สธ.แจงเหตุส่งวัคซีนโควิดลง รพ.สต. ช่วยประชาชนเข้าถึง จี้ นพ.สสจ.เร่งตีปี๊บบูสต์โดสกันป่วย

สธ.แจงเหตุส่งวัคซีนโควิดลง รพ.สต. ช่วยประชาชนเข้าถึง จี้ นพ.สสจ.เร่งตีปี๊บบูสต์โดสกันป่วย

วันที่ 3 มิถุนายน 2565 นพ.สุเทพ เพชรมาก หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีมีการตั้งข้อสงสัยเรื่องการกระจายวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เป็นแผนการระบายวัคซีนไปทิ้งให้หมดอายุ ว่า การส่งวัคซีนโควิด-19 ไปไว้ที่ รพ.สต.เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการวัคซีนได้ใกล้บ้านที่สุด ทำให้ง่ายและสะดวกมากขึ้น

“ซึ่งเรื่องนี้เป็นมติของที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) มาประมาณเกือบเดือนแล้ว เนื่องจากพบว่า ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ประชาชนไม่เข้ารับวัคซีน คือ เดินทางไม่สะดวก หรือไม่มีคนพาไป กระทรวงสาธารณสุข จึงส่งวัคซีนโควิด-19 ทั้งซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า และไฟเซอร์ ไปยัง รพ.สต. ซึ่งเป็นหน่วยบริการที่ใกล้บ้านที่สุด เพื่อให้ประชาชนที่อยู่ห่างไกลสามารถพาผู้สูงอายุและผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงไปฉีดวัคซีนกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน” นพ.สุเทพ กล่าว

หัวหน้าผู้ตรวจราชการ สธ.กล่าวว่า นอกจากนี้ รพ.สต.หลายแห่งยังร่วมกับท้องถิ่นออกสำรวจประชาชนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนและจัดวัคซีนไปบริการเชิงรุกถึงบ้าน โดย สธ.สนับสนุนอุปกรณ์การฉีดวัคซีน และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สนับสนุนค่าฉีดวัคซีนให้กับ รพ.สต. ในอัตรา 40 บาทต่อเข็ม

“ไม่ใช่การระบายวัคซีนไปทิ้งแต่อย่างใด เพราะทุกวันนี้ รพ.สต.ก็มีให้บริการวัคซีนอื่นๆ อยู่แล้ว เช่น วัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก เป็นต้น” นพ.สุเทพกล่าว และว่า จากความทุ่มเทของหน่วยบริการทุกระดับ รพ.สต. รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการจัดบริการวัคซีน ทำให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทุกวัน ทั้งเข็มปกติและเข็มกระตุ้น และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ควบคุมสถานการณ์โควิด-19 และผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ได้มากขึ้น

Advertisement

นพ.สุเทพกล่าวว่า การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในขณะนี้ยังมีความสำคัญมาก เนื่องจากผู้เสียชีวิตในแต่ละวันเกือบทั้งหมดเป็นกลุ่มเสี่ยง คือ ผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว และได้รับวัคซีนไม่ครบ ทั้งนี้ การได้รับวัคซีนโควิด-19 เพียง 2 เข็ม ป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนได้น้อยมาก ป้องกันการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ปานกลาง แต่การฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 จะป้องกันการติดเชื้อได้มากขึ้น ป้องกันป่วยหนักและเสียชีวิตได้ ร้อยละ 93 และหากฉีดเข็มที่ 4 จะป้องกันติดเชื้อเพิ่มเป็น ร้อยละ 76 ป้องกันป่วยหนักและเสียชีวิตสูงถึง ร้อยละ 99

นพ.สุเทพกล่าวอีกว่า สธ.จึงตั้งเป้าหมายฉีดเข็มกระตุ้นให้ครอบคลุมมากกว่าร้อยละ 60 เพื่อให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันเพิ่มมากขึ้นเพียงพอ รองรับการเปิดประเทศและใช้ชีวิตได้เป็นปกติและมีความปลอดภัยมากขึ้น สอดคล้องกับมาตรการเตรียมพร้อมโควิด-19 เข้าสู่โรคประจำถิ่น ในมาตรการ 2U คือ Universal prevention และ Universal Vaccination โดยภาพรวมขณะนี้มีประชาชนฉีดวัคซีนไปแล้วประมาณ 138 ล้านโดส ความครอบคลุมเข็มแรก ร้อยละ 81.6 เข็มที่ 2 ร้อยละ 75.7 ส่วนกระตุ้นเข็มที่ 3 ได้เพียงร้อยละ 40.7 จึงขอให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ทุกจังหวัด เร่งประชาสัมพันธ์ถึงประโยชน์และความจำเป็นให้ประชาชนมารับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อให้ประเทศสามารถผ่านสถานการณ์โควิด-19 และเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นได้ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image