อนุทิน ลั่น! อยากฉีดเข็ม 5 ไปขอเลย เชื่อเปิดผับบาร์โควิดพุ่ง ประเมินต่อ 3 วีค ก่อนลดระดับ

อนุทิน ลั่น! อยากฉีดเข็ม 5 ไปขอเลย เชื่อเปิดผับบาร์โควิดพุ่ง ประเมินต่อ 3 วีค ก่อนลดระดับ

วันนี้ (1 มิถุนายน 2565) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหาร สธ.ประจำเดือนมิถุนายน ครั้งที่ 6/2565 ว่า วันนี้ที่ประชุมมีวาระสำคัญเรื่องการเตรียมความพร้อมเปลี่ยนผ่านโรคโควิด-19 ไปสู่โรคประจำถิ่น โดยมีการเตรียมความพร้อม 4 ด้าน คือ ด้านสาธารณสุข ด้านการแพทย์ ด้านกฎหมายและสังคม และด้านการสื่อสาร

“ขณะนี้ สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ประเทศไทยดีขึ้นต่อเนื่อง ผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงต่ำกว่า 5,000 รายต่อวัน ผู้เสียชีวิตลดลงต่ำกว่า 50 รายต่อวัน มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้วกว่า 137 ล้านโดส และการฉีดเข็มกระตุ้น (บูสเตอร์ โดส) เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ กลุ่มเสี่ยง 608 ที่รับวัคซีนเข็ม 3 ครบ 3 เดือน ให้เข้ารับเข็มที่ 4 ส่วนประชาชนทั่วไปรับเกิน 4 เดือน ให้เข้ารับเข็มที่ 4 ขณะที่ผู้มีความจำเป็นต้องไปต่างประเทศ หรือมีความเสี่ยงที่ประสงค์รับเข็มที่ 5 ก็สามารถติดต่อขอรับได้เลย” นายอนุทิน กล่าว

รัฐมนตรีว่าการ สธ. กล่าวว่า สธ.จะเสนอผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพื่อคืนความสุข ความเป็นปกติให้ประชาชน อย่างวันที่ 1 มิถุนายนนี้ ศูนย์บริหารสถานการณ์โรคโควิด-19 (ศบค.) ปรับมาตรการระดับพื้นที่จังหวัดสีฟ้าและสีเขียว ให้เปิดสถานบันเทิง ผับบาร์ คาราโอเกะ และอาบอบนวด โดยให้เปิดไม่เกินเวลา 24.00 น. ปฏิบัติตามาตรการ Covid Free Setting และ Thai Stop Covid Plus ต่อมา เป็นเรื่องบริการผู้ป่วยโรคทั่วไป และไม่ใช่ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงโควิด-19 สามารถเข้ารักษาพยาบาลแบบผู้ป่วยในโดยไม่ต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 ผู้เฝ้าไข้ ญาติ ไม่ต้องตรวจ ATK แต่ยังมีการตรวจกรณีผู้ป่วยที่เข้าผ่าตัด รักษาโรคที่แพร่กระจายเชื้อในอากาศ และผู้ป่วยฉุกเฉิน เพื่อให้เกิดความปลอดภัย

Advertisement

“จากนี้เป็นต้นไป การบริการในโรงพยาบาล (รพ.) จะกลับคืนสู่ภาวะปกติ พร้อมการป้องกันการติดเชื้อโรคทางเดินหายใจที่ดีขึ้น ผ่านระบบแพทย์ทางไกล และการส่งยาถึงบ้านที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ผมขอย้ำว่า หากเกิดระบาดของโรคระบบทางเดินหายใจ สธ.มีความพร้อมด้านบุคลากรและเวชภัณฑ์” นายอนุทิน กล่าวและว่า สำหรับการเปิดเรียนแบบออนไซต์ กรมอนามัยปรับแนวทางการตรวจ ATK เฉพาะเมื่อมีอาการป่วย และขอให้นักเรียนและครูรับวัคซีนเข็มกระตุ้นตามกำหนด

นายอนุทิน กล่าวต่อไปว่า ระยะต่อไปที่โควิด-19 จะเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ จะพิจารณาอย่างรอบคอบเสนอให้มีการปรับจากโรคติดต่ออันตราย เป็น โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ที่มีกลไกควบคุมป้องกันคล้ายกับโรคติดต่อทั่วไป

“ทั้งนี้ ยังคงต้องเสนอนโยบายไปยัง ศบค. เนื่องจากเราอยู่ภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดย สธ.มุ่งเน้นความปลอดภัยสุขภาพของประชาชนเป็นสำคัญ ห่างไกลการติดต่อของโควิด-19 แต่ในเชิงนโยบายว่าจะประกาศเป็นโรคประจำถิ่นหรือไม่อย่างไร ยังมีอีกหลายขั้นตอน อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนให้ความร่วมมือในการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างและล้างมือ” นายอนุทิน กล่าว

