อีสานอ่วมยอดติดโควิดพุ่ง! สธ.ชี้ภาพรวมประเทศลด ครองเตียง23% ยังต้องระวังคนไม่บูสต์วัคซีน

อีสานอ่วมยอดติดโควิดพุ่ง! สธ.ชี้ภาพรวมประเทศลด ครองเตียง23% ยังต้องระวังคนไม่บูสต์วัคซีน

วันนี้ (2 พฤษภาคม 2565) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.จักรรัฐ พิทยาวงอานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงรายงานสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า สถานการณ์ประจำวันพบว่า ผู้ป่วยปอดอักเสบ และใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยปอดอักเสบ 1,751 ราย ใส่ท่อหายใจ 824 ราย แต่แนวโน้มทรงตัวและลดลงอย่างช้าๆ ต่อเนื่อง

“สำหรับผู้เสียชีวิตที่เริ่มลดลงวันนี้ รายงาน 84 ราย สอดคล้องกับจำนวนติดเชื้อที่ลดลง ซึ่งเป็นการเสียชีวิตจากโควิด-19 จริง (Died from Covid) แนวโน้มตามกราฟเริ่มลดลงตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม ค่าเฉลี่ย 14 วันย้อนหลังอยู่ที่วันละ 121 ราย อย่างไรก็ตาม การเสียชีวิตระลอกเชื้อเดลต้าเกิดจากอาการปอดอักเสบที่รุนแรง แม้จะมีโรคเรื้อรังอื่นๆ แต่เกือบทั้งหมดมีสาเหตุเสียชีวิตจากโควิด-19 แต่ระลอกเชื้อโอมิครอนความรุนแรงน้อยลง อาการไม่รุนแรง ขณะที่ผู้มีโรคเรื้อรังมีอาการเจ็บป่วยของโรคเพิ่มขึ้น แต่ตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 จึงทำให้ก่อนเสียชีวิตตรวจพบเชื้อ เราจึงจำเป็นต้องวินิจฉัยแยกโรคให้ได้ว่า เกิดจากโรคที่ป่วยอยู่หรือจากโควิด-19 เพราะหากเป็นโรคเรื้อรังแล้วพบเชื้อโควิด-19 ร่วมด้วย แล้วเสียชีวิตจากโรคที่เป็นอยู่จะถือว่าเป็นผู้ป่วยที่คาดว่าเกิดจากโรคที่เป็นอยู่แล้วติดเชื้อ ทั้งนี้ เพื่อการวิเคราะห์และวางมาตรการที่ชัดเจนยิ่งขึ้น” นพ.จักรรัฐ กล่าว

นพ.จักรรัฐ กล่าวต่อว่า สำหรับการติดเชื้อใหม่ที่มาจากการตรวจ RT-PCR 9,331 ราย ลดลงจากช่วงก่อนหน้านี้ที่ติดเชื้อวันละเกือบ 2 หมื่นราย ส่วนค่าเฉลี่ย 14 วัน ก็ลดลงต่อเนื่องเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การติดตามว่าผู้ป่วยในประเทศลดลงมากน้อยอย่างไร ก็จะดูจากการขอเข้ารับบริการระบบเจอแจกจบ และการรักษาที่บ้าน (HI) พบว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้ติดเชื้อเข้าระบบลงทะเบียน 498,578 ราย เฉลี่ยวันละ 4-6 หมื่นราย โดยหลายจังหวัด ยังมีตัวเลขผู้ป่วยปอดอักเสบสูง แต่หลายจังหวัดลดลง เช่น กรุงเทพมหานคร จากวันละ 200 คน ลดลงต่อเนื่อง โดยอัตราการครองเตียงสีเหลือง สีแดง ที่ดูแลผู้ป่วยค่อนข้างหนัก ภาพรวมประเทศอยู่ที่ ร้อยละ 23

