กางแผนตั้งรับ สกัด ‘ฝีดาษลิง’

กางแผนตั้งรับ สกัด ‘ฝีดาษลิง’

สถานการณ์การควบคุมการแพร่เชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยเริ่มส่งสัญญาณบวก การติดเชื้อเริ่มลดลง คู่ขนานไปกับมาตรการการผ่อนคลายในการเปิดประเทศเพื่อเดินไปสู่การเป็นโรคประจำถิ่น เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศในทั่วโลกเริ่มฟื้นตัว แต่ประเทศไทยก็ต้องมาจับจ้องโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) กำลังระบาดหนักขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก

เรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการไปยังกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ติดตามพัฒนาการของโรคฝีดาษลิงแล้ว ต่อมามีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข กรมควบคุมโรค กรณีโรคฝีดาษลิง เพื่อเฝ้าติดตามสถานการณ์ แนวโน้ม พร้อมทั้งคาดการณ์สถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อจัดทำแผนทั้งในระยะยาว ระยะกลาง ในการปรับปรุงกลยุทธ์และมาตรการให้เหมาะสม

เมื่อกล่าวโรคอุบัติซ้ำในอดีต ฝีดาษลิงเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อนานมาแล้ว พบการระบาดบ้างในแอฟริกาตอนกลางและตะวันตก ปัจจุบันยังพบผู้ป่วยในทวีปอเมริกา ยุโรป และเอเชีย

ลักษณะการติดเชื้อจาก “สัตว์สู่คน” แล้วมาเป็น “คนสู่คน” ทำให้เกิดการระบาดเป็นวงกว้าง แบ่งเป็น 2 สายพันธุ์หลักคือ 1.West African clade อาการไม่รุนแรง อัตราป่วยตาย ร้อยละ 1 และ 2.Central African clade อาการรุนแรงมากกว่า อัตราป่วยตายร้อยละ 10

Advertisement

สำหรับสัตว์ที่เป็นรังโรคในกลุ่มลิง สัตว์ฟันแทะ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กที่อยู่ในแถบแอฟริกา เช่น หนู โดยการติดต่อจากการสัมผัสใกล้ชิดมากๆ หรือสัมผัสแผล สารคัดหลั่ง เสื้อผ้าที่โดนสารคัดหลั่ง

มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าการผ่อนคลายโรคโควิด-19 ที่มากขึ้นอาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในต่างประเทศเพิ่มใน 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ระยะฟักตัวของโรคอยู่ที่ 5-21 วัน นับจากวันที่สัมผัสโรค ช่วงนี้ที่มีการระบาด เพราะเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมมีการติดเชื้อนอกประเทศ คือยุโรป แพร่ระบาดคนสู่คน จากกรณีคนร่วมงาน Pride Festival ประเทศสเปน คนร่วมงานมีความใกล้ชิดกันมากๆ จึงพบการติดเชื้อเกิดขึ้นในหลายประเทศ

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า องค์การอนามัยโลกแถลงการณ์ยืนยันว่า พบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงแล้วประมาณ 80 ราย และมีผู้ป่วยสงสัยเป็นฝีดาษลิงอยู่ระหว่างการสอบสวนโรค 50 ราย ใน 11 ประเทศ ที่ไม่ใช่แหล่งระบาดของโรคฝีดาษลิง มีแนวโน้มที่จะพบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นในอีกหลายประเทศ ผู้ป่วยรายแรกที่พบอยู่ในอังกฤษที่มีประวัติเดินทางไปยังประเทศไนจีเรียช่วงปลายเดือนเมษายน ด้วยเหตุนี้อังกฤษจึงเริ่มเฝ้าระวังและค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติม และขณะนี้พบผู้ป่วยกว่า 100 รายแล้ว จาก 15 ประเทศ ได้แก่ สหราชอาณาจักรอังกฤษ สเปน โปรตุเกส อิตาลี เบลเยียม ฝรั่งเศส เยอรมนี สวีเดน สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย อิสราเอล เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ และกรีซ

Advertisement

สำหรับประเทศไทย อธิบดีกรมควบคุมโรคยืนยันว่ายังไม่มีรายงานผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง แต่ก็ระมัดระวัง เนื่องจากประเทศไทยไฟเขียวให้มีการเดินทางเข้าประเทศได้มากขึ้น อาจมีความเสี่ยงจากผู้เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดทั้งในยุโรปและทวีปแอฟริกากลาง และแอฟริกาตะวันตก ทั้งในช่องทางการเข้า-ออกระหว่างประเทศได้ หรือผู้ที่เดินทางจากประเทศดังกล่าวไปในจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญต่างๆ ขณะนี้กรมควบคุมโรคได้ยกระดับเพื่อเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางจากประเทศเสี่ยงเหล่านี้แล้ว

นพ.โอภาส ยังกล่าวถึงการคัดกรองโรคฝีดาษลิงด้วยว่า กองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรคได้ทำการคัดกรองโรคฝีดาษลิงสำหรับผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ ผ่านระบบ Thailand Pass ช่วยให้ตรวจจับกลุ่มเสี่ยงได้รวดเร็วขึ้น และป้องกันการแพร่ระบาดในประเทศ

