แรงงานรุมวิจารณ์นโยบาย 3 ขอ สะเทือนกองทุนชราภาพ จี้ทบทวนก่อนระบบล้ม

แรงงานรุมวิจารณ์นโยบาย 3 ขอ สะเทือนกองทุนชราภาพ จี้ทบทวนก่อนระบบล้ม

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ที่สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพประชาชน และเครือข่ายแรงงานข้ามชาติ จัดเสวนาหัวข้อ “นโยบาย ‘3 ขอ’ หวังดีหรือหลบเลี่ยงเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม?”

น.ส.ธนพร วิจันทร์ เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน กล่าวว่า การออกนโยบาย 3 ขอ เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงการไม่มีส่วนร่วมของภาคประชาชน หรือผู้ประกันตนอย่างแท้จริง จากปัญหาที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ยื้อไม่จัดให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.)

“แต่ที่ผ่านมา เป็นการจัดตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมาตลอด เช่น ชุดปัจจุบันก็สืบทอดมาจากคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งแต่ปี 2558 นโยบายต่างๆ ที่ออกมาจึงขาดการมีส่วนร่วม แม้ตอนนี้เหลือเพียงไม่กี่คน อย่างไรก็ตาม ทราบว่า สปส.ได้มีการหารือและกำหนดไทม์ไลน์การเลือกตั้งบอร์ดใหม่แล้ว คือเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม จะมีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ เดือนกันยายน-ตุลาคม เปิดสมัครรับเลือกตั้ง เดือนพฤศจิกายน ประกาศหมายเลขผู้สมัคร และเลือกตั้งวันที่ 18 ธันวาคม 2565 อยากเสนอให้จัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ เพราะเดือนธันวาคมมีการประชุมระดับชาติ กังวลว่าอาจส่งผลให้เลื่อนการเลือกตั้งได้ นอกจากนี้ ขอเรียกร้องให้มีการทบทวนระเบียบแรงงานข้ามชาติ บริษัทข้ามชาติมีสิทธิในการเลือกตั้งด้วย เพราะเป็นผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ เครือข่ายจะมีการติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะมีกระแสว่า รมว.แรงงานจะใช้การแต่งตั้งเหมือนเดิม” น.ส.ธนพรกล่าว

นายเซีย จำปาทอง ประธานสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์หนัง แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับนโยบาย 3 ขอ เพราะเงินกองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพเป็นเงินที่ผู้ประกันตนออมไว้ใช้ยามชรา เหตุผลที่ระบุว่าเพื่อเป็นหนึ่งทางออกสำหรับผู้ประกันตนในยามที่ต้องเจอวิกฤตนั้น เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องดูแลประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม แม้จะบอกว่าเป็นเงินเพิ่มเติมจากที่รัฐบาลจ่ายเยียวยาก็ตาม แต่ตนมองว่ารัฐต้องเยียวยาให้เพียงพอตั้งแต่แรก จึงต้องฝากให้รัฐมีการกำหนดมาตรฐานในการจัดบริการดูแลประชาชนในภาวะวิกฤตอย่างชัดเจน

Advertisement

“หากงบประมาณเยียวยาที่จัดตั้งไว้ยังไม่เพียงพอ ควรพิจารณาตัดงบประมาณในส่วนที่ไม่จำเป็นออก เช่น งบจัดซื้ออาวุธ ซึ่งถามว่าจำเป็นต้องซื้อในสถานการณ์ที่เกิดวิกฤตหรือไม่ เป็นต้น แทนที่จะมาดึงเงินออมชราภาพมาใช้ หรือกรณีขอกู้ก็เช่นเดียวกัน ที่ผ่านมาผู้ประกันตนเคยเสนอให้มีการขอกู้ผ่าน สปส.โดยตรง แต่ตอนนี้ให้มาขอกู้ผ่านธนาคาร ก็ไม่รู้ว่ามีอะไรหรือไม่ แล้วถ้าหากผู้ประกันตนไม่ใช้คืนจะทำอย่างไร เงินชราภาพก็จะหายไป ดังนั้น ขอให้ สปส.ทบทวนมาตรการ 3 ขอ” นายเซียกล่าว

