กทม.กำชับหน่วยงานในสังกัดเตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนัก 15-17 พ.ค.นี้

กทม.กำชับหน่วยงานในสังกัดเตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนัก 15-17 พ.ค.นี้

วันนี้ (15 พฤษภาคม) นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมรับมือฝนตกหนัก ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเตือนที่อาจจะส่งผลกระทบต่อกรุงเทพมหานคร ในระหว่างวันที่ 15-17 พฤษภาคมนี้ โดยมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้ สำนักการระบายน้ำ ติดตามการพยากรณ์ และจัดเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อการติดตามและตรวจกลุ่มฝนจากเรดาร์ตรวจอากาศของ กทม. ระบบติดตามและเฝ้าระวัง สถานการณ์ฝน และสถานการณ์น้ำ โดยใช้ระบบโทรมาตรในการตรวจสอบสถานีเครือข่ายต่างๆ ประกอบด้วย ระบบการตรวจวัดระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและในคลอง 255 แห่ง ระบบตรวจวัดปริมาณฝน 130 แห่ง ระบบตรวจวัดน้ำท่วมถนน 100 แห่ง ระบบตรวจวัดน้ำท่วมอุโมงค์ทางลอด 8 แห่ง ทำการลดระดับน้ำตามคูคลองต่างๆ ให้อยู่ในระดับต่ำ สำรวจและติดตั้งเครื่องสูบน้ำชั่วคราวในพื้นที่จุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม โดยเฉพาะบริเวณถนนสายหลัก จัดเก็บขยะตะแกรงท่อระบายน้ำ ขยะหน้าตะแกรงสถานีสูบน้ำ และบ่อสูบน้ำในขณะที่มีฝนตก เพื่อเร่งระบายน้ำให้ไหลเข้าระบบได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ตรวจสอบประสิทธิภาพของอุโมงค์ระบายน้ำ 4 แห่ง สถานีสูบน้ำ 190 แห่ง ประตูระบายน้ำ 244 แห่ง บ่อสูบน้ำ 316 แห่ง จัดเตรียมสำรองเครื่องสูบน้ำกรณีเหตุฉุกเฉิน จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำชนิดเคลื่อนที่ (โมบายยูนิต) พร้อมรถเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง

“พร้อมทั้งประสานการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กรณีฉุกเฉินหรือไฟฟ้าดับ ประสานหน่วยงานโครงการก่อสร้างต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ยังไม่แล้วเสร็จ ให้เร่งการแก้ไขปัญหาเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบแก่ประชาชนผู้ใช้เส้นทางในการสัญจร เช่น โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำแนวถนนวิภาวดีรังสิต โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ รวมถึงการแจ้งเตือนให้ประชาชนที่ติดตามสถานการณ์ได้รับทราบข้อมูลกลุ่มฝน ปริมาณฝนตก จุดที่มีปัญหาน้ำท่วมบนถนนสายหลักผ่านทาง http://dds.bangkok.go.th/, www.prbangkok.com, Facebook:@BKK_BEST, สำนักงานประชาสัมพันธ์ Twitter:@BKK_BEST, สำนักงานประชาสัมพันธ์ แจ้งเหตุน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ โทร.1555 หรือศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำ โทร 0-2248-5115 ตลอด 24 ชั่วโมง” นายขจิตกล่าว

ปลัด กทม.กล่าวว่า ล่าสุด มอบให้สำนักสิ่งแวดล้อม สำรวจตรวจสอบต้นไม้ใหญ่ในความรับผิดชอบเพิ่มเติม หากมีกิ่งแห้ง กิ่งฉีก ต้นเอนเอียง ให้รีบตัดแต่ง ค้ำยัน พร้อมเตรียมเครื่องมือตัดแต่งต้นไม้ ยานพาหนะ และเจ้าหน้าที่หน่วยเร่งด่วนให้พร้อม หากเกิดการหักหรือโค่นล้ม จากพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง สามารถออกปฏิบัติงานแก้ไขตัดเก็บขนกิ่งไม้ไม่ให้กีดขวางการจราจรในทันที เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนในกรณีต้นไม้ถูกลมพัดหักโค่น หากพบมีต้นไม้ใหญ่เสี่ยงหักเพิ่มเติมจากที่ได้ตัดแต่งไปแล้ว ตามแผนการตัดแต่งประจำเดือน ให้ตัดแต่งเพิ่มเติมจากแผนฯ ตามหลักรุกขกรรมทันที ส่วนการเตรียมความพร้อมกรณีมีสถานการณ์ต้นไม้หักโค่นจากฝนตกหนักลมแรงในช่วงดังกล่าว ได้จัดหน่วยเร่งด่วน ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ เครื่องมือและยานพาหนะ พร้อมแก้ไขกรณีต้นไม้หักโค่นในพื้นที่สวนสาธารณะ สวนป่า และถนนสายสำคัญในความรับผิดชอบของสำนักสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งขอความร่วมมือประชาชนร่วมตรวจสอบสภาพต้นไม้ กิ่งไม้ หากพบต้นไม้อยู่ในสภาพเสี่ยงที่จะหัก โค่นล้ม หรือพบเห็นต้นไม้โค่นล้ม สามารถแจ้งได้ที่สำนักงานเขตในพื้นที่ หรือโทร.1555 เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตัดแต่งต้นไม้ กิ่งไม้ รวมถึงเก็บกวาดกิ่งไม้ หรือต้นไม้ที่หักโค่นกีดขวางในที่สาธารณะ

