ฉีดวัคซีนไทยมุสลิม 5.8 พันคน ก่อนร่วมพิธีฮัจย์ สธ.จ่อประกาศความสำเร็จคุมโควิดเวทีโลก

ฉีดวัคซีนไทยมุสลิม 5.8 พันคน ก่อนร่วมพิธีฮัจย์ สธ.จ่อประกาศความสำเร็จคุมโควิดเวทีโลก

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. แถลงผลการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2565 ว่า ที่ประชุมเห็นชอบ 1.ยุทธศาสตร์กำจัดโรคไวรัสตับอักเสบ พ.ศ.2565-2573 และแผนปฏิบัติการกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบ พ.ศ.2565-2567 โรคไวรัสตับอักเสบบี และซี นับเป็นปัญหาทางการแพทย์สาธารณสุขระดับโลก องค์การอนามัยโลกคาดประมาณว่าในปี 2562 ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี 296 ล้านคน ขณะที่มีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี 58 ล้านคน

“สำหรับประเทศไทย พบว่ามีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ประมาณ 2.2 ล้านคน และมีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี 3.6 แสนคน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่ตับแข็งและมะเร็งตับ ทั้งนี้ ในปี 2563 ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งพบว่า คนไทยป่วยเป็นโรคมะเร็งตับมากกว่ามะเร็งชนิดอื่นๆ โดยพบมากในเพศชาย จึงต้องดำเนินการแก้ไขปัญหา กำหนดทิศทาง และนโยบาย เพื่อให้หน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องดำเนินงานตามแผนดังกล่าว โดยมีเป้าหมายเพื่อปิดช่องว่างและพัฒนารูปแบบ การดำเนินงานให้บรรลุเป้าประสงค์ในการกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบ บี และซี ให้ได้ภายในปี 2573” นายอนุทินกล่าว

รัฐมนตรีว่าการ สธ.กล่าวว่า 2.เห็นชอบการดำเนินการป้องกันและสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคติดต่อแก่ชาวไทยมุสลิมที่เดินทางแสวงบุญ ที่ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ปี 2565 โดยประกาศรับผู้แสวงบุญมุสลิมจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวม 1 ล้านคน ร่วมประกอบพิธีฮัจย์ โดยได้จัดสรรโควต้าให้กับชาวไทยมุสลิม จำนวน 5,885 คน

Advertisement

“กรมควบคุมโรคจึงได้จัดโครงการป้องกันโรคติดต่อแก่ชาวไทยมุสลิมที่เดินทางไปประกอบพิธีในวันที่ 30 พฤษภาคมนี้ ณ ศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติ เฉลิมพระเกียรติ กรุงเทพมหานคร กิจกรรมภายในงานประกอบด้วยการให้บริการ ดังนี้ 1.ตรวจสุขภาพก่อนการเดินทาง 2.ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น และวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ โดยยกเว้นค่าธรรมเนียม ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม-วันที่ 30 มิถุนายน 2565 ให้กับชาวไทยมุสลิมทั่วประเทศ ที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ 3.ออกเอกสารรับรองการให้วัคซีน หรือยาป้องกันโรคติดต่อระหว่างประเทศ (เล่มเหลือง) โดยยกเว้นค่าใช้จ่าย ในการออกหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ให้กับชาวไทยมุสลิมที่เข้าร่วมโครงการป้องกันโรคติดต่อแก่ชาวไทยมุสลิมที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ และ 4.สนับสนุนกระเป๋ายาและเวชภัณฑ์” นายอนุทินกล่าว

นอกจากนี้ นายอนุทินกล่าวว่า 3.รับทราบการทบทวนการเตรียมความพร้อม กรณีภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health and Preparedness Review: UHPR) เมื่อวันที่ 21-29 เมษายน 2565 องค์การอนามัยโลกได้ทบทวนการดำเนินงาน UPHR ถอดบทเรียนความสำเร็จการรับมือวิกฤตโควิด-19 ของไทย

“ได้รับคำชื่นชมอย่างมาก ว่าไทยบริหารจัดการได้อย่างดียิ่ง โดยพบ 5 ปัจจัยแห่งความสำเร็จ ได้แก่ ผู้บริหารประเทศให้ความสำคัญสูง ระบบหลักประกันสุขภาพ/ปฐมภูมิที่มั่นคง มีความร่วมมือทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง ที่สำคัญ คือ มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) มากกว่า 1 ล้าน เป็นกำลังสำคัญของสาธารณสุข นอกจากนี้ ประชาชนและชุมชนมีความเข้มแข็ง และมีการใช้เทคโนโลยีเพื่อจัดการโควิด-19 ทั้งนี้ ประเทศไทยจะนำเสนอประสบการณ์รับมือโควิด-19 ในที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก หรือ WHA ปลายเดือนพฤษภาคมนี้” นายอนุทินกล่าว และว่า 4.รับทราบการพัฒนาบุคลากรด้านการตรวจสุขาภิบาลยานพาหนะเรือ และการออกเอกสารรับรอง Ship Sanitation Certificate: SSC

นายอนุทินกล่าวต่อไปว่า ภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น การเดินทางระหว่างประเทศทางเรือกำลังเพิ่มขึ้น ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศยอดนิยมที่มีชาวต่างชาติมาเยือนทางเรือ การตรวจสุขาภิบาลเรือและออกเอกสารรับรองสุขาภิบาลจึงมีความสำคัญ ภายใต้มาตรฐานของกฎอนามัยระหว่างประเทศ (IHR 2005) ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้เข้าร่วมการฝึกอบรมเรื่องการตรวจสุขาภิบาลเรือ และการออกใบรับรองสุขาภิบาลเรือ ที่จะจัดในระหว่างวันที่ 9-13 พฤษภาคมนี้ โรงแรมมิราเคิล สุวรรณภูมิ แอร์พอร์ต โดยความร่วมมือระหว่าง กรมควบคุมโรค สธ. องค์การอนามัยโลก และศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข (TUC) มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่ปฏิบัติงาน ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศทางน้ำ ให้มีศักยภาพประเมินความเสี่ยงทางด้านสาธารณสุขและสุขาภิบาลในเรือ ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image