นักเรียนทุนอานันทมหิดล น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ

หมายเหตุ – นายวิรไท สันติประภพ, นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล, ผศ.ทพญ.ดุลยพร ตราชูธรรม, ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา และ พ.อ.นพ.สุรจิต สุนทรธรรม อดีตนักเรียนทุน มูลนิธิอานันทมหิดลŽ น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

วิรไท สันติประภพ
 ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

วิรไท สันติประภพ
วิรไท สันติประภพ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณให้กับคนไทยมาโดยต่อเนื่องตลอดรัชกาลของพระองค์ ซึ่งพระมหากรุณาธิคุณที่ได้พระราชทานมาสะท้อนให้เห็นถึงสายพระเนตรที่ยาวไกลมากในหลายเรื่อง ผมเป็นคนหนึ่งที่โชคดีที่ได้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดลไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทและปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา จบปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์

ในวันนี้ทุนอานันทมหิดลมีอายุครบ 60 ปี ที่ทำให้นักเรียนไทยได้มีโอกาสไปเรียนต่อต่างประเทศในสาขาวิชาต่างๆ เพื่อให้กลับมาทำประโยชน์ให้ประเทศ และทุนนี้เป็นเพียงแค่หนึ่งในพระราชกรณียกิจเท่านั้น

Advertisement

ตอนต้นรัชกาลได้มีพระราชดำริว่า ประเทศจะพัฒนาได้ต้องเริ่มจากการพัฒนาคนก่อน จึงทรงได้ตั้งทุนอานันทมหิดลขึ้นเมื่อกว่า 60 ปีที่แล้ว และทุนนี้ต้องเรียกว่ามีสายพระเนตรที่ยาวไกลมาก เพราะเป็นทุนที่ไม่มีข้อผูกมัดเลย ทรงมีพระทัยที่กว้างมาก แม้ว่าจะมีหลายครั้งที่มีข้อเสนอว่าให้มีข้อผูกมัด เช่น ต้องกลับมารับใช้เป็นสองเท่าของทุน แต่พระองค์ทรงยืนยันมาโดยต่อเนื่องว่า ทุนนี้เป็นทุนให้เปล่าเพื่อสร้างนักวิชาการให้กับประเทศ ไม่ว่าจะกลับมาทำประโยชน์ในส่วนไหนก็สามารถสร้างประโยชน์ให้ประเทศได้

นักเรียนทุนอานันทมหิดลที่เรียนจบและกลับมา มักเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยและนักวิชาการ ความผูกพันที่มีต่อพระมหากรุณาธิคุณเป็นความผูกพันที่ไม่มีระยะเวลาจำกัด เป็นความผูกพันที่จะทำประโยชน์ต่อเนื่องให้กับสังคมไทย สมดังพระราชปณิธานที่ได้พระราชทานทุน หลังจากนี้จะสานต่อพระราชปณิธานโดยทำหน้าที่ให้ดีที่สุดและมีส่วนสำคัญในการสร้างคนรุ่นใหม่ๆ ที่เป็นนักวิชาการให้กับประเทศต่อไป

ประสาร ไตรรัตน์วรกุล
คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) อดีตผู้ว่าการ ธปท.

Advertisement
ประสาร ไตรรัตน์วรกุล
ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

ได้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดล แผนกวิศวกรรมศาสตร์ เมื่อปี 2519 และสำเร็จการศึกษาขั้นปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ในสาขาวิทยาการการจัดการ เมื่อปี 2524 แม้จะรู้ว่าเป็นทุนการศึกษาที่ไม่มีข้อผูกมัดในการชดใช้ทุน แต่ก็สำนึกอยู่เสมอในพระมหากรุณาธิคุณ และความรับผิดชอบที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยให้สามารถคิดตัดสินใจได้เอง โดยตั้งใจนําความรู้ที่เล่าเรียนกลับมาช่วยพัฒนาประเทศไทยและส่วนรวม

ที่ผ่านมาเคยทํางานเป็นเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และผู้ว่าการ ธปท. นอกเหนือจากงานด้านการศึกษาและกรรมการในภาครัฐและองค์การสาธารณกุศลอีกหลายแห่ง ตลอดชีวิตการทํางานนอกจากการใช้วิชาความรู้ที่เล่าเรียนมาแล้วยังให้ความสำคัญกับการมีคุณธรรมประกอบในทุกโอกาส

ปัจจุบันแม้จะเกษียณอายุราชการแล้ว แต่มีความตั้งใจทำงานเพื่อสังคมและประเทศชาติต่อไป นอกจากงานเพื่อส่วนรวมด้านอื่นๆ แล้ว ยังเป็นกรรมการของมูลนิธิมั่นพัฒนา ซึ่งทํางานสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแนวความคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและศาสตร์พระราชา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็นประธานคณะทำงานโครงการครูพอเพียงของมูลนิธิยุวสถิรคุณอีกด้วย