นายขจิตกล่าวว่า สำนักการโยธา ประสานความร่วมมือในการตรวจสอบและแนะนำให้เจ้าของอาคารตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความปลอดภัยของป้ายโฆษณาและโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ รวมทั้งตรวจสอบความปลอดภัยของอาคารและสิ่งก่อสร้างต่างๆ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ฝนตกหนักถึงหนักมากและลมกระโชกแรง กรณีป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ ได้มีกฎหมายควบคุมให้ต้องดำเนินการควบคุมป้ายให้เกิดความมั่นคงแข็งแรง และความปลอดภัยในการใช้ป้าย คือ กฎกระทรวงว่าด้วยการควบคุมป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ.2558 ซึ่งได้กำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน และความคงทน ให้เป็นไปตามมาตรฐานของกรมโยธาธิการและผังเมือง หรือมาตรฐานที่คณะกรรมการควบคุมอาคารรับรอง ทั้งนี้ ป้ายที่ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จเกินหนึ่งปี เจ้าของป้ายต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบ ตามมาตรา 32 ทวิ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ประกอบกฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติเฉพาะของผู้ตรวจสอบ หลักเกณฑ์การขอขึ้นทะเบียนและการเพิกถอนการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบและหลักเกณฑ์การตรวจสอบอาคาร พ.ศ.2548 ประกอบกับเพื่อเป็นการเตรียมการและป้องกันอันตรายต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากป้ายโฆษณาล้มในช่วงพายุฝนตกหนักถึงหนักมาก มีฝนฟ้าคะนองเพิ่มขึ้นและลมกระโชกแรง

Advertisement

“สำนักการโยธาร่วมกับสำนักงานเขต กำชับเจ้าของป้ายขนาดใหญ่ดำเนินการ ดังนี้ 1.แจ้งเจ้าของป้ายตรวจสอบการใช้งานและความมั่นคงแข็งแรงของป้าย 2.ป้ายถูกกฎหมายแต่มีสภาพเก่า ชำรุด อันอาจก่อให้เกิดภยันตราย ต้องมีคำสั่งให้เจ้าของป้ายดำเนินการแก้ไขหรือให้รื้อถอน 3.ดำเนินคดีกับเจ้าของป้ายที่ฝ่าฝืนกฎหมายอย่างเคร่งครัด และเร่งรัดการรื้อถอน 4.ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบในขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ให้อยู่ห่างจากป้ายโฆษณาที่อาจล้มหรือหักโค่นได้ 5.จัดเตรียมเครื่องมือกลไว้เพื่อป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่เกิดจากป้ายสำหรับโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่นั้น ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารได้มีการออกกฎกระทรวงกำหนด เพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงแข็งแรง ความปลอดภัย การป้องกันอัคคีภัย การสาธารณสุข การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การผังเมือง การสถาปัตยกรรม และการอำนวยความสะดวกแก่การจราจร รวมทั้งได้มีการออกกฎกระทรวงกำหนดอาคารที่ต้องทำประกันภัยความรับผิดตามกฎหมาย พ.ศ.2564 โดยต้องจัดให้มีการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอก ซึ่งมีความคุ้มครองไม่ต่ำกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้” นายขจิตกล่าว

ทั้งนี้ ปลัด กทม.กล่าวว่า สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัย ยานพาหนะ เครื่องมือเครื่องใช้และอุปกรณ์ สามารถให้การช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยจากพายุฝนตกหนักได้ทันที รวมทั้งสำรวจตรวจสอบต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่เพื่อป้องกันการโค่นล้มเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในช่วงที่มีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง ดำเนินการตัดแต่งกิ่งที่สุ่มเสี่ยงต่อการหัก ฉีกขาด การสางโปร่ง การลดทอนความสูง และการค้ำยันต้นไม้ให้มั่นคงแข็งแรง ส่วนกรณีต้นไม้ที่ปลูกในพื้นที่เอกชนให้ประสานเจ้าของพื้นที่ตรวจสอบและดำเนินการให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัย ตรวจตราอาคารสถานที่ ป้ายโฆษณาหรือสิ่งก่อสร้างที่มีสภาพไม่มั่นคงแข็งแรง เพื่อตรวจสอบซ่อมแซมให้มั่นคงแข็งแรงตามอำนาจหน้าที่ หากมีเหตุพายุฝนตกหนักเกิดขึ้นในเขตพื้นที่ที่ส่งผลกระทบต่อสาธารณชนและก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต หรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชน หรือของรัฐ อันเป็นสาธารณภัยตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ให้ผู้อำนวยการเขตดำเนินการสำรวจความเสียหาย และจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ประสบภัยและทรัพย์สินที่เสียหาย พร้อมทั้งออกหนังสือรับรองให้ผู้ประสบภัยไว้เป็นหลักฐานในการขอรับการสงเคราะห์และฟื้นฟูเยียวยาจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ ประชาชนที่พบเห็นเหตุเพลิงไหม้หรือเหตุสาธารณภัยอื่นๆ สามารถแจ้งสายด่วน โทร.199 (ศูนย์วิทยุพระราม) ตลอด 24 ชั่วโมง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image