เปิดใจ ปลัด กทม. ส่งการบ้าน ผู้ว่าฯชัชชาติ

หมายเหตุ – นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้สัมภาษณ์ มติชนŽ ถึงการเตรียมพร้อมต้อนรับและส่งมอบภารกิจให้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์Ž ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนที่ 17 ภายหลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้การรับรองผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2565

ในฐานะข้าราชการ กทม.และหัวหน้าของข้าราชการประจำ ลูกจ้าง และบุคลากร กทม.ที่มีอยู่ประมาณ 80,000 คน ได้มีการเตรียมการต้อนรับผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ไว้พร้อมแล้ว โดยได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานทั้งในระดับสำนัก และสำนักงานเขต จัดทำสรุปข้อมูลนโยบาย แผนพัฒนาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการ กทม. รวมถึงผลการดำเนินการที่ผ่านมา ในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำเรียนผู้ว่าฯกทม.ในวันที่เข้ารับตำแหน่งและรับมอบภารกิจต่างๆ ซึ่งใช้สถานที่ศาลาว่าการ กทม.เสาชิงช้า

”ส่วนในเรื่องการทำงาน ข้าราชการและบุคลากรของ กทม. ทุกคนจะต้องพร้อมทำงาน และปรับตัวอยู่เสมอ ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารหรือเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดอะไร ข้าราชการและบุคลากรของ กทม. ยังคงมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำงานเพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข สร้างคุณประโยชน์ให้กับประชาชนต่อไป เพราะหน้าที่ของ กทม.คือการรับใช้ ให้บริการประชาชน ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งเสียชีวิต”

สำหรับสิ่งที่ต้องรายงานต่อผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ เบื้องต้นมีภารกิจหรือประเด็นต่างๆ ที่ต้องรายงาน 2 ส่วน

Advertisement

1.ภารกิจที่ กทม.ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนากรุงเทพมหานคร ตามแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร และแผนปฏิบัติราชการ กทม.ในระดับต่างๆ รวมทั้งแผนงานโครงการต่างๆ ทั้งที่ได้ดำเนินการไปแล้ว และอยู่ระหว่างดำเนินการ ปัจจุบัน กทม.ได้วางกรอบทิศทางหลักในการพัฒนากรุงเทพฯ ระยะยาว คือ แผนพัฒนากรุงเทพมหานครระยะ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ฉบับปรับปรุง

ซึ่งกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนากรุงเทพฯ ประกอบด้วย 7 ยุทธศาสตร์การพัฒนา ดังนี้ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาความปลอดภัย และการเป็นเมืองหยุ่นตัวต่อวิกฤตการณ์ ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาสิ่งแวดล้อมเมืองและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาเมืองที่มีรูปแบบอารยะ ลดความเหลื่อมล้ำ สำหรับทุกคน ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาเมือง ที่มีความคล่องตัวและกระชับในระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ ยุทธศาสตร์ที่ 5 การพัฒนาเมืองที่เป็นประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วม ของทุกภาคส่วน ยุทธศาสตร์ที่ 6 การพัฒนาเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์การท่องเที่ยวและการเรียนรู้ ยุทธศาสตร์ที่ 7 การพัฒนาการบริหารจัดการมหานครที่มีความเป็นมืออาชีพและคล่องตัว

“ในการจัดการเมือง ซึ่งแนวทางการพัฒนาดังกล่าวข้างต้นของ กทม.สอดคล้องมุมมองและวิธีคิดในการพัฒนาตามนโยบาย 9 ดี ของผู้ว่าฯกทม.ทั้ง 214 ข้อ ดังนั้น จึงสามารถผลักดันการดำเนินการไปสู่การดำเนินงานตามนโยบายของผู้ว่าฯกทม. เข้าสู่ยุทธศาสตร์การพัฒนาของ กทม. เพื่อแปลงพร้อมนำไปสู่การปฏิบัติได้ตามกรอบเวลา และเป็นไปในทิศทางเดียวกันŽ”

Advertisement

2.แนวทางในการดำเนินงานและผลักดันนโยบาย 9 ดี ทั้ง 214 ข้อ ที่ผู้ว่าฯกทม. ได้ประกาศเป็นสัญญากับประชาชนในช่วงที่มีการหาเสียงเลือกตั้ง โดย กทม.ได้ศึกษานโยบายดังกล่าว และกำหนดแนวทางในการแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีประเด็นสำคัญที่ต้องนำเรียนเพื่อดำเนินการในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

