อภ.เผย น้ำมันกัญชา 3 สูตร ได้บรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ หมอสั่งจ่ายคนไข้เท่านั้น!

อภ.เผย น้ำมันกัญชา 3 สูตร ได้บรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ หมอสั่งจ่ายคนไข้เท่านั้น!

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2565 ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ได้พิจารณาบรรจุน้ำมันสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ของ อภ.เป็นรายการยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร พ.ศ.2564 และได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 โดยน้ำมันสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ของ อภ.ที่ได้รับการบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร จำนวน 3 รายการ ได้แก่ ยาน้ำมันสารสกัดกัญชาที่มีทีเอชซี (THC) สูง ยาน้ำมันสารสกัดกัญชาที่มีซีบีดี (CBD) สูง และยาน้ำมันสารสกัดกัญชาที่มีซีบีดีและทีเอชซี (CBD และ THC) สัดส่วนเท่ากัน ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งในการส่งเสริมการใช้ยาจากสมุนไพรให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น

“รายการยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักฯเป็นยาสำหรับใช้ในโรงพยาบาล (รพ.) และสถานบริการสาธารณสุข โดยมีสรรพคุณและข้อบ่งใช้ตามข้อกำหนดทางการแพทย์ โดยน้ำมันสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ของ อภ.ทั้ง 3 รายการ เป็นรูปแบบยาหยดใต้ลิ้น ประกอบด้วย ยาน้ำมันสารสกัดกัญชาที่มีทีเอชซีสูง รักษาเสริมในการรักษาภาวะคลื่นไส้ อาเจียนจากเคมีบำบัด ผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะท้ายที่มีอาการนอนไม่หลับ เบื่ออาหาร หรือมีอาการปวดในระดับปานกลางจนถึงรุนแรง ยาน้ำมันสารสกัดกัญชาที่มีซีบีดีสูง ตามโครงการของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และยาน้ำมันสารสกัดกัญชาที่มีซีบีดีและทีเอชซี สัดส่วนเท่ากัน รักษาเสริมในผู้ป่วยมะเร็งระยะท้ายที่นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ปวดปานกลางถึงรุนแรง” ภญ.นันทกาญจน์กล่าว

ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ อภ.กล่าวว่า ประชาชนสามารถเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ในบัญชียาหลักฯด้านสมุนไพรได้ในระบบบริการสุขภาพของรัฐ โดยรัฐเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านยา ปัจจุบันมีหน่วยบริการทางการแพทย์ที่ได้รับอนุญาตจ่ายกัญชาทางการแพทย์ที่เป็น รพ.ภาครัฐ จำนวน 893 แห่ง ทั่วประเทศ และเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการรักษา จึงควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและสั่งจ่ายยา ซึ่งแพทย์เหล่านี้ได้ผ่านการอบรมการใช้กัญชามาอย่างถูกต้องและเลือกใช้ยาที่มีมาตรฐาน ปลอดภัย โดยเฉพาะยาที่ได้รับอนุญาตจาก อย.แล้ว และเป็นยาที่บรรจุอยู่ในบัญชียาหลักฯด้านสมุนไพร

Advertisement

“การบรรจุยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักฯ จะช่วยลดค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ป่วยและส่งเสริมให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาที่มีความจำเป็นได้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะยาที่มีราคาสูง และส่งเสริมให้ประชาชนได้หันมาใช้ยาที่ผลิตจากสมุนไพร ทดแทนการนำเข้ายาที่มีฤทธิ์ในการรักษาคล้ายกัน ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศลงได้” ภญ.นันทกาญจน์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image