โฆษก สธ.ตอบแพทย์ชนบทกระจายวัคซีนโควิดลงพื้นที่เป็นระบบ ยันเชื้อตายยังจำเป็น
จากกรณีที่เพจเฟซบุ๊กชมรมแพทย์ชนบท ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของภาครัฐ
เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นพ.ทรงคุณวุฒิ ระดับ 11) และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การที่ส่งวัคซีนลงพื้นที่ในจำนวนมาก ใครได้ประโยชน์ คำตอบ คือ ประชาชน ที่สามารถฉีดวัคซีนได้ตามความต้องการ การควบคุมโรคระบาด ก็มีประสิทธิภาพ การสาธารณสุขก็มีความมั่นคง
“ในส่วนของปัญหาการจัดเก็บและทำลาย ก็มีขั้นตอนที่เป็นมาตรฐานอยู่แล้ว ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบรู้ลำดับวิธีการ ไม่ใช่เรื่องที่เป็นนวัตกรรมการตัดสินใจที่อุดมไปด้วยความเสี่ยง หรือมีความอันตรายแต่อย่างใด แล้วการที่บอกว่าวัคซีนซิโนแวคไร้ค่า ปัจจุบันความต้องการเหลือศูนย์นั้น ขอย้ำว่า วัคซีนซิโนแวคยังมีความต้องการใช้ โดยเฉพาะกับเด็กอายุ 6 ขวบขึ้นไป ที่ต้องการจะบูสต์เข็ม 3 ไปจนถึงประชาชนที่ไม่ประสงค์รับวัคซีนแบบไวรัล เว็กเตอร์, mRNA ที่ผ่านมา สธ. และศูนย์บริหารสถานการณ์โรคโควิด-19 (ศบค.) มีกลไกการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ทั้งชนิด ปริมาณ จำนวน และกลุ่มเป้าหมายในการฉีด ผ่านคณะกรรมการหลายชุด เช่น คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ศปก.สธ. และ ศบค.ที่เป็นผู้อนุมัติสุดท้าย” นพ.รุ่งเรืองกล่าว
ทั้งนี้ โฆษก สธ.กล่าวว่า แผนของปี 2564 จัดซื้อทั้งหมด 121 ล้านโดส ฉีดได้ 104.4 ล้านโดส แผนของปี 2565 จัดซื้อ 120 ล้านโดส มีการอนุมัติจาก ศบค. และลงนามซื้อแล้ว 90 ล้านโดส ส่งมอบ 36 ล้านโดส ฉีดแล้ว 34 ล้านโดส ทั้งนี้ วัคซีนส่วนหนึ่งได้มาจากการรับบริจาค เช่น ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม แอสตร้าเซนเนก้า ไฟเซอร์ โมเดอร์นา และโคโวแวกซ์ รวมทั้งหมด 13 ล้านโดส ขณะเดียวกันไทยเริ่มบริจาคให้ประเทศขาดแคลน เช่น ประเทศแถบแอฟริกา จะเห็นว่าการจัดหา กระจายวัคซีนของเราไม่ได้ทำไปโดยพลการ แต่มีการวิเคราะห์กันอย่างดี ในกระบวนการต่อเนื่องต่างๆ