ระยะสั้น จะดำเนินการในสิ่งที่ กทม.เคยดำเนินการอยู่แล้ว และสามารถต่อยอดการดำเนินการ 1.พิจารณาทบทวนเส้นทางเดิม เส้นทางเดินเรือตามแผน W-Map หรือเพิ่มเส้นทางใหม่ ให้บริการเรือในเส้นทางคลองศักยภาพที่สามารถเชื่อมต่อระบบขนส่ง สาธารณะหลักได้ เช่น รถไฟฟ้า, รถเมล์ เป็นต้น 2.การดูแลสุขภาพเชิงรุกถึงย่านที่อยู่อาศัย หมอถึงบ้านผ่าน Telemedicine นำร่องพัฒนาคลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย เพิ่มคลินิกโรคคนเมือง ขยายโครงการโรงพยาบาล 10,000 เตียง ผ่านการเป็น Caregiver 3.การเปิดสวนสาธารณะหลักและเรื่องที่อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานสวนสาธารณะและสำนักงานเขตทั่วกรุงเทพฯ รวมถึงสถานีรถไฟฟ้าสายสีเขียว (ส่วนต่อขยาย) รถไฟฟ้าสายสีทอง สกายวอล์ก และป้ายรถเมล์ ทั่วกรุงเทพฯ ให้สามารถจัดแสดงงานศิลปะทุกแขนง โดยเฉพาะดนตรีและศิลปะการแสดง (สตรีทโชว์) ให้ศิลปินได้แสดง ได้นำเสนอ

ระยะกลาง จะนำเรียนเพื่อดำเนินการในส่วนของภารกิจที่อยู่ในขอบข่ายอำนาจหน้าที่โดยตรง และไม่จำเป็นต้องมีการปรับกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น 1.การพัฒนาศูนย์เด็กอ่อน-เด็กเล็ก ใกล้ชุมชนและแหล่งงาน เพิ่มสวัสดิการ ลดภาระค่าใช้จ่ายของครู ใช้เทคโนโลยีช่วยจัดการงานเอกสาร ปรับปรุงกฎระเบียบเกี่ยวกับการเลื่อนวิทยฐานะ พัฒนาคุณภาพการศึกษาพัฒนาศูนย์เด็กอ่อน-เด็กเล็ก ใกล้ชุมชนและแหล่งงาน เพิ่มสวัสดิการ ลดภาระค่าใช้จ่ายของครู พัฒนาคุณภาพการศึกษา ซึ่งปัจจุบันให้ทำแผนการสอนเสร็จแล้ว 2.การปรับปรุงแผนการสอนของ กทม.ให้เท่าทันเหตุการณ์ต่างๆ โดยเริ่มจากเพิ่มการศึกษาประวัติศาสตร์และประเด็นสังคมต่างๆ ในโรงเรียนสังกัด กทม. เพื่อทำความเข้าใจประเด็นอ่อนไหว เช่น ความเท่าเทียมทางเพศ หรือชาติพันธุ์ นอกจากนี้ ยังสอนให้เด็กตระหนักถึงการกลั่นแกล้งในโรงเรียนและโลกออนไลน์ พัฒนาทักษะความรู้ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในโลกยุคใหม่ เช่น การใช้เทคโนโลยี 3.ปรับปรุงป้ายรถเมล์ทั่วกรุงเทพฯ เพื่อส่งเสริมและเพิ่มโอกาสในการที่ประชาชนจะเลือกเดินทางด้วยรถเมล์

ระยะยาว จะดำเนินการในส่วนที่ต้องมีการประสานหน่วยงานอื่น รวมทั้งปรับระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 1.การเปิดโอกาสให้มีโอกาสประเมินผลการทำงานของผู้อำนวยการเขต และผู้ว่าฯกทม. ทำให้ประชาชนมีส่วนกำหนดทิศทางการทำงานของ กทม. และทำให้การเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัวมากยิ่งขึ้น ด้านผู้ปฏิบัติงานได้รับฟีดแบ๊ก (Feedback) การทำงานจากประชาชน 2.การปรับระบบประสานโดย จัดสรรงบประมาณมาดำเนินการเกี่ยวกับ participatory budgeting มีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางการใช้งบประมาณของเขต และ กทม.

ผู้ว่าฯชัชชาติ ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า ท่านจะเริ่มทำงานตั้งแต่วันแรก ไม่มีฮันนีมูน ไม่มีฝึกงาน และภายหลังจากผู้ว่าฯเข้ารับตำแหน่ง ท่านบอกว่าสิ่งแรกที่จะทำคือ จะเชิญปลัด กทม. ผู้อำนวยการเขต และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ทุกเขตที่ได้รับเลือกตั้ง มาพร้อมกันไม่ว่าจะอยู่พรรคใด สังกัดใด เข้ามาร่วมหารือกัน และร่วมกันกำหนดแผนปฏิบัติการ (Action Plan) เพื่อให้สามารถเดินหน้าพัฒนากรุงเทพฯได้ทันที