ด้าน รศ.อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ และอนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมาย การกำหนดอัตราเงินสมทบและการพัฒนาสิทธิประโยชน์ สปส. กล่าวว่า เห็นด้วยให้มีการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฯหลายเรื่องเพื่อให้สามารถดูแลผู้ประกันตนสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน แต่การปรับตามนโยบาย 3 ขอ ตนมองว่าการเอาเงินออมชราภาพร้อยละ 30 หรือการขอกู้บางส่วน ช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ แต่มีผลกระทบระยะยาวต่อผู้ประกันตนและสังคมที่จะมีผู้สูงอายุที่ยากจนดูแลตัวเองทางการเงินไม่ได้ เพราะใช้เงินบำเหน็จหมดใน 5-10 ปี กระทบความมั่นคงของกองทุน และการเงินของผู้กู้ ซึ่งคาดว่าเงินอาจหมดกองทุนภายใน 30-40 ปี แทนที่จะเป็น 75 ปี ดังนั้น ขอให้พิจารณาอย่างรอบด้าน และบริหารจัดการเงินลงทุนในกองทุนโปร่งใส ได้ผลตอบแทนเหมาะสม อีกประเด็นคือขอให้เร่งจัดการเลือกตั้งบอร์ด สปส.ให้เสร็จในปี 2565 แต่หากต้องการยกเครื่อง ปฏิรูปใหญ่ก็ควรปรับเปลี่ยน สปส.จากหน่วยราชการมาเป็นองค์กรของรัฐ มีความอิสระแบบธนาคารแห่งประเทศไทย หรือคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

“จริงๆ ควรใช้ทางเลือกอื่นที่พอมีอยู่ อาทิ การเพิ่มหรือขยายเวลาสิทธิประโยชน์การประกันการว่างงาน ลดสัดส่วนเงินสมทบ การให้เงินช่วยเหลือเยียวยา ส่วนการขอกู้หากจะทำต้องมีการตั้งธนาคารของกองทุนประกันสังคมขึ้นมา ขอย้ำว่าการดึงเงินจากกองทุนชราภาพเป็นเพียงการลดการก่อหนี้ของรัฐในวันนี้ แต่ไม่ได้มองถึงผลต่อตัวสมาชิกเองที่หลักประกันทางรายได้ยามชราภาพจะลดลง รวมทั้งผลต่อกองทุน และสมาชิกคนอื่นๆ ในอนาคต” รศ.อนุสรณ์กล่าว

ขณะที่ นายบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ นักวิชาการแรงงาน กล่าวว่า นโยบาย 3 ขอนั้นเห็นด้วยเพียงข้อเดียวคือ “ขอเลือก” ว่าจะรับบำเหน็จหรือบำนาญ แต่ต้องมีเกณฑ์อายุถึง 60 ปี และมีความจำเป็นจริงๆ แต่ไม่เห็นด้วยกับ “ขอคืน” และ “ขอใช้บางส่วน” เพราะทำลายหลักการกองทุน นอกจากนี้ ตนยังขอเสนออีก 2 ขอ คือ 1.ขอเพิ่มฐานค่าจ้างคิดเงินสมทบ เนื่องจาก 1.5 หมื่นบาท ใช้มานานแล้วตั้งแต่ปี 2533 ขณะที่ปัจจุบันมีจำนวน 1 ส่วน 4 ของผู้ประกันตน มีรายได้เกิน 1.5 หมื่นบาท 2.ขอเพิ่มฐานอายุ เพราะ 55 ปี น้อยเกินไป และอายุการเกิดสิทธิรับบำเหน็จ บำนาญ ไม่จำเป็นต้องจ่ายครบ 180 เดือนก็ได้ อย่างไรก็ตาม อยากเสนอให้ปฏิรูปประสิทธิภาพการบริหารกองทุนให้อิสระ และต้องมีการเลือกตั้งบอร์ด สปส.ให้เร็วที่สุด

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image