บอร์ดคุมคุณภาพฯ สปสช. กลไกสำคัญกำกับมาตรฐาน “บัตรทอง”

หลายคนคงไม่ทราบว่า ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “บัตรทอง” หรือ “30 บาทรักษาทุกโรค” ซึ่งดูแลเรื่องการรักษาพยาบาลของประชาชนกว่า 48 ล้านคน และดูแลเรื่องการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคของประชาชนทั้งประเทศ นอกจากจะมีคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) แล้ว ระบบบัตรทอง/30 บาท ยังมีคณะกรรมการอีกชุดหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือ “คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข”

หากจะพูดให้เห็นภาพง่ายๆ บอร์ด สปสช.มีหน้าที่กำหนดนโยบาย ขณะที่คณะกรรมการควบคุมคุณภาพฯ ทำหน้าที่กำกับติดตามการนำนโยบายไปปฏิบัติ นั่นเอง! รวมทั้งดูแลคุ้มครองสิทธิประชาชนผู้รับบริการ ตลอดจนให้ข้อเสนอแนะในการจัดทำงบประมาณแก่บอร์ด สปสช.อีกด้วย

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา ประธานกรรมการควบคุมคุณภาพฯ สปสช. กล่าวถึงการทำงานในปี 2564 ว่า ประเทศไทยยังคงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ และยอมรับว่า ส่งผลกระทบต่อคุณภาพบริการแน่นอน เพราะหน่วยบริการจำเป็นต้องมุ่งเน้นการดูแลรักษาโรคโควิด-19 การควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ทำให้ภาระงานเพิ่มมากขึ้น มีความจำเป็นต้องเลื่อนนัดผู้ป่วยกลุ่มที่ไม่ติดเชื้อออกไปก่อน ขณะเดียวกัน บุคลากรบางส่วนก็มีการติดเชื้อจากการปฏิบัติงาน ทำให้อัตรากำลังคนไม่เพียงพอ ขีดความสามารถของโรงพยาบาล (รพ.) บางแห่งก็มีขีดจำกัด จนทำให้หน่วยบริการไม่ได้ให้ความสำคัญในการควบคุมกำกับคุณภาพบริการเท่าที่ควร ขณะที่คณะกรรมการควบคุมคุณภาพฯ และคณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพฯ ในระดับเขต ก็ไม่สามารถลงดำเนินการควบคุม กำกับ และส่งเสริมคุณภาพมาตรฐานหน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการในพื้นที่ได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากต้องยึดหลัก social distancing ปัจจัยเหล่านี้ ทำให้การพัฒนางานด้านคุณภาพบริการสาธารณสุขอาจหยุดชะงักไปชั่วคราว

อย่างไรก็ดี แม้จะเจอปัญหาดังกล่าว แต่ในภาพรวมปี 2564 คณะกรรมการควบคุมคุณภาพฯ ก็สามารถดำเนินงานได้ตามที่กฎหมายกำหนด ดังนี้ 1.การควบคุม กำกับ และส่งเสริมคุณภาพมาตรฐานหน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการ ได้ดำเนินการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ผ่านกระบวนการพิจารณาเรื่องร้องเรียนในกรณีที่สำนักงานตรวจสอบพบว่า หน่วยบริการใดไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานการให้บริการสาธารณสุขที่กำหนด และกรณีที่ผู้รับบริการไม่ได้รับความสะดวกตามสมควรตามสิทธิที่จะได้รับบริการสาธารณสุขที่กำหนด หรือหน่วยบริการเรียกเก็บค่าบริการโดยไม่มีสิทธิที่จะเก็บหรือเรียกเก็บเกินกว่าอัตราที่คณะกรรมการควบคุมคุณภาพฯ กำหนด การกำหนดมาตรการควบคุมและส่งเสริมคุณภาพและมาตรฐานหน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการ โดยการกำกับติดตามคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการสาธารณสุขของหน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการ กรณีหน่วยบริการให้บริการที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานการให้บริการสาธารณสุขที่กำหนด