Advertisement

“แต่การมีเตียงมาก ไม่สำคัญเท่าการฉีดวัคซีนมาก ซึ่งการฉีดวัคซีนจะป้องกันการป่วยหนัก และเข้าโรงพยาบาล (รพ.) ได้ จะได้ใช้เตียงในการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังอื่นๆ ได้ ในขณะนี้เรายังประกาศเตือนภัยสุขภาพกรณีโควิด-19 ในระดับ 4 ทั่วประเทศ ยังจำเป็นต้องช่วยกันเลี่ยงเข้าสถานที่เสี่ยงมากที่สุด ลดการรวมตัว ทั้งนี้ก็เพื่อให้ลดการระบาดอย่างเร็วที่สุด” นพ.จักรรัฐ กล่าวและว่า การเสียชีวิตจากโควิด-19 ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่รับวัคซีนไม่ครบ หรือยังไม่ได้รับเลยร้อยละ 70 ฉีดครบ 2 เข็ม เกิน 3 เดือนแล้วร้อยละ 24 ซึ่งยังอยู่ในกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีโรคเรื้อรังเป็นหลัก จึงมีความเป็นจำต้องรับวัคซีนเข็มกระตุ้น (บูสเตอร์ โดส) เพื่อลดอาการป่วยหนัก

นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า สำหรับโดยภูมิภาคที่มีปัญหาการเสียชีวิตมาก คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) รวมถึงภาคกลาง และภาคตะวันออก ตามลำดับ

การติดเชื้อใน 15 จังหวัดสูงสุด กว่าครึ่งหนึ่งเป็นภาคอีสาน ดังนั้น การติดเชื้อค่อนข้างมาก ส่วนภาคกลางและภาคตะวันออกเริ่มลงแล้ว ส่วนภาคใต้ เป็นจังหวัดที่รายงานน้อยที่สุด เพราะเคยเกิดการระบาดมากใน 1-2 เดือนที่แล้ว ช่วงนี้จึงลดลง การติดตามสถานการณ์เป็นไปตามที่คาดไว้ในเส้นสีเขียว แล้วน่าจะลดลงต่อเนื่อง เช่นเดียวกับผู้ป่วยปอดอักเสบที่มีความสอดคล้องกัน แต่ต้องมาติดตามในส่วนของผู้ใส่ท่อหายใจว่าจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงและปอดอักเสบที่ลดลง เพราะผู้ใส่ท่อหายใจต้องใช้เวลาในการนอน รพ. ต้องติดตามใน 2-4 สัปดาห์” นพ.จักรรัฐ กล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า เปิดประเทศมากขึ้นแต่ยอดฉีดเข็มกระตุ้นยังไม่มาก จะส่งผลต่อการระบาดในประเทศและการเป็นโรคประจำถิ่นหรือไม่ นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า วันที่ 1 พฤษภาคม เริ่มผ่อนคลายเดินทางเข้าประเทศได้ง่ายขึ้น จะมีผู้เดินทางเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งการฉีดวัคซีนไม่ได้ลดการระบาด ลดการติดเชื้อได้เล็กน้อย แต่ลดการป่วยหนักได้ เพราะฉะนั้นเป็นการป้องกันคนในประเทศให้มีภูมิคุ้มกัน ถ้ามีเชื้อเข้ามาจะช่วยให้ไม่ป่วยหนัก จึงจำเป็นต้องเร่งฉีดวัคซีนให้มากขึ้น ในขณะที่เปิดประเทศมากขึ้น โดยการฉีดวัคซีนเป็นเครื่องมือช่วยสร้างความมั่นใจว่าถ้ามีการระบาดสายพันธุ์นี้หรืออื่นๆ จะมีเครื่องมือป้องกันอยู่ในตัวทุกคนเรียบร้อย ทำให้มั่นใจว่า แม้ติดเชื้อมากขึ้น แต่ประชาชนมีความปลอดภัย ลดอาการป่วยหนักลงได้ จึงเป็นเกณฑ์หนึ่งที่กำหนดเรื่องโรคประจำถิ่นต้องฉีดเข็มกระตุ้นให้ได้ ร้อยละ 60 ขึ้นไป แต่จะต้องดูปัจจัยอื่นด้วย

“โอมิครอนทำให้คนส่วนใหญ่ติดเชื้อแล้วไม่มีอาการ อาการคล้ายไข้หวัดมาก ทำให้หลายคนรักษาเองและไม่ได้รายงานเข้าระบบซึ่งไม่ได้รายงานมีส่วนหนึ่ง แต่ไม่ได้มาก ส่วนใหญ่จะประสานเข้าระบบ แม้จะใช้ตัวเลขรายงานจากการตรวจ RT-PCR เป็นหลัก แต่ก็สอดคล้องกับการตรวจ ATK เพราะฉะนั้นตัวเลขที่ลดลงสะท้อนสถานการณ์จริงในขณะนี้ได้” นพ.จักรรัฐ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image