Advertisement

นายอนุทิน กล่าวถึงกรณีโรคประจำถิ่นว่า อย่าเพิ่งไปให้ความสำคัญว่า จะประกาศเป็นโรคประจำถิ่นเมื่อไร เพราะยังมีขั้นตอนอีกมาก

“การจะประกาศต้องรอดูว่า องค์การอนามัยโลกจะมีความคิดเห็นอย่างไร เพราะตอนที่องค์การฯ เป็นผู้ประกาศเป็นโรคติดต่อร้ายแรงระดับโลก ซึ่งเมื่อมีการระบาดใหม่ๆ รัฐบาลได้มี ศบค. ขึ้น ซึ่งเมื่อมีก็มีกฎหมายต่างๆ อย่างที่ใช้ทางด้านสาธารณสุขก็จะขึ้นกับตรงนี้ ทาง สธ.ก็มีความจำเป็นต้องรับฟังนโยบาย แต่ทางปฏิบัติการดูแลรักษาพยาบาล การจัดหาเวชภัณฑ์ เครื่องมือต่างๆทางด้านการแพทย์ อันนี้ สธ.ดำเนินการได้ เพราะเป็นการปฏิบัติภารกิจปกติอยู่แล้ว จริงๆ ตอนนี้การผ่อนคลายต่างๆ ก็เหมือนแทบจะปกติแล้ว อย่างวันนี้ (1 มิถุนายน 2565) มีการเปิดผับบาร์ คาราโอเกะ ซึ่งปิดมานานแล้ว แต่วันนี้เราให้เปิด เพราะเรากำลังเดินเข้าสู่โหมดที่ไม่ใช่โรคติดต่อร้ายแรง ส่วนการสวมหน้ากากอนามัยนั้น จะสวมหรือจะถอด ก็สามารถประเมินว่า เราอยู่ในที่เสี่ยงหรือไม่เสี่ยง และหากรู้สึกไม่ปลอดภัยก็สวมไว้ และปฏิบัติมาตรการก็จะช่วยป้องกันโรคได้” นายอนุทิน กล่าวย้ำ

ผู้สื่อข่าวถามถึงการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 หลังจากที่จะปรับเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง นายอนุทิน กล่าวว่า หากสถานการณ์ดีขึ้น เกือบเป็นปกติ ก็จะมีการคืนภารกิจหน้าที่ตามหน่วยงานต่างๆ โดยในอนาคตหากเป็นเช่นนั้นก็จะยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน ประกาศเป็นโรคเฝ้าระวัง และเมื่อมีวัคซีนครบถ้วนก็เป็นโรคประจำถิ่นต่อไป ส่วนการดูแลรักษาประชาชนก็เป็นไปตามสิทธิ ซึ่งต้องแยกแยกให้ถูกว่า ระหว่างเป็นโรครุนแรง รัฐบาลก็ดูแลทุกคน แต่เมื่อเป็นโรคปกติก็จะไปสู่การใช้สิทธิสุขภาพที่ประชาชนมีอยู่ ส่วนวัคซีนก็จะเน้นกลุ่มเสี่ยง เป็นต้น คล้ายๆ ไข้หวัดใหญ่ ก็จะมีให้แก่กลุ่มเสี่ยงเช่นกัน

เมื่อถามย้ำว่า จะมีการพิจารณาให้เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังในช่วงใด เดือนนี้หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ขณะนี้เราเปิดผับบาร์แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องเสียหาย หากเราจะดูสถานการณ์ก่อน 2-3 สัปดาห์ ซึ่งมั่นใจว่ามีการติดเชื้อเพิ่มแน่นอน แต่หากอาการไม่หนัก คนกลุ่มอื่นก็ยังดำรงชีวิตได้ปกติได้

เมื่อถามถึงขั้นตอนการพิจารณาลดระดับโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตราย เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กระบวนการ ขั้นตอนจะต้องผ่านคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ที่มี รัฐมนตรีว่าการ สธ.เป็นประธาน ส่วนจะดำเนินการเมื่อไรต้องติดตามสถานการณ์และความเหมาะสม

เมื่อถามต่อว่า การปรับเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังจะมีแนวทางต่างจากเดิมอย่างไร นพ.โอภาส กล่าวว่า โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังมีประมาณ 30 โรค เช่น ไข้เลือดออก ที่ระบาดตามฤดูกาล จึงต้องดู 1.เฝ้าระวัง 2.ป้องกัน 3.ควบคุม และ 4.พัฒนาระบบการดูแลรักษา ความรู้ใหม่ๆ ในการรักษา

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image