ประชาชนทั่วบูสต์วัคซีนโควิดเข็ม 4 อนุทิน สั่งทีมเร่งหาเหตุฉีดครบ 3 โดส ยังดับเพราะติดเชื้อ

ประชาชนทั่วบูสต์วัคซีนโควิดเข็ม 4 อนุทิน สั่งทีมเร่งหาเหตุฉีดครบ 3 โดส ยังดับเพราะติดเชื้อ

วันนี้ (11 พฤษภาคม 2565) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. แถลงผลการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2565 ว่า ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าแผนการดำเนินงานมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น โดยตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นมา หลังยกเลิกมาตรการ Test & Go ถ้านักท่องเที่ยวฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ไม่ต้องกักตัวและไม่ต้องตรวจ RT-PCR ทำให้มีผู้เดินทางเข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้น 2 เท่า ทำให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการค้าการท่องเที่ยวอย่างดี โดยมีการติดตามสถานการณ์แพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องและหากได้ผลดีจะมีการผ่อนปรนเพิ่มขึ้น เช่น ยกเลิกการลงทะเบียนไทยแลนด์พาส (Thailand pass) สำหรับคนไทย ซึ่งปัจจุบันภาพรวมประเทศไทยฉีดวัคซีนโควิดแล้วมากกว่า 134 ล้านโดส มีความครอบคลุมเข็มแรกกว่า ร้อยละ 81 เข็มที่ 2 ร้อยละ 74 และเข็มที่ 3 ร้อยละ 38 กลุ่มเป้าหมายหลัก คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และเด็กอายุ 5-11 ปี

นายอนุทิน กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการเปลี่ยนผ่านสู่ระยะ Post-pandemic โดยมอบให้ทุกจังหวัดจัดทำแผนปฏิบัติการเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดเมืองเปิดประเทศ ดำเนินมาตรการ “2U” คือ Universal Prevention และ Universal Vaccination และ “3พ” คือเตียงพอ เวชภัณฑ์และวัคซีนพอ และหมอพอ พร้อมด้วยโรงเรียนทั่วประเทศ จะเปิดทำการเรียนการสอนปกติ โดยกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุขปรับมาตรการป้องกันโรคและการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันเพื่อการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพของเด็กไทย เปิดเรียน On-site อย่างปลอดภัย และเร่งรัดการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ในเด็กนักเรียนอีกด้วย

“สำคัญคือ การฉีดวัคซีนโดยเฉพาะเข็มกระตุ้นในกลุ่มเสี่ยงทั้งเข็มที่ 3 และเข็มที่ 4 ซึ่งกลุ่ม 608 นั้น หากฉีดเข็มที่ 3 ครบ 3 เดือนแล้ว ให้ไปฉีดเข็มที่ 4 ได้เลย ส่วนประชาชนทั่วไป หลังฉีดเข็มที่ 3 เกิน 3 เดือนแล้วค่อยมาฉีดเข็มที่ 4 ก็ได้ ทั้งนี้ หากฉีดวัคซีนครบ 3 เข็มแล้วเสียชีวิต จากโควิด-19 โดยตรง (Dead From Covid-19) สธ.จะมีการสอบสวนข้อมูลเพื่อนำมาสู่การออกแนวปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งปัจจุบันคนที่เสียชีวิตหลังฉีดเข็มที่ 3 แล้วเสียชีวิตน้อยมากอยู่ประมาณร้อยละ 7 เป็นกลุ่ม 608 และมีโรคร่วม ส่วนฉีดเข็มที่ 4 ยังไม่มีรายงานการเสียชีวิต” นายอนุทิน กล่าว

Advertisement

นายอนุทิน กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ จะมีวัคซีนขอขึ้นทะเบียนวัคซีนเพิ่มเติม เบื้องต้น 2 ชนิด คือ วัคซีนโคโวแวกซ์ ขอขึ้นทะเบียนฉีดครอบคลุมกลุ่มอายุ 12 ปี ขึ้นไป จากเดิมที่มีการขึ้นทะเบียนฉีดวัคซีนในคนอายุ 18 ปี ขึ้นไป และอีกตัวคือวัคซีนโมเดอร์นา ที่มาขึ้นทะเบียนฉีดวัคซีนครอบคลุมการฉีดในกลุ่มอายุ 6 ขวบขึ้นไป จากเดิมที่ขึ้นทะเบียนฉีดครั้งล่าสุดไว้ที่ 12 ปี ขึ้นไป นอกจากนี้ ขณะนี้ ยังอยู่ระหว่างการเจรจากับทางบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ในการจัดซื้อยา Long Active Antibody หรือ LAAB ซึ่งผ่านการศึกษาในกลุ่มที่ฉีดวัคซีนแล้วภูมิไม่สูง ไม่มีภูมิคุ้มกัน เช่น ผู้ป่วยโรคไต ผู้ผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะต้องกินยากดภูมิ เป็นต้น พบว่ามีความคุ้มค่า

ด้าน นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมอนุกรรมการฯ ผู้เชี่ยวชาญเพื่อขยายขอบเขตอายุผู้รับวัคซีน เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีมติอนุมัติ 1.วัคซีนโคโวแว็กซ์ (Covovax) ที่เหมือนวัคซีนโนวาแว็กซ์ (Novavax) ขยายใช้ในอายุ 12-17 ปี จากเดิมที่เคยให้ในผู้ที่อายุเกิน 18 ปี โดยให้ขนาด 5 ไมโครกรัม (0.5 มล.) 2 โดส ห่างกัน 3 สัปดาห์ เหมือนกับในผู้ใหญ่ และ 2.วัคซีนสไปรก์แวค (Spikevax) จากโมเดอร์นา ขยายอายุ 6-11ปี จากเดิมที่เคยให้ไว้ 12 ปีขึ้นไป ให้ขนาด 50 ไมโครกรัม (0.25 มล.) เป็นขนาดครึ่งหนึ่งของผู้ใหญ่ ใช้วัคซีนแบบเดียวกับของผู้ใหญ่ โดยให้ 2 โดส ห่างกัน 4 สัปดาห์

แหล่งข่าวระบุว่า สำหรับกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะประชาสัมพันธ์ให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้าวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิดต่างมาปรับการขึ้นทะเบียนวัคซีนจากการขึ้นทะเบียนใช้ในภาวะฉุกเฉิน มาเป็นวัคซีนที่ใช้ในภาวะปกตินั้น ขณะนี้ ทราบว่า อย.กำลังดำเนินการอยู่ แต่คิดว่าทางผู้ผลิต ผู้นำเข้าอาจจะยังไม่ได้มายื่น เนื่องจากหากมีการปรับเป็นวัคซีนที่ใช้ในภาวะปกติจะต้องมีระเบียบ หลักเกณฑ์จำนวนมาก รวมถึงต้องรับผิดชอบกรณีผลกระทบจากวัคซีนด้วย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image