ห่วง!ไข้เลือดออกพุ่งทั่วปท. อนุทิน นำปล่อยคาราวาน อสม.สระบุรี ปราบลูกน้ำยุงลาย

ห่วง! ไข้เลือดออกพุ่งทั่ว ปท. อนุทิน นำปล่อยคาราวาน อสม.สระบุรี ปราบลูกน้ำยุงลาย

เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2565 ที่สนามกีฬาเทศบาลตำบล (ทต.) หนองแค จ.สระบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นายวัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการ สธ. นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และผู้บริหาร สธ. เปิดงานมหกรรม “คนสระบุรี ร่วมใจ เก็บให้เกลี้ยง ไม่เลี้ยงยุงลาย” พร้อมมอบเกียรติบัตรแก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และหน่วยงานระดับอำเภอ และปล่อยคาราวาน อสม. รณรงค์ให้คนในชุมชนสำรวจและกำจัดลูกน้ำยุงลาย โดยมีหน่วยงานภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ทั้งภาครัฐ เอกชน และ อสม.เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 3,000 คน

นายอนุทินกล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายพัฒนาและยกระดับความรู้ อสม. ให้เป็น “อสม. หมอประจำบ้าน” ซึ่งปัจจุบันมี อสม.ทั้งประเทศกว่า 1,040,000 คน ร่วมดูแลสุขภาพของตนเอง ครอบครัว และชุมชน จนได้รับการยอมรับจากสังคมอย่างกว้างขวาง สำหรับโรคไข้เลือดออกซึ่งยังเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขอันดับต้นๆ ของประเทศ การรณรงค์ให้ประชาชนมีความรู้และร่วมมือในการสำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย เป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยควบคุมโรคไข้เลือดออกได้

Advertisement

“จ.สระบุรี ได้ตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้ จึงมีการปล่อยคาราวาน อสม. 13 อำเภอ เจ้าหน้าที่ และภาคีเครือข่าย ร่วมกันรณรงค์ถ่ายทอดความรู้เรื่องไข้เลือดออกและกระตุ้นเตือนคนในชุมชนให้ช่วยกันสำรวจและจัดการสภาพแวดล้อมทั้งในบ้านและรอบบ้าน โรงเรียน วัด รวมถึงสวนสาธารณะ ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างจริงจัง ด้วยการกำจัดลูกน้ำอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยทุกๆ 7 วัน และป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด โดยใช้มาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค ได้แก่ เก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บภาชนะใส่น้ำ ป้องกันโรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย เพื่อลดการระบาดในพื้นที่และคนในชุมชนจะได้ไม่มีผู้ป่วยหรือเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออก” นายอนุทินกล่าว

ด้าน นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า ในปี 2565 คาดว่าสถานการณ์โรคไข้เลือดออกจะเพิ่มขึ้นทุกภาคทั่วประเทศ เนื่องจากมีฝนตกในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดน้ำท่วมขังตามภาชนะและวัสดุต่างๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย ซึ่งจากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-วันที่ 25 พฤษภาคม 2565 พบผู้ป่วย 2,220 ราย เสียชีวิต 3 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กวัยเรียน จึงขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในโรงเรียน รวมถึงให้ความรู้นักเรียนเรื่องการป้องกันโรคไข้เลือดออกอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง

“สำหรับกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิต คือ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง และผู้ที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ จึงขอให้สังเกตอาการตนเองและคนในครอบครัว หากมีไข้สูง 2-3 วัน รับประทานยาแล้วยังไม่ดีขึ้น ปวดเมื่อย ตาแดง หรือมีผื่นขึ้นใต้ผิวหนัง ตามแขนขาหรือข้อพับ ต้องรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว ไม่ควรซื้อยาแอสไพรินและยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเสดมารับประทานเองเพราะจะทำให้เกิดเลือดออกในทางเดินอาหารจนเสียชีวิตได้” นพ.เกียรติภูมิกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image