ห่วง! บุญบั้งไฟทำโควิดอีสานพุ่ง สธ.จี้ฉีดวัคซีนควบคุมโรค

ห่วง! บุญบั้งไฟทำโควิดอีสานพุ่ง สธ.จี้ฉีดวัคซีนควบคุมโรค เร่งทุก จว.ทำแผนโรคประจำถิ่นก่อน ก.ค.

วันนี้ (4 พฤษภาคม 2565) นพ.จักรรัฐ วงศ์พิทยาอานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงการเดินหน้าทำให้โรคโควิด–19 เป็นโรคประจำถิ่น ว่า สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยขณะนี้พบว่า ในหลายพื้นที่มีสถานการณ์ดีขึ้น บางพื้นที่กำลังระบาด เช่น ภาคใต้สถานการณ์การระบาดลดลงชัดเจน เพราะมีการระบาดมากก่อนหน้านี้ แต่พื้นที่ภาคใต้ก็ยังมีการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาทุกวัน จึงถือว่ายังมีความเสี่ยงอยู่

นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ส่วนพื้นที่ที่สถานการณ์เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น คือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก เพราะมีการติดเชื้อไปมากแล้ว ประกอบกับมีการรับวัคซีนจำนวนมาเช่นเดียวกัน อาจจะมีแนวโน้มเป็นโรคประจำถิ่นได้ก่อนภูมิภาคอื่นๆ

“แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นนั้น ต้องทำพร้อมกันทั้งประเทศ จะประกาศพื้นที่ใด พื้นที่หนึ่งก่อนไม่ได้ เพราะเรายังมีการเดินทางไปมาหาสู่กัน เป้าหมายคือในเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อเตรียมการเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งได้เสนอเข้าศูนย์บริหารสถานการณ์โรคโควิด-19 (ศบค.) ในการประชุมรอบที่แล้ว คือ มอบหมายให้แต่ละจังหวัดจัดทำแผนการรับมือการเป็นโรคประจำถิ่น เช่น หากพบการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ จะมีมาตรการตรวจจับเร็ว และควบคุมโรคอย่างไร การเร่งฉีดวัคซีนให้มากขึ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุ มาตรการหน่วยงานองค์กรต้องช่วยกัน ดังนั้น ภายในจังหวัดต้องจัดทำแผนของตัวเองและเสนอผลการดำเนินการกลับมาส่วนกลางก่อนเดือนกรกฎาคมนี้” นพ.จักรรัฐ กล่าว

ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ที่ยังน่ากังวลคือ พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่กำลังมีการระบาดขาขึ้น และคาดว่าน่าจะมีตัวเลขเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปอีก 2-3 สัปดาห์ และจากตัวเลขข้อมูล 3 ด้าน ทั้งยอดผู้ติดเชื้อรายวัน ยอดผู้ป่วยปอดอักเสบ และเสียชีวิตยังสูง เป็นอันดับต้นๆ ทั้งนี้ สาเหตุหนึ่งคือการฉีดวัคซีนมีปัญหามาก ฉีดน้อยทั้งเข็มที่ 1 เข็มที่ 2 และเข็มกระตุ้น (บูสเตอร์ โดส)

Advertisement

“โดยมองว่าเชื้อโอมิครอนไม่รุนแรง ติดเชื้อแล้วมีอาการไม่มาก เลยฉีดวัคซีนแค่ 2 เข็มพอ ซึ่งขอยืนยันว่าวัคซีน 2 เข็ม ไม่เพียงพอต่อการป้องกันเชื้อโอมิครอนได้ ต้อง 3 เข็ม ขึ้นไป ดังนั้น จึงต้องเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรค โดยเฉพาะผู้สูงอายุ” นพ.จักรรัฐ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า สถานการณ์ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่เดือนพฤษภาคมนี้ จะมีประเพณีสำคัญคือ งานบุญบั้งไฟ ซึ่งหลายจังหวัดอนุมัติจัดกิจกรรมแล้ว ต้องมีมาตรการเพิ่มเติมอะไรหรือไม่ นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า เรื่องมาตรการคงไม่ต้องปรับอะไร แต่พื้นที่ต้องมีการดูแล และบริหารจัดการให้ได้ เพราะการตัวเลขการติดเชื้อ หากมีจำนวนมากอาจจะไม่น่ากังวลเท่าจำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบ

“ถ้าปอดอักเสบไม่มากก็โอเค ซึ่งส่วนนี้วัคซีนจะช่วยได้มาก จึงต้องเร่งให้มีการฉีดวัคซีนมากขึ้น โดยเฉพาะผู้สูงวัย ลูกหลาน ก็ต้องฉีดวัคซีนเพื่อตัดวงจรการนำเชื้อไปติดผู้สูงอายุ” นพ.จักรรัฐ กล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบข้อมูลการรายงานสถานการณ์โรคโควิด-19 ประจำวัน ของ ศบค. พบว่า ในจำนวน 10 จังหวัดที่มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่มากที่สุด มีถึง 6 จังหวัด อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือประกอบด้วย บุรีรัมย์ 317 ราย ศรีสะเกษ 300 ราย ขอนแก่น 233 ราย มหาสารคาม 231 ราย อุบลราชธานี 201 ราย และ ร้อยเอ็ด 165 ราย ที่เหลือเป็นจังหวัดในภาคกลาง และภาคตะวันออก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 3,061 ราย สมุทรปราการ 270 ราย ชลบุรี 231 ราย และ นนทบุรี 170 ราย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image