Advertisement

นอกจากนี้ ยังสนับสนุนกลไกการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขระดับพื้นที่ โดยได้เห็นชอบรายชื่อ คณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขระดับเขตพื้นที่ (อคม.) ตั้งแต่เขต 1-13 การเห็นชอบรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งเป็นคณะอนุกรรมการฯ ทดแทนจากการพ้นวาระตำแหน่ง โดยเชื่อมประสานการดำเนินงานร่วมกับคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่ (อปสข.) คณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นระดับจังหวัด หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน ตามมาตรา 50 (5) ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพในหน่วยบริการ และหน่วยบริการในพื้นที่

2.การให้ความเห็นประกอบการจัดทำคำขอรับงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) และให้ความเห็นและข้อเสนอต่อหลักเกณฑ์การดำเนินงาน และบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2565

3.การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการร้องเรียนของผู้ซึ่งถูกละเมิดสิทธิจากการใช้บริการ และวิธีการพิจารณาเรื่องร้องเรียน รวมถึงหลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ซึ่งถูกละเมิดสิทธิจากการใช้บริการ และกำหนดหน่วยรับเรื่องร้องเรียน เพื่อให้ประชาชนสามารถเสนอเรื่องร้องเรียนได้โดยสะดวกและเป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน ตามมาตรา 50(5) โดยกำหนดให้คณะกรรมการควบคุมคุณภาพฯ มีหน้าที่ในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการร้องเรียนของผู้ซึ่งถูกละเมิดสิทธิจากการใช้บริการและวิธีพิจารณาเรื่องร้องเรียนดังกล่าว รวมทั้งหลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ซึ่งถูกละเมิดสิทธิจากการใช้บริการ และกำหนดหน่วยรับเรื่องร้องเรียน เพื่อให้ประชาชนสามารถเสนอเรื่องร้องเรียนได้โดยสะดวกและเป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน

Advertisement

ซึ่งปัจจุบัน การร้องเรียนสามารถดำเนินการได้หลายทางทั้งสายด่วน สปสช.1330, สปสช.สาขาเขต และหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน ตามมาตรา 50(5) และช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนอื่น ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในหน่วยบริการ และศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน

นอกจากนี้ ยังได้มีการพิจารณาขึ้นทะเบียนหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน ซึ่งปัจจุบันในพื้นที่ สปสช.ทั้ง 13 เขต มีหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนจำนวนทั้งสิ้น 126 แห่ง รวมทั้งดำเนินงานร่วมกับสำนักงานในการอบรมหลักสูตรพื้นฐานการจัดการความขัดแย้งและความเสี่ยงในระบบสาธารณสุข ร่วมกับศูนย์สันติวิธีสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ ธรรมชาติของความขัดแย้ง สาเหตุภาพรวมและการจัดการความขัดแย้ง วิธีป้องกันและการแก้ไขความขัดแย้ง และให้มีทักษะเบื้องต้นในการจัดการความขัดแย้งตามกระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ย เพื่อให้สามารถจัดการความขัดแย้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4.การพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ในกรณีที่ผู้รับบริการได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาล ซึ่งในปี 2564 มีการยื่นข้อมูลคำร้องที่ยื่นขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นจำนวนทั้งสิ้น 1,026 ราย พบว่าเป็นคำร้องที่เข้าเกณฑ์การพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น 845 ราย (82.36%) และเป็นคำร้องที่ไม่เข้าเกณฑ์การพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น 181 ราย (17.64%) โดยมีการยื่นคำร้องที่ผู้ร้องยื่นอุทธรณ์ผลการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น 156 ราย จาก 1,026 ราย คิดเป็น 15.20%

5.การพัฒนาศักยภาพและการกำกับติดตามการดำเนินงานคณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานระดับเขตพื้นที่ คณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นระดับจังหวัด และกลไกที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ โดยได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นระดับจังหวัด รวมทั้งสิ้น 77 จังหวัด เพื่อปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นในกรณีที่ผู้รับบริการได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาล การมีมาตรการการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลไกการควบคุมกำกับคุณภาพและมาตรฐานระดับเขตพื้นที่ โดยมีกิจกรรมร่วมกับคณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขระดับเขตพื้นที่ (อคม.) และกลไกการควบคุมกำกับคุณภาพระดับเขตพื้นที่ รวมทั้งการกำกับติดตามผลการดำเนินงานการควบคุมกำกับคุณภาพระดับเขตพื้นที่ โดยให้ อคม.เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการควบคุมคุณภาพฯ ในระเบียบวาระที่เกี่ยวข้อง นำเสนอแผนและผลการดำเนินงานของ อคม. แต่ละเขตในการประชุมทุกเดือน เพื่อให้ที่ประชุมได้ให้ข้อเสนอเพื่อนำไปพัฒนากลไกการควบคุม กำกับคุณภาพบริการสาธารณสุขในระดับเขตพื้นที่เพิ่มเติม