“ต้องเรียนให้ทราบว่า กทม.เป็นหน่วยงานที่ทำงานเพื่อประชาชนและมีหน้าที่ให้บริการแก่พี่น้องชาวกรุงเทพฯ ผมได้ให้แนวทางในการทำงานแก่ข้าราชการ และบุคลากรของ กทม.ไว้ว่า นโยบายหลักของผู้ว่าฯกทม. คือ สร้างกรุงเทพฯให้เป็นเมืองน่าอยู่ของทุกคน ดังนั้น หัวใจในการแก้ไขปัญหาของ กทม.ในระยะยาว จะต้องเริ่มจากรากฐาน ซึ่งก็คือพี่น้องประชาชน หากภาคประชาชนเข้มแข็ง เข้ามามีส่วนร่วมกันในการพัฒนากรุงเทพฯ ร่วมกันกับเรา กรุงเทพฯ ของเราก็จะพัฒนาไปสู่การเป็นเมืองน่าอยู่ของทุกคนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับเขต ซึ่งสำนักงานเขตถือเป็นหน่วยงานระดับพื้นที่ใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชนมากที่สุด ยิ่งต้องทำงานในเชิงพื้นที่ให้เข้มข้น เข้าใจ และเข้าถึงสภาพปัญหาของแต่ละพื้นที่ให้ได้อย่างถ่องแท้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากแต่ละเขตแต่ละพื้นที่นั้น ประชาชนมีความต้องการที่แตกต่างกัน ดังนั้น จากที่พวกเราทำงานเพื่อพี่น้องประชาชนอย่างหนักอยู่แล้ว เราจะทำงานให้มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนากรุงเทพฯ ร่วมกับผู้ว่าฯกทม. ผมรู้ว่าท่านเป็นคนขยัน ผมก็อยากจะขยันเหมือนกับท่าน ลูกน้องทุกคนก็อยากจะเป็นอย่างเจ้านายŽ”

ผู้ว่าฯกทม.ระบุว่า สิ่งที่ต้องเร่งทำภายใน 1 เดือน คือ การทำความเข้าใจกับข้าราชการ และบุคลากร กทม. ในฐานะข้าราชการ และบุคลากร กทม. ทุกคนได้ทบทวนนโยบายทั้ง 200 กว่าข้อแล้ว มีบางเขตเริ่มดำเนินการตามนโยบายต่างๆ บ้างแล้ว เช่น เขตหลักสี่ เขตบางขุนเทียน ฯลฯ ถือเป็นเรื่องปกติที่จะต้องดำเนินการตามนโยบาย

“ผมได้ให้แนวทางให้ข้าราชการและบุคลากร กทม. ให้ไปศึกษาและทำความเข้าใจในนโยบายของผู้ว่าฯกทม. ซึ่งมี 9 ดี 9 ด้าน ที่มีแผนปฏิบัติการ 214 เรื่อง ว่าแต่ละเรื่องมีเป้าหมายอย่างไร ผมเองก็ได้เข้าไปศึกษา และพบว่าท่านได้วางแนวทางการพัฒนากรุงเทพฯไว้ใน 3 มิติ คือ มิติที่ 1 ด้านคุณภาพชีวิต มุ่งแก้ปัญหาเส้นเลือดฝอย เช่น ฝุ่น PM2.5 ทางเท้า ขยะมูลฝอย น้ำท่วม การศึกษา สาธารณสุข มิติที่ 2 ด้านประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ส่งเสริมให้ข้าราชการ กทม.หันหลังให้ผู้ว่าฯ และหันหน้าให้ประชาชน ไม่ส่วย-ไม่เส้น และนำเทคโนโลยีมาช่วยให้การบริหารจัดการและส่งเสริมให้เกิดความโปร่งใส และมิติที่ 3 ด้านการส่งเสริมโอกาสของเมือง เพื่อสร้างโอกาสให้ทุกคนทั้งการใช้ชีวิต และการทำงาน”Ž

สำหรับมิติที่ 1 และ มิติที่ 2 เป็นงานประจำ ส่วนมิติที่ 3 จะเป็นงานยุทธศาสตร์ที่ต้องเร่งผลักดันให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ส่วนในด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ ผู้ว่าฯได้วางแนวทางการพัฒนาในแต่ละพื้นที่ไว้ด้วยเช่นกัน ด้วยความเข้าใจและเข้าถึงปัญหาในแต่ละพื้นที่อย่างแท้จริง

