู โลมาอิรวดี

“เรื่องการดูแล อนุรักษ์ โลมาอิรวดี จะต้องทำกันอย่างเป็นระบบ ทั้งการทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ทะเลสาบสงขลา การดูแลจัดการถิ่นที่อยู่ของตัวโลมา คือ การจัดการสภาพแวดล้อมของทะเลสาบสงขลา ที่ที่ผ่านมาก็มีปัญหา เรื่องน้ำตื้นเขิน ไม่ได้ขุดลอก หรือ ขุดลอกแล้วก็ต้องทำอย่างระมัดระวัง” นายวราวุธ กล่าว

รัฐมนตรีทส.กล่าวว่า ในเรื่องการดูแลความปลอดภัยของโลมาอิรวดี 14 ตัว ที่เหลืออยู่ตอนนี้ จะเน้นเรื่องระบบ การลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ให้มีความถี่ถ้วนมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการออกทำความเข้าใจกับประชาชน และชาวประมงในพื้นที่ ถึงความสำคัญของ 14 ชีวิต ที่เหลืออยู่ ทั้งนี้ ความคุ้นเคย และเคยชินของผู้คนในพื้นที่ บางคนอาจจะยังไม่รู้ถึงความสำคัญตรงนี้ หรือวิถีการทำประมงที่ยังหมิ่นเหม่ต่อการดำรงชีวิตของโลมาอิรวดี ตรงนี้ ต้องปรับกันใหม่ ให้มีความกวดขันเข้มงวด และความความเข้าใจกันให้มาก

“เราจะต้องทำแผนการจัดการออกมาให้เป็นเรื่องเป็นราว ปล่อยไว้ต่อไป เราคงไม่สามารถดูแลชีวิตของโลมาเหล่านี้ได้ แต่อื่นใดคอ การทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ ผมเชื่อว่า เมื่อพวกเขาเข้าใจ เขาจะต้องรักและหวงแหนทรัพยากรที่เป็นสมบัติของเขาแน่นอน”รัฐมนตรี ทส.กล่าว

เซฟโลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลา..

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image