กทม.เช็กยอดเด็กขอบูสต์วัคซีนโควิดเข็ม 3 แนะสูงวัยฉีดลดอาการรุนแรง-เสียชีวิต

กทม.เช็กยอดเด็กขอบูสต์วัคซีนโควิดเข็ม 3 แนะสูงวัยฉีดลดอาการรุนแรง-เสียชีวิต

วันนี้ (17 พฤษภาคม 2565) นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 17/2565 โดยมี คณะผู้บริหาร กทม. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมหารือที่ศาลาว่าการ กทม. เสาชิงช้า และร่วมประชุมผ่านระบบทางไกล

นายขจิต กล่าวว่า ในที่ประชุม สำนักการศึกษา กทม.ได้รายงานภาพรวมวันแรกของการเปิดเรียนภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 โรงเรียนสังกัด กทม.ในวันนี้ พบว่าเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และพบนักเรียนมีผลตรวจ ATK เป็นบวก (Positive) จำนวนน้อยมาก ซึ่งอยู่ระหว่างการรวบรวมจำนวน และจะได้สรุปเพื่อเสนอคณะผู้บริหาร กทม.ต่อไป

“นอกจากนี้ สำนักอนามัย กทม.รายงานภาพรวมผลการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในกลุ่มนักเรียนสังกัด กทม. ระดับชั้น อนุบาล 1 – ประถมศึกษาปีที่ 6 มีจำนวนทั้งหมด 222,213 คน ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 แล้ว 110,394 คน คิดเป็นร้อยละ 49.68 และรับวัคซีนเข็ม 2 แล้ว 34,050 คน คิดเป็นร้อยละ 30.84 และนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 6 มีจำนวนทั้งหมด 33,482 คน ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 แล้ว 33,048 คน คิดเป็นร้อยละ 92.24 และรับวัคซีนเข็ม 2 แล้ว 28,730 คน คิดเป็นร้อยละ 86.93 ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการสำรวจความต้องการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น (เข็มที่ 3)” นายขจิต กล่าว

อย่างไรก็ดี ปลัด กทม. กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นว่า การที่พบนักเรียนมีผลตรวจ ATK เป็นบวกจำนวนน้อย แสดงให้เห็นว่า ครอบครัวสามารถควบคุมและปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคได้เป็นอย่างดี จากนี้ไปขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และทีมแพทย์ พยาบาลลงพื้นที่เร่งประชาสัมพันธ์รณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ผู้ปกครอง เกี่ยวกับประโยชน์จากการได้รับวัคซีน เพื่อให้ผู้ปกครองนำบุตรหลานมารับวัคซีนโควิด-19 ให้มากขึ้น

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักการแพทย์ กทม.ได้รายงานภาพรวมการให้บริการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 โดยภายหลังโรงพยาบาล (รพ.) สังกัด กทม. 9 แห่ง เปิดให้บริการคลินิกลองโควิด (Long Covid) ผ่านการนัดหมายทางช่องทาง BFC ของโรงพยาบาลทั้ง 9 แห่ง และแอพพลิเคชัน “หมอ กทม.” เพื่อติดตามอาการผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งยังมีอาการผิดปกติภายหลังครบระยะเวลารักษาตัว โดยตั้งแต่วันที่ 9 – 11 พฤษภาคม 2565 มีผู้รับบริการทั้งหมด 53 ราย ตั้งแต่อายุ 20 – 80 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่อายุ 40 – 49 ปี และเป็นผู้ที่มีอาการไอต่อเนื่อง รวมถึงมีอาการอื่น ๆ อาทิ เหนื่อยหอบ เจ็บหน้าอก ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร ท้องเสีย เป็นต้น

สำหรับผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป หญิงตั้งครรภ์ และผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค) ถึงร้อยละ 91 โดยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – วันที่ 16 พฤษภาคม 2565 พบกลุ่มผู้สูงอายุเสียชีวิตในสัดส่วนที่มากกว่า ดังนั้น ที่ประชุมจึงมอบหมายให้ทุกหน่วยงานเร่งประชาสัมพันธ์รณรงค์เชิญชวนผู้สูงอายุเข้ารับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ครบตามเกณฑ์และรับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อป้องกันการติดเชื้อและลดอาการรุนแรงของโรคซึ่งอาจนำไปสู่สาเหตุของการเสียชีวิต โดยประชาชนผู้สนใจสามารถเข้ารับวัคซีนผ่านระบบจองคิวแอพพ์ฯ QueQ หรือวอล์ก อิน (Walk in) ได้ที่ศูนย์ฉีดวัคซีนอาคารกีฬาเวสน์ 1 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น. (หยุดให้บริการในวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) วันที่ 22 พฤษภาคม 2565) และ รพ.สังกัด กทม.ทั้ง 11 แห่ง ในวันและเวลาราชการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image