สำหรับการเฝ้าระวังโรคภายในประเทศ คือเน้นการติดตามเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ประเทศในแถบทวีปแอฟริกากลาง เช่น ไนจีเรีย และคองโก และประเทศในยุโรปที่มีการแพร่ระบาดภายในประเทศแล้ว เมื่ออยู่ที่สนามบินในประเทศต้นทางอาจจะยังไม่แสดงอาการ แต่เมื่อมาถึงประเทศไทยอาจมีอาการได้

การคัดกรองจะดูว่ามีไข้ตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียส หรือประวัติมีไข้ร่วมกับมีอาการหนึ่งอาการ ได้แก่ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง และต่อมน้ำเหลืองโต ประกอบกับมีผื่นกระจายตามลำตัว ลักษณะเป็นตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง หรือตุ่มตกสะเก็ด และเดินทางมาจากหรืออาศัยอยู่ในประเทศที่มีการรายงานการระบาดของโรคฝีดาษลิงในประเทศภายใน 21 วัน พร้อมทั้งแจกบัตรเตือนสุขภาพ (Health beware card) เป็น QR code ให้ผู้ที่มีอาการดังกล่าวสแกนเข้าระบบเพื่อรายงานอาการป่วย หลักๆ ในบัตรจะระบุว่าหากมีอาการ เช่น ไข้ มีตุ่ม ให้รายงานเข้าระบบและรีบไปพบแพทย์ในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด รวมถึงแจ้งประวัติการเดินทางจากประเทศกลุ่มเสี่ยงให้เจ้าหน้าที่ทราบด้วย

ขณะเดียวกัน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในฐานะห้องปฏิบัติการของ สธ.ได้เตรียมตรวจวินิจฉัยโรคเพื่อเฝ้าระวังโรคติดต่อในคน และการตรวจวิเคราะห์คุณภาพวัคซีนฝีดาษ หรือไข้ทรพิษ (smallpox) เพื่อให้การรับรองคุณภาพวัคซีนที่จะนำมาใช้ในการป้องกันโรค

ขณะที่ พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง ให้ความรู้เพิ่มเติมว่า คนติดโรคฝีดาษลิงจะมีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย และต่อมน้ำเหลืองโต ข้อแตกต่างระหว่างฝีดาษลิงและฝีดาษ คือในฝีดาษจะไม่มีอาการต่อมน้ำเหลืองโต แต่ในฝีดาษลิงจะเกิดขึ้นภายใน 1-3 วัน หลังจากมีอาการป่วย จะเริ่มมีผื่นขึ้นบริเวณใบหน้าแล้วลามไปที่ผิวหนังส่วนอื่น จากนั้นผื่นจะนูนขึ้นเป็นตุ่ม แล้วกลายเป็นตุ่มน้ำ ตุ่มหนอง และแตกออกเป็นสะเก็ดในที่สุด การดำเนินโรคจะใช้เวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์ ขณะที่อัตราการเสียชีวิตประมาณร้อยละ 10 สาเหตุจากภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อในปอด การขาดน้ำและภาวะสมองอักเสบ

ส่วนการตรวจทางห้องปฏิบัติการใช้การตรวจด้วยวิธี PCR ของเหลวจากตุ่มน้ำที่ผิวหนัง รักษาโดยให้ยาต้านไวรัส cidofovir, Tecovirimat และ brincidofovir ปัจจุบันมีวัคซีนที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในการป้องกันโรคฝีดาษลิงในสหรัฐอเมริกา คือ JYNNEOS ส่วนวิธีการป้องกันเบื้องต้น ให้ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล งดรับประทานของป่าหรือปรุงอาหารจากสัตว์ป่า หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่าที่มาจากพื้นที่เสี่ยงหรือสัตว์ป่าป่วย และหลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ที่มีประวัติมาจากพื้นที่เสี่ยงและมีอาการ

มีข้อสงสัยกันว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมความพร้อมทั้งแง่ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป การจัดห้องแล็บตรวจหาเชื้อ การให้การรักษา การคัดกรองคนไข้และการเฝ้าระวังต่างๆ แล้ว ทำไมประเทศไทยยังไม่ประกาศฝีดาษลิงเป็นโรคติดต่ออันตราย นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ให้คำตอบในเรื่องนี้ว่า ประเทศไทยมีการคัดกรองผู้เดินทางมาจากประเทศเสี่ยงที่ด่านคัดกรองโรคระหว่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2565 อัตราการเดินทางเข้าไทยทั้งคนต่างชาติและคนไทย เฉลี่ยวันละ 10,000 ราย แต่ยังไม่พบผู้ป่วยสงสัยเข้าข่าย และขณะนี้ในประเทศไทยยังไม่มีผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงมาก่อน เป็นการแพร่ระบาดในต่างประเทศ แต่ไม่ได้ระบาดวงกว้าง อัตราป่วยตายน้อยมาก จึงกำหนดให้ฝีดาษลิงเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังเท่านั้น

ถึงตรงนี้ องคาพยพในกระทรวงสาธารณสุขต่างติดตามสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง ขอให้มั่นใจได้ว่า ประเทศไทยสามารถรับมือได้อย่างทันท่วงทีแน่นอน

ข่าวน่าสนใจอื่น:

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image