ผศ.ทพญ.ดุลยพร ตราชูธรรม
อาจารย์สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล

ผศ.ทพญ.ดุลยพร ตราชูธรรม
ผศ.ทพญ.ดุลยพร ตราชูธรรม

ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานทุนแผนกทันตแพทยศาสตร์ไปศึกษาด้านชีววิทยาทางการแพทย์ ที่มหาวิทยาลัยเท็กซัส เมืองฮุสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา

จากการพระราชทานโอกาสครั้งนั้น ได้ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปมาก ทั้งความคิด การดำเนินชีวิต และการคิดถึงส่วนรวมเป็นสำคัญ โดยจุดเริ่มมาจากความต้องการศึกษาด้านทันตกรรมเฉพาะทาง ในเรื่องการรักษาโรคทางช่องปาก โดยเฉพาะโรคมะเร็งช่องปาก เป็นการเดินตามรอยพระราชดำรัสของพระองค์ เรื่องทันตกรรมไม่ใช่การดูแลแค่ฟัน แต่ต้องดูแลสุขภาพช่องปากโดยรวม เพราะมีผลต่อร่างกาย

ได้ไปศึกษาปริญญาเอกจากทุนดังกล่าวในช่วงปี 2545 เป็นเวลา 6 ปี ทำให้ได้เรียนรู้วิทยาการอื่นๆ ด้วย อย่างหลักปรัชญาการทำงานกับสาขาวิชาอื่นๆ การแสวงหาความรู้ ที่สำคัญคือ การคิดพัฒนาตลอดเวลา และเมื่อกลับมาประเทศไทยได้นำความรู้ดังกล่าวมาปรับใช้ โดยการต่อยอดงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์สู่การใช้จริง โดยเฉพาะการได้วิจัยพัฒนาอาหารเพื่อผู้ป่วยมะเร็ง คือ เจลลี่โภชนาการ

ทีมวิจัยได้ทูลเกล้าฯ ถวายนวัตกรรมดังกล่าวในวันที่ 4 กรกฎาคม 2554 ขณะนั้นแม้จะยังทรงพระประชวร แต่เมื่ออาการดีขึ้นก็ทรงโปรดให้คณะนักวิจัยเข้าเฝ้าฯ ทันที ทรงมีพระราชดำรัสให้พัฒนารสชาติอื่นๆ เพื่อให้ผู้ป่วยได้ลิ้มรสชาติอื่นๆ ไม่รู้สึกเบื่อ แสดงถึงน้ำพระทัยของพระองค์ที่รักประชาชนของพระองค์ ตอนนั้นดิฉันดีใจมาก และคิดเสมอว่า การได้รับทุนไปศึกษาต่อ ไม่ได้ส่งผลดีต่อนักเรียนทุนเท่านั้น แต่ส่งผลดีต่อประชาชนที่จะได้รับประโยชน์จากงานวิจัยพัฒนาด้วย

อยากฝากถึงน้องๆ นักเรียนทุนรุ่นใหม่ ให้ตระหนักถึงความสำคัญของทุน และโอกาสที่น้อยคนนักจะได้รับ เนื่องจากทุนนี้มีค่าใช้จ่ายสูงมาก และไม่มีข้อผูกมัดใช้ทุน ดังนั้น เมื่อได้รับทุนก็ควรทำให้ดีที่สุด เมื่อเรียนจบควรนำความรู้ที่ได้รับมาพัฒนาประเทศด้วย อย่างดิฉันเดิมทีตอนเรียนที่สหรัฐ ขณะนั้นได้รับรางวัลจากการศึกษาวิจัยมากมาย แต่ตระหนักและคิดเสมอว่า ไม่มีอะไรภูมิใจเท่ากับได้กลับมาพัฒนาประเทศไทยเพื่อคนไทยแล้ว

โดยเฉพาะการเดินตามรอยพระยุคลบาท เป็นสิ่งที่อยู่ในใจของเราตลอด

ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา
นายกแพทยสภา

ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา
ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา

ได้รับทุนไปศึกษาต่อเมื่อปี 2508 ด้านโรคติดเชื้อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากขณะนั้นประเทศไทยมีปัญหาโรคติดเชื้อในเด็ก ยังไม่มีแนวทางการป้องกัน ขณะเดียวกันแพทย์ด้านโรคติดเชื้อก็น้อยมาก จึงตั้งใจไปศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับการตรวจวินิจฉัยและการรักษา โดยสมัยนั้นก่อนจะได้รับเลือกเป็นนักเรียนทุนอานันทมหิดล จะต้องทำงานในประเทศไทยก่อนอย่างน้อย 2 ปี เพื่อให้ทราบปัญหาของประเทศว่ามีอะไร ขาดแคลนความรู้หรือบุคลากรด้านใด เพื่อที่จะได้เลือกเรียนในสาขาที่เกี่ยวข้อง เมื่อจบกลับมาจะได้นำความรู้มาพัฒนาประเทศไทย

