สธ.นำร่องเข้าถึงยารักษาตับอักเสบซี นนทบุรี พื้นที่แรก ผู้ติดเชื้อทุกรายได้รับยาไร้เงื่อนไข

สธ.นำร่องเข้าถึงยารักษาตับอักเสบซี นนทบุรี พื้นที่แรก ผู้ติดเชื้อทุกรายได้รับยาไร้เงื่อนไข

วันนี้ (6 มิถุนายน) ที่สถาบันบำราศนราดูร นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานเปิดโครงการนำร่องการเพิ่มการเข้าถึงยาต้านไวรัสเพื่อรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง ปี 2565 (Test and Treat) พร้อมมอบยาต้านไวรัสและชุดตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่เข้าร่วมดำเนินการในพื้นที่ จ.นนทบุรี

นายอนุทินกล่าวว่า โรคไวรัสตับอักเสบ บี และซี เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดภาวะตับอักเสบ ตับแข็ง และมะเร็งตับ ส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทย แม้จะมียาต้านไวรัสชนิดรับประทาน Sofosbuvir/Velpatasvir ที่มีประสิทธิภาพสูง รับประทานเพียง 12 สัปดาห์ สามารถรักษาโรคไวรัสตับอักเสบ ซี ให้หายขาดร้อยละ 93-100 โดยขึ้นทะเบียนอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ บัญชี จ 2 แต่ยังมีปัญหาผู้ติดเชื้อที่ยังไม่สามารถเข้าถึงยาได้ โดยช่วงปี 2561-2564 มีผู้ติดเชื้อได้รับยาเพียง 14,503 ราย เนื่องจากหลักเกณฑ์การใช้ยาที่ไม่ครอบคลุมผู้ป่วยทุกราย เช่น ข้อจำกัดเรื่องค่าปริมาณไวรัสต้องมากกว่า 5,000 IU/ml และผู้ติดเชื้อต้องอายุไม่เกิน 70 ปี รวมถึงการสั่งยาต้องเป็นอายุรแพทย์เฉพาะทางด้านระบบทางเดินอาหาร หรืออายุรแพทย์ที่ปฏิบัติงานด้านระบบทางเดินอาหาร ซึ่งไม่มีในทุกโรงพยาบาล

Advertisement

นายอนุทินกล่าวว่า ได้มอบให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เร่งรัดแก้ไขหลักเกณฑ์ เงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคการเข้าถึงยา และมอบให้กรมควบคุมโรคร่วมกับกรมการแพทย์ กรมอนามัย และสำนักงานปลัด สธ. เร่งพัฒนาศักยภาพแพทย์ทั่วไปของโรงพยาบาล (รพ.) ชุมชน พัฒนาระบบการตรวจและรักษาของ รพ.ทุกแห่ง ให้มีความพร้อมตรวจรักษาผู้ป่วยใน รพ.ใกล้บ้าน โดยมีแพทย์ใน รพ.จังหวัด เป็นผู้ดูแลให้คำปรึกษา คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ
จึงมีมติเห็นชอบให้กรมควบคุมโรคดำเนินการ “โครงการนำร่องการเพิ่มการเข้าถึงยาต้านไวรัส เพื่อรักษาโรคไวรัสตับอักเสบ ซี เรื้อรัง ด้วยวิธี Test and Treat” เพื่อให้ผู้ติดเชื้อรับยาต้านไวรัสโดยเร็วหลังได้รับการตรวจวินิจฉัยยืนยัน ซึ่งกรมควบคุมโรคได้จัดทำโครงการนำร่องในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ อุดรธานี นครศรีธรรมราช และนนทบุรี เพื่อช่วยให้ผู้ติดเชื้อทุกรายได้รับการรักษา เข้าถึงยาโดยเร็ว โดยไม่ติดเงื่อนไข

“วันนี้เป็นการเปิดโครงการนำร่องที่สถาบันบำราศนราดูร จ.นนทบุรี เป็นจังหวัดแรกที่เป็นต้นแบบดำเนินการ โดยได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี อปท. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) นนทบุรี และ รพ.ในพื้นที่ นับเป็นก้าวสำคัญในการเริ่มต้นร่วมมือกันขับเคลื่อนให้ประเทศไทย สามารถกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบ ซี ให้ได้ตามเป้าหมายในปี 2573 และอยากให้ อปท.เข้ามาร่วมสนับสนุนทรัพยากรเพิ่มขึ้น และเร่งสร้างความตระหนักของประชาชนร่วมกับ สธ. เพื่อให้ประชาชนที่ติดเชื้อได้รับการรักษาให้หายขาดจากโรคนี้โดยเร็ว” นายอนุทินกล่าว

Advertisement

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคสนับสนุนชุดตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบ ซี น้ำยาตรวจเพื่อยืนยันการติดเชื้อ และสนับสนุนยาต้านไวรัสให้กับ รพ.และหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วมโครงการ โดยการนำร่องที่สถาบันบำราศนราดูรวันนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการประสานนโยบายความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่าย มี อปท.ร่วมดำเนินงาน ได้แก่ เทศบาลนครนนทบุรี เทศบาลเมืองบางกรวย เทศบาลเมืองบางคูรัด เทศบาลนครปากเกร็ด เทศบาลตำบลบางเลน และเทศบาลตำบลไทรน้อย จะร่วมคัดกรองหาผู้ติดเชื้อร่วมกับโรงพยาบาลในพื้นที่ ได้แก่ รพ.พระนั่งเกล้า รพ.บางกรวย รพ.บางบัวทอง รพ.ปากเกร็ด รพ.บางใหญ่ และ รพ.ไทรน้อย ภายใต้การสนับสนุนจาก สสจ.และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) ทั้ง 6 แห่ง ที่จะร่วมดำเนินงานสร้างระบบการดูแลรักษาโรคไวรัสตับอักเสบ ซี เรื้อรัง ในพื้นที่ จ.นนทบุรี ให้มีประสิทธิภาพ โดยรูปแบบการจัดบริการ จะให้ รพ.ระดับอำเภอ และ
แพทย์ทั่วไปที่ผ่านการอบรมแล้วสามารถจ่ายยารักษาได้ และเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2565 ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ว่าด้วยความร่วมมือในการกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบ ระหว่าง สธ.กับกระทรวงมหาดไทย (มท.) เพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมือในการดำเนินงานในพื้นที่ทั่วประเทศต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image