ด่านระนองคึกคัก แรงงานเมียนมา 222 คน เข้าไทย ทำงานตามเอ็มโอยู

ด่านระนองคึกคัก แรงงานเมียนมา 222 คน เข้าไทย ทำงานตามเอ็มโอยู

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา แรงงานสัญชาติเมียนมา จำนวน 222 คน เข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศตามเอ็มโอยู (MOU) โดยเดินทางผ่านทางน้ำ ที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) จ.ระนอง ทั้งหมดมีการฉีดวัคซีน ครบ 2 เข็ม จากประเทศต้นทาง และมีการซื้อกรมธรรม์ที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพและรักษาพยาบาล ซึ่งคุ้มครองการรักษาโรคโควิด-19

“โดยเมื่อเดินทางเข้ามาถึงด่าน ตม.จ.ระนอง ได้ตรวจลงตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นระยะเวลา 2 ปี ตรวจหาเชื้อโควิด–19 โดยใช้ชุดตรวจ ATK ก่อนจะเดินทางไปตรวจสุขภาพ 6 โรค ณ โรงพยาบาล (รพ.) วิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งหากไม่พบเป็นโรคต้องห้าม 6 โรค และไม่พบเชื้อโควิด-19 แรงงานข้ามชาติจะเข้ารับการอบรม โดยศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้าง รับใบอนุญาตทำงานจากสำนักงานจัดหางานจังหวัด และเข้าทำงานในสถานประกอบการ ซึ่งอยู่ใน จ.นนทบุรี 100 คน พื้นที่กรุงเทพมหานคร  92 คน และ จ.ชุมพร 30 ค” นายสุชาติ กล่าว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานหลังศูนย์บริหารสถานการณ์โรคโควิด-19 (ศบค.) มีมติผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศ (เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม2565) หากฉีดวัคซีนครบโดส หรือหากฉีดวัคซีนไม่ครบแต่มีผลตรวจ RT – PCR ใน 72 ชั่วโมง สามารถเข้าประเทศไทยโดยไม่ต้องกักตัว แต่จะต้องตรวจ ATK หากผลเป็นลบให้ดำเนินการต่อไปตามขั้นตอนที่กำหนด หรือหากพบผลเป็นบวก กรมธรรม์ประกันภัยจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจหรือรักษาพยาบาลซึ่งในส่วนที่สิทธิดังกล่าวยังไม่ครอบคลุม นายจ้างต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ส่วนผู้ที่ฉีดวัคซีนไม่ครบ และไม่มีผลตรวจ RT – PCR ให้เข้าระบบกักตัวที่ลดเหลือ 5 วัน

Advertisement

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ มีความห่วงใยนายจ้าง สถานประกอบการที่ใช้แรงงานข้ามชาติในการขับเคลื่อนกิจการ และพบความไม่ราบรื่นจากการนำเข้าแรงงานข้ามชาติในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 โดยกำชับกระทรวงแรงงานปรับมาตรการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานให้นายจ้าง สถานประกอบการ ลดปัจจัยที่จะทำให้เกิดการลักลอบนำเข้าแรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งกระทรวงแรงงานได้วางแนวทางการนำแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยคำนึงถึงความปลอดภัยด้านสุขอนามัยของประชาชนในประเทศ และสอดคล้องตามมาตรการที่รัฐบาลกำหนด” นายสุชาติ กล่าว

ด้าน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวว่า สำหรับนายจ้าง สถานประกอบการ ที่ต้องการนำแรงงานข้ามชาติมาทำงานกับนายจ้างในประเทศตามเอ็มโอยู ให้ปฏิบัติตามแนวทางการปรับลดมาตรการการนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานตามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน ดังนี้

1.มาตรการก่อนเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร 1.ให้แรงงานแสดงเอกสารหลักฐานที่ยืนยันหรือแสดงว่ามีนายจ้างหรือผู้รับอนุญาตให้นำแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในราชอาณาจักร ซึ่งได้รับการรับรองโดยกระทรวงแรงงาน เป็นผู้รับแรงงานเข้ามาทำงานในราชอาณาจักร (Name List) 2.หลักฐานการได้รับวัคซีนโควิด – 19 3.กรมธรรม์ที่คุ้มครองการรักษาโรคโควิด -19 ครอบคลุมความคุ้มครอง ในวงเงินไม่น้อยกว่า 4,000 เหรียญสหรัฐ 4.กรณีรับวัคซีนครบโดสนายจ้างแจ้ง วัน เวลาเดินทางที่ศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้างล่วงหน้า และกรณีรับวัคซีนไม่ครบโดส และไม่มีผลตรวจ RT – PCR ใน 72 ชั่วโมง แจ้งกำหนดวันเดินทางเข้ามาในประเทศ หลักฐานการยืนยันว่ามีสถานที่กักตัว (อย่างน้อย 5 วัน)

Advertisement

2.มาตรการเมื่อเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร แรงงานข้ามชาติสามารถเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรได้ 3 ช่องทาง ประกอบด้วย ทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ โดยหากรับวัคซีนครบโดส หรือฉีดวัคซีนไม่ครบแต่มีผลตรวจ RT – PCR ใน 72 ชั่วโมง ไม่ต้องกักตัว สามารถรับการตรวจลงตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นระยะเวลา 2 ปี ตรวจสุขภาพ 6 โรค ตรวจหาเชื้อโควิด – 19 โดยใช้ชุดตรวจ ATK ซึ่งดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญ หรือบุคลากรทางการแพทย์ (professional use) หรือตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนด หากไม่พบเชื้อโควิด – 19 แรงงาน 3 สัญชาติ จะเข้ารับการอบรม ณ ศูนย์แรกรับฯ รับใบอนุญาตทำงานจากสำนักงานจัดหางานจังหวัด และเข้าทำงานในสถานประกอบการได้เลย กรณีพบเชื้อโควิด – 19 ถ้าไม่มีอาการ หรือกลุ่มสีเขียวให้กักตัวที่สถานกักตัวแบบ OQ หากมีอาการกลุ่มสีเหลือง หรือสีแดง ให้กรมธรรม์ประกันภัยเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจหรือรักษา หากมีส่วนที่สิทธิดังกล่าวยังไม่ครอบคลุมนายจ้างจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย จากนั้นเมื่อตรวจไม่พบเชื้อแล้ว ให้ดำเนินการตามขั้นตอนเดียวกับแรงงานข้ามชาติที่ไม่พบเชื้อ เพื่อรับใบอนุญาตทำงานและเข้าทำงานในสถานประกอบการต่อไป กรณีแรงงานข้ามชาติที่ยังฉีดวัคซีนไม่ครบโดส จะต้องตรวจหาเชื้อโควิด – 19 ด้วยวิธี RT-PCR เมื่อเข้ามาจะต้องกักตัวอย่างน้อย 5 วัน หากครบกำหนดให้ดำเนินการเช่นเดียวกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ได้รับวัคซีนครบโดส

“ทั้งนี้ การตรวจหาเชื้อโรคโควิด – 19 ให้นายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย กรณีที่ตรวจพบเชื้อให้กรมธรรม์ประกันภัยเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจหรือรักษาพยาบาลซึ่งในส่วนที่สิทธิดังกล่าวยังไม่ครอบคลุม นายจ้างต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด” นายไพโรจน์ กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image