สถาบันจิตเวชฯสมเด็จเจ้าพระยา จับมือเอกชน พัฒนานวัตกรรมดูแลผู้ป่วยจิตเวช

สถาบันจิตเวชฯสมเด็จเจ้าพระยา จับมือเอกชน พัฒนานวัตกรรมดูแลผู้ป่วยจิตเวช

วันนี้ (10 พฤษภาคม 2565) พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานการลงนามบันทึกบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ระหว่าง สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กับ บริษัท เอเวอร์ เมดิคอลเทคโนโลยี จำกัด โครงการสาธิตการใช้เทคโนโลยี VR เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการทางระบบออนไลน์

พญ.อัมพร กล่าวว่า การพัฒนานวัตกรรมการบริการทางด้านจิตเวชและสุขภาพจิต เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะในบริบทของสังคมเมืองที่เทคโนโลยีการสื่อสารบนระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น ประกอบกับแนวโน้มผู้มีปัญหาจิตเวชและสุขภาพจิตที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี การสร้างระบบบริการสุขภาพจิตที่มีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็ว คลอบคลุมผู้รับบริการทุกกลุ่ม และสามารถลดความรู้สึกกังวลใจของผู้รับบริการในประเด็นการถูกตีตราทางสังคม (Social Stigma) ทำให้ผู้รับบริการยินดีเข้าสู่ระบบบริการมากยิ่งขึ้น การใช้เทคโนโลยีพัฒนาบริการทางจิตเวชและสุขภาพจิตผ่านกลไกเมตาเวิร์ส (Metaverse) เพื่อให้ผู้รับบริการสามารถเข้าถึงบริการได้จากทุกที่ ทุกเวลา อย่างเต็มใจ โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมารับบริการดังแต่ก่อน มีแนวโน้มได้รับความนิยม และเป็นที่การยอมรับมากขึ้น

“จึงเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนางานบริการจิตเวชและสุขภาพจิต เพื่อมุ่งสู่การเป็นเวอร์ชวล ฮอสปิทัล (Virtual Hospital) ซึ่งในอนาคต เทคโนโลยีมาใช้พัฒนาช่องทางการรับบริการจิตเวชและสุขภาพจิตที่มีประสิทธิภาพและครอบคลุมด้านต่างๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้รับบริการและการพัฒนารูปแบบบริการสาธารณสุขในอนาคตต่อไป” พญ.อัมพร กล่าว

Advertisement

ด้าน นพ.ศรุตพันธุ์ จักรพันธุ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กล่าวว่า ปัจจุบันพบว่า มีผู้ป่วยจากเขตเมืองจำนวนหนึ่งที่มีความประสงค์จะทำการรักษาจากที่บ้านผ่านทางเลือกต่างๆ อาทิ การรักษาผ่านระบบเทเลเมดิซีน (Telemedicine) การรักษาผ่านระบบยาไปรษณีย์ หรือร้านยาใกล้บ้าน และผู้ป่วยตลอดจนประชาชนที่ต้องการเข้าถึงบริการเหล่านี้ มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปี การการพัฒนาระบบบริการ ร่วมกับบริษัท เอเวอร์ เมดิคอลเทคโนโลยี จำกัด ผ่านกลไกของเมตาเวิร์ส ระบบ VR AR ตลอดจน AI ที่เกี่ยวข้อง มีวัตถุประสงค์เน้นการบูรณาการรูปแบบการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น พัฒนาช่องทางให้คำปรึกษาทางไกลผ่านระบบ VR ในการเข้าถึงบริการทางจิตเวชของผู้ป่วยที่ไม่ต้องการเปิดเผยตัวตน และเป็นการพูดคุยผ่านบรรยากาศที่ผ่อนคลายแทนห้องตรวจสี่เหลี่ยมแบบเดิม อันจะเป็นการเริ่มต้นเพื่อมุ่งไปสู่บริการแบบเวอร์ชวล ฮอสปิทัล ในอนาคต

นายภาณุสิชฌ์ ชมะนันทน์ ผู้ก่อตั้งและประธานบริษัท เอเวอร์ เมดิคอล เทคโนโลยี จำกัด กล่าวว่า ยินดีที่ได้บูรณาการความร่วมมือกับสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยาในครั้งนี้ ถือเป็นการยกระดับการรักษาให้ไม่ถูกจำกัดอยู่แค่ในโรงพยาบาลอีกต่อไป รวมถึงช่วยให้คนไข้เป็นศูนย์กลางในการรักษาอย่างแท้จริง โดยเทคโนโลยี เมตาเวิร์ส เป็นการทำให้ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์ และทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันได้อย่างอิสระจากทั่วทุกมุมโลก โดยในครั้งนี้จะนำมาปรับใช้เป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาบนโลกเสมือนจริง เปิดประตูสู่การมีสุขภาวะที่ดีทั้งกายใจ

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมสุขภาพจิตยังมีแผนที่จะพัฒนาการให้บริการแก่ผู้ป่วยเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงของสังคม โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา เช่น การใช้เทคโนโลยีทั้งในมิติการฝึกกายภาพบำบัดที่บ้าน การจำลองสถานการณ์ต่างๆ เพื่อลดความวิตกกังวล รวมไปถึงการ AI Psychiatric Bot อีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image