ผมยอมรับเลยว่า สมัยนั้นไปเรียนที่ต่างประเทศใช้เวลา 6 ปี โดยช่วงนั้นตัดสินใจว่าจะไม่กลับประเทศไทย ถึงขั้นไปสอบเอาใบประกอบวิชาชีพแพทย์ที่สหรัฐแล้ว เพราะทุนนี้ไม่มีสัญญาผูกมัด แต่เมื่อนึกถึงคำพูดหนึ่งก่อนจะเดินทางไปศึกษา ซึ่งผมถาม ม.ล.เกษตร สนิทวงศ์ ขณะนั้นท่านเป็นเลขาธิการมูลนิธิอานันทมหิดล ว่า ถ้าเรียนจบแล้วไม่กลับประเทศไทยได้หรือไม่ ซึ่งท่านตอบว่า ในหลวงรับสั่งว่า ถ้ามีความรู้ และอายุมากขนาดนี้ แต่ไม่รู้จักบุญคุณก็ให้ปล่อยพวกเขาไป…Ž เมื่อคิดได้ ผมจึงเกิดสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ว่าพระองค์ท่านทรงพระเมตตานักเรียนทุนอย่างมาก และตัดสินใจกลับมาประเทศไทย เข้าทำงานที่โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยได้นำเอาความรู้ที่ได้จากการศึกษามาพัฒนาปรับปรุงองค์ความรู้ แนวทางการรักษา และการป้องกันโรคติดเชื้อ รวมถึงก่อตั้งสมาคมโรคติดเชื้อ และเชื่อมโยงองค์ความรู้กับสมาคมโรคติดเชื้อทั่วโลก กระทั่งปัจจุบันก็เข้ารับตำแหน่งเป็นนายกแพทยสภา ซึ่งตำแหน่งนี้ไม่ได้รับเงินเดือนเลย

พระองค์ท่านต้องการพัฒนาคนไทย โดยการให้ได้ศึกษาความรู้ในด้านที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ผมจำได้ดีว่าทุกครั้งที่มีโอกาสได้เข้าเฝ้าฯ เนื่องในวันสำคัญ เช่น วันเฉลิมพระชนมพรรษา พระองค์จะให้กลุ่มนักเรียนทุน

อานันทมหิดลเข้าพบเป็นกลุ่มสุดท้าย เนื่องจากอยากใช้เวลากับนักเรียนทุนนานๆ สิ่งที่พระองค์ตรัสทุกครั้ง คือแนวทางการพัฒนาบ้านเมืองในด้านต่างๆ เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น

พระองค์ท่านทรงเป็นแรงผลักดันสำคัญ ทำให้ผมสำนึกว่า ควรทำในสิ่งที่ถูก แต่ยอมรับว่าหลังจากผม ก็มีหลายคนประมาณ 10 คน ไม่ยอมนำความรู้กลับมาพัฒนาประเทศ แต่ผมก็คิดว่าพวกเขาก็คงละอายบ้างไม่มากก็น้อย จึงอยากฝากนักเรียนรุ่นใหม่ ต้องรู้จักบุญคุณ มีจิตสำนึก เพราะแค่พื้นฐานเหล่านี้ยังไม่มี ก็ไม่ไหวแล้ว

พ.อ.นพ.สุรจิต สุนทรธรรม
ประธานบริหารวิทยาลัยแพทย์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย

พ.อ.นพ.สุรจิต สุนทรธรรม
พ.อ.นพ.สุรจิต สุนทรธรรม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ก่อตั้ง ทุนอานันทมหิดลŽ เพื่อสนับสนุนบัณฑิตไทยที่มีความรู้ความสามารถทางวิชาการอย่างยอดเยี่ยม มีคุณธรรมสูง ได้มีโอกาสไปศึกษาวิชาการจนถึงขั้นสูงสุดในต่างประเทศ เพื่อนำความรู้กลับมาทำคุณประโยชน์พัฒนาประเทศไทยให้ก้าวหน้าต่อไป

โดยทรงเริ่มพระราชทานทุนในสาขาแพทยศาสตร์เป็นสาขาแรก และต่อมาได้มีพระบรมราชวินิจฉัยให้เปลี่ยนสถานภาพจากทุนเป็น มูลนิธิอานันทมหิดลŽ และได้ขยายขอบเขตการพระราชทานทุนเพิ่มขึ้นจนปัจจุบันมี 8 สาขา การพระราชทานทุนดังกล่าว ไม่มีสัญญาผูกมัดว่าจะต้องชดใช้ทุน หรือต้องกลับมาประเทศไทย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณในการพัฒนาคนเพื่อทำประโยชน์ในวงกว้าง