นพ.สุพรรณ กล่าวอีกว่า ในส่วนของปี 2565 สิ่งที่คณะกรรมการควบคุมฯ ให้ความสำคัญมีหลายประเด็น ตั้งแต่กำหนดมาตรการควบคุมและส่งเสริมคุณภาพและมาตรฐานหน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการ ตามมาตรา 50(3) ที่ชัดเจน เน้นการส่งเสริมคุณภาพและมาตรฐานเชิงระบบ โดยการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) กระทรวงสาธารณสุข ราชวิทยาลัยแพทย์เฉพาะทาง และสภาวิชาชีพ การทบทวนอำนาจหน้าที่และแนวทางการดำเนินงานของ อคม. อำนาจการพัฒนา/ส่งเสริมคุณภาพ และควบคุม/กำกับมาตรฐานหน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการ และการทำงานร่วมกับกลไกอื่นในพื้นที่ การขับเคลื่อนการกำกับคุณภาพและมาตรฐานในระดับเขตพื้นที่โดยกลไก อคม. และกลไกที่เกี่ยวข้องโดยสำนักงานสนับสนุนข้อมูลการกำกับติดตามและประเมินผล (M&E) และข้อมูลเชิงประจักษ์ เพื่อการตัดสินใจเชิงนโยบายส่งเสริมคุณภาพและมาตรฐานบริการ การขยายและเพิ่มประสิทธิภาพหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน ตามมาตรา 50(5) โดยเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำกับติดตามคุณภาพ และเพิ่มกลไกการรายงานผลการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการและการคุ้มครองสิทธิให้ประชาชน/หน่วยบริการทราบ

ประเด็นสำคัญเหล่านี้ ผ่านไปครึ่งปีงบประมาณแล้ว และมีประเด็นที่สามารถส่งมอบตามแผนงานที่กำหนด ได้แก่ การกำหนดประเด็นและกรอบแนวทางการกำกับคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขระยะ 4 ปี (พ.ศ.2563-2567) เพื่อสร้างความมั่นใจในคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการสาธารณสุข ในบริการหรือกลุ่มโรคที่มีผลกระทบต่อคุณภาพบริการ/การเข้าถึงบริการ เช่น โรคเบาหวาน/ความดันโลหิตสูง บริการสูติกรรม โรคไตเรื้อรัง บริการรักษาโรคหลอดเลือดโคโรนารีผ่านสายสวน ประเด็นที่พบจากการ Audit บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (PP) และกลุ่มโรค/บริการที่เป็นปัญหาสำคัญ หรือมีผลกระทบต่อระบบสุขภาพและระบบสาธารณสุข และบริการใหม่/บริการตามนโยบาย ได้แก่ บริการสาธารณสุขระบบทางไกล (Telehealth/Telemedicine) ร้านยาคุณภาพคลินิกกายภาพบำบัด บริการตรวจทางห้องปฏิบัติการนอกหน่วยบริการ คลินิกการพยาบาลและผดุงครรภ์ และนโยบายยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้แก่ ประชาชนที่เจ็บป่วยไปรับบริการกับหมอประจำครอบครัวในหน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ ผู้ป่วยในไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัว โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม และย้ายหน่วยบริการได้สิทธิทันที ไม่ต้องรอ 15 วัน

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการส่งเสริมและกำกับคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข โดยใช้กลไกระบบข้อมูลและตัวชี้วัดคุณภาพบริการ (Quality Indicator : QI) โดยให้ อคม. กำกับติดตามคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขในระดับพื้นที่ การบูรณาการการกำกับคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ร่วมกับองค์กร/หน่วยงาน/ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนกลางและระดับเขตพื้นที่ และการกำกับติดตามผลการดำเนินงานของกลไกการควบคุมกำกับคุณภาพระดับเขตพื้นที่โดย อคม.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image