“การที่ผู้ว่าฯทำการบ้านมาเป็นอย่างดี ยิ่งทำให้พวกเรายิ่งต้องตื่นตัว และทำงานในเชิงรุกมากยิ่งขึ้น สำนักงานเขตหลักสี่ ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของการทำงานเชิงรุก ที่ผู้อำนวยการเขตได้เชิญประชุมผู้บริหารเขตเพื่อเตรียมความพร้อมในการขับเคลื่อนงานตามนโยบายของผู้ว่าฯในทุกมิติ ทั้ง 214 นโยบาย ซึ่งทราบว่ามีการมอบหมายแต่ละฝ่ายในสำนักงานเขตสำรวจและจัดทำข้อมูล รวมถึงประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเดินหน้าผลักดันนโยบายให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไปŽ”

ขณะนี้หลายเขต กำลังเตรียมความพร้อมศึกษานโยบายรายเขต (District Policies) ของผู้ว่าฯกทม. เช่น สำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ จะเป็นเรื่องของผู้ว่าฯเที่ยงคืน สนับสนุนการใช้ชีวิตและเศรษฐกิจกลางคืน, รถขยะไซซ์เล็ก เข้าใจเมือง เข้าถึงบ้าน, สร้างย่านจักรยานเดินทางได้ด้วยการปั่น (Bicycle Corridor) ฯลฯ สำนักงานเขตจตุจักร จะเป็นเรื่องของการบริหาร จัดการจราจรด้วยระบบอัจฉริยะ (ITMS) เพื่อบริหารจัดการจราจรทั้งโครงข่ายและกวดขันวินัยจราจร, สนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามแนวคิดบ้านมั่นคง, เตรียมโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมรองรับพื้นที่การค้าหาบเร่แผงลอย ฯลฯ สำนักงานเขตหนองแขม เรื่องของการจัดทีม นักสืบฝุ่นž ศึกษาตันตอ PM2.5, ปลูกต้นไม้เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวและกำแพงกรองฝุ่น, พัฒนาพื้นที่ปลอดฝุ่น (BKK Clean Air Area) ด้วยต้นไม้สำหรับพื้นที่เปิด ด้วยเครื่องฟองอากาศสำหรับพื้นที่ปิด, BKK Trail เส้นทางวิ่งดี ออกกำลังกายดี = เดินได้ดี ฯลฯ

สำนักงานเขตคลองสาน เน้นเรื่องของการยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุข เพิ่มการรักษา เพิ่มเวลา เพิ่มทรัพยากร หมอถึงบ้าน ผ่าน Telemedicine, พัฒนาการเรียนการสอนในโรงเรียนด้วยแนวคิด โรงเรียนแห่งการเรียนรู้Ž (Learning School), ให้การศึกษา พัฒนานักเรียนสู่พลเมืองโลก ฯลฯ สำนักงานเขตประเวศ นโยบายเด่น คือ สร้างต้นแบบการแยกขยะ ต่อยอดให้การแยกขยะระดับเขตสมบูรณ์ครบวงจร ฯลฯ สำนักงานเขตพระนคร เรื่องเลียบคลองเดินได้ ปั่นปลอดภัย ทางเลียบคลองคุณภาพ, ปรับปรุงซ่อมแซมแก้ฟันหลอคันกั้นน้ำริมแม่น้ำ และคลองสายหลัก, ผู้ว่าฯเที่ยงคืน สนับสนุนการใช้ชีวิตและเศรษฐกิจกลางคืน, วิชาศิลปะนอกห้องเรียน ส่งเสริมความคิดความสร้างสรรค์ ผ่านแนวร่วมศิลปินทั่วกรุง ฯลฯ


ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งหลังจากที่ท่านเข้ารับตำแหน่ง จะเร่งหารือแนวทางการดำเนินการและวิธีการปฏิบัติอีกครั้ง เพื่อเตรียมพร้อมดำเนินการทันทีในเรื่องที่ กทม.มีความพร้อม และมีศักยภาพที่จะเร่งดำเนินการได้ ซึ่งหลายเรื่องอาจจะต้องอาศัยความร่วมมือ ร่วมแรงร่วมใจจากพี่น้องประชาชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน รวมถึงคนทุกกลุ่ม เชื่อว่า หากพวกเราทุกคนร่วมมือกัน กรุงเทพฯของเราจะเป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคนแน่นอนŽ” ปลัดขจิต กล่าวพร้อมทิ้งท้ายว่า นับจากนี้ไปอีกสาร 4 ปี หากไม่มีเหตุสะดุดใดๆ เชื่อว่าการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ว่าฯกับข้าราชการ และบุคลากร กทม.จะไปด้วยกันได้ดี ราบรื่น ถึงแม้ว่าตนเหลืออายุราชการอีกเพียง 1 ปีเศษ แต่เชื่อมั่นว่าด้วยหลักการทำงานของข้าราชการ กทม.จะส่งผลให้การทำงานราบรื่น เพราะข้าราชการทุกคนมีนายคนเดียวกันคือ ประชาชนŽ และตระหนักเสมอว่า ข้าราชการŽ คือ ผู้ให้บริการŽ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image