ทั้งนี้ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานทุนสาขาแพทยศาสตร์ พ.ศ.2535 เพื่อไปศึกษาต่อในวิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉินและเวชพิษวิทยา ณ วิทยาลัยแพทยศาสตร์แห่งเพนซิลเวเนีย (Medical College of Pennsylvania) มลรัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา

เมื่อ 20 กว่าปีก่อน ขณะนั้นประเทศไทยกำลังพัฒนาสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ โรคติดต่อบางโรคได้ลดความชุกและความรุนแรงลง แต่โรคที่เกิดจากการพัฒนาหรือโรคที่เกิดจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมได้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โดยอุบัติเหตุและการเป็นพิษเป็นสาเหตุการตายลำดับที่ 3 ของประชาชนไทย แต่ช่วงนั้นในประเทศไทยแทบไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉินและเวชพิษวิทยาเลย จึงได้เสนอโครงการไปยัง มูลนิธิอานันทมหิดลŽ และผ่านกรรมการแผนกแพทยศาสตร์พิจารณาคัดเลือกตามขั้นตอน และเมื่อได้รับพระราชทานทุนทำให้มีโอกาสได้ไปศึกษาต่อ ซึ่งได้รับความรู้มากมาย โดยเฉพาะการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินและระบบการควบคุมพิษ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยมีในประเทศไทยอย่างเป็นระบบมาก่อน เมื่อกลับมาจึงได้นำความรู้มาพัฒนาเวชกรรมฉุกเฉินและการแพทย์ฉุกเฉินให้เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบในประเทศไทย

เมื่อกลับมาประเทศไทยและได้เข้าเฝ้าฯ กราบบังคมทูลรายงานผลการศึกษาแล้ว ทรงรับสั่งถามว่า จะนำความรู้ดังกล่าวมาพัฒนาในบ้านเราอย่างไรต่อไปŽ และด้วยพระวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลจึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนวิจัยทางการแพทย์จากมูลนิธิอานันทมหิดลให้ผมไปศึกษาวิจัยหาแนวทางการพัฒนาระบบเวชบริการฉุกเฉินในประเทศไทยต่อเนื่องอีก อันเป็นการสนับสนุนให้พัฒนาตามหลักทรงงาน 3 คำสั้นๆ ได้แก่ หลักคิด หลักวิชา และหลักปฏิบัติŽ ว่า ก่อนจะริเริ่มโครงการใดๆ ต้องยึด หลักคิดŽ คือทำให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม หากกระทบกับคนส่วนน้อยต้องชี้แจงให้คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าการที่ได้ประโยชน์นั้น ต่อไปคือ หลักวิชาŽ ต้องศึกษาอย่างถ่องแท้ และสุดท้าย หลักปฏิบัติŽ คือต้องประหยัด เรียบง่าย ประโยชน์สูงสุด รวมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แผนกแพทยศาสตร์ มูลนิธิอานันทมหิดล จัดประชุมปรึกษาเรื่องดังกล่าวเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2539 อีกด้วย

ปัญหาสำคัญหนึ่งที่พบจากการวิจัย คือช่วงปี 2540 คนไทยกว่าร้อยละ 80 เสียชีวิตนอกโรงพยาบาล โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทห่างไกล อันเนื่องมาจากปัญหาอุปสรรคทั้งด้านเวชกรรมฉุกเฉินและการแพทย์ฉุกเฉิน จึงน้อมนำหลักปฏิบัติมาใช้ด้วยการผลักดันให้มีแพทย์เฉพาะทางเวชกรรมฉุกเฉิน โดยแพทยสภาได้อนุมัติให้เริ่มมีการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉินตั้งแต่ปี 2547 และด้วยเห็นว่าหากยังคงทำงานที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าอยู่ก็จะไม่สามารถพัฒนาเรื่องดังกล่าวได้สำเร็จ จึงโอนมาอยู่ สปสช.แล้วเริ่มด้วยการพัฒนาและส่งเสริมให้มีหน่วยกู้ชีพประจำตำบลเพื่อนำผู้ป่วยฉุกเฉินส่งโรงพยาบาลได้ทันท่วงที แล้วผลักดันขยายผลต่อมาจนกระทั่งมีการตรา พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551 และเกิดมีสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) รวมทั้งก่อตั้งวิทยาลัยแพทย์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทยขึ้น

ทั้งนี้ ก็ด้วยพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้ รวมทั้งการน้อมนำหลักทรงงานมาใช้พัฒนาเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image