เคสแรกในไทย! มหิดลประกาศความสำเร็จผ่าตัดสร้างขากรรไกรด้วยกระดูกน่อง

เคสแรกในไทย! มหิดลประกาศความสำเร็จผ่าตัดสร้างขากรรไกรด้วยกระดูกน่อง-ต่อเส้นเลือดใส่ฟันปลอม

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 ที่คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มหาวิทยาลัยมหิดลจัดแถลง ‘ผลสำเร็จการสร้างขากรรไกร โดยใช้กระดูกน่อง และการต่อเส้นเลือดร่วมกับการใส่ฟันปลอมยึดด้วยรากเทียม (Fibula Jaw in a Day) ครั้งแรกในประเทศไทย’ โดยมี รศ.นพ.ทพ.ศิริชัย เกียรติถาวรเจริญ คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ ผศ.ทพ.สุรกิจ วิสุทธิวัฒนากร ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) ทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ ผศ.ทพ.ยุทธศักดิ์ เกรียงเชิดศักดิ์ หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล ผศ.นพ.ทพ.บวร คลองน้อย หัวหน้าโครงการและทีมแพทย์ภาควิชาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล และอาจารย์จากภาควิชาทันตกรรมทั่วไปขั้นสูง และทีมทันตแพทย์ผู้ผ่าตัด คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประกอบด้วย นพ.ทพ.คณิน อรุณากูร แพทย์เจ้าของไข้ ทพญ.สุขกาญจน์ เต็มคำขวัญ ทพญ.วรุตตา เกษมศานติ์ และ ทพ.ปริญญา อมรเศรษฐชัย เข้าร่วม

รศ.นพ.ทพ.ศิริชัยกล่าวว่า คณะทันตแพทยศาสตร์ มหิดล ได้ให้การผ่าตัดและดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของใบหน้าและขากรรไกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผ่าตัดรักษามะเร็งและเนื้องอกในช่องปาก มีการส่งแพทย์และทันตแพทย์เรียนต่อเฉพาะทางทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้เพิ่มขีดความสามารถในการผ่าตัดที่ยุ่งยากและซับซ้อนขึ้น ปัจจุบันมีทีมผ่าตัดที่มีความเชี่ยวชาญ โดยสามารถให้การรักษาอย่างเป็นองค์รวม และสามารถให้การรักษาตั้งแต่ผ่าตัดจนกระทั่งถึงการบูรณะการบดเคี้ยวได้เป็นอย่างดี โดยบุคลากรของ รพ.ทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหิดล สามารถดูแลช่องปากผู้ป่วยได้อย่างเป็นองค์รวม และวางแผนที่จะพัฒนาเป็น ศูนย์ความเป็นเลิศ (Excellence Center) ด้านการผ่าตัดเนื้องอกและมะเร็งช่องปาก ในอนาคตอันใกล้

ผศ.ทพ.สุรกิจกล่าวว่า รพ.ทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหิดล ให้ความสำคัญเรื่องการให้บริการอย่างมีคุณภาพ ตามมาตรฐานวิชาชีพ และเคารพในสิทธิของผู้ป่วย ทุกคน และให้บริการอย่างเท่าเทียม สนับสนุนให้มีการพัฒนาศักยภาพบุคลากร เครื่องมือ อุปกรณ์ทางทันตกรรมที่ทันสมัยและมีเทคโนโลยีการแพทย์ที่ทันสมัย ตามเกณฑ์การพัฒนาคุณภาพของ HA รวมทั้งสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพแก่ผู้มารับบริการและประชาชน

Advertisement

ผศ.ทพ.ยุทธศักดิ์กล่าวว่า ภาควิชาศัลยศาสตร์ช่องปากฯ มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาการดูแลผู้ป่วยที่มีความผิดปกติซ้ำซ้อนของใบหน้าขากรรไกร เนื่องด้วยปัจจุบันการรักษาทางการแพทย์ส่วนใหญ่ได้มีการพัฒนานำเทคโนโลยี 3 มิติมาใช้ จึงได้มีการจัดหาโปรแกรมวางแผน 3 มิติ เพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรักษาผู้ป่วยลดระยะเวลาในห้องผ่าตัด และเกิดผลประโยชน์ต่อผู้ป่วยเป็นสูงสุด

ผศ.นพ.ทพ.บวรกล่าวว่า สิ่งที่ทำคือ การสร้างขากรรไกรใหม่และใส่ฟัน เป็นเคสแรกของประเทศไทย โดยปกติแล้ว สมมุติว่าคนไข้เป็นมะเร็งในช่องปาก แนวทางการรักษาคือ การผ่าตัดเอาเนื้อร้ายทิ้งออกไป และทิ้งไว้ด้วยการมีช่องโหว่ ช่องว่าง

“อาจจะใหญ่-เล็กบ้าง เราปล่อยไว้ไม่ได้ จึงได้มีการซ่อมแซมขากรรไกร หนึ่งในเทคนิคที่ใช้ตอนนี้คือ กระดูกน่องและเนื้อ มาใส่แทน คนไข้จึงจะสามารถที่จะมีเนื้อ กระดูกมาแทน และการรักษาชนิดนี้เป็นมาตรฐานของการรักษาทั่วโลก และแม้จะมีกระดูกปิดอย่างดี จะไม่มีฟัน แต่กระบวนการที่จะใส่ฟันเข้าไปนั้นยากมาก และผ่านมายาวนานมาก เพราะฉะนั้นจึงมีปัญหาว่า แม้ว่าจะหายจากมะเร็ง แต่จะไม่มีฟัน คุณภาพชีวิตอาจจะไม่สมบูรณ์มากนัก หรือใช้เวลาหลายปีจึงจะกลับมามีฟัน เราจึงทำการตั้งมาตรฐานใหม่ โดยการใส่ฟันให้ทันที” ผศ.นพ.ทพ.บวรกล่าว และว่า ปัจจุบันผู้ป่วยเนื้องอก-มะเร็งในช่องปาก มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และอัตราการเสียชีวิตกับโรคนี้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ยังเพิ่มขึ้นด้วย

Advertisement

ด้าน นพ.ทพ.คณินกล่าวในฐานะแพทย์เจ้าของไข้ว่า เนื่องด้วยคนไข้โชคไม่ดีที่มีเนื้องอกในช่องปาก จึงวางแผนที่เหมาะสมที่สุด เพื่อให้คนไข้กลับมามีรูปหน้า การเคี้ยว การใช้งานให้ปกติมากที่สุด ที่ตัดสินใจเลือกแผนนี้ เพราะว่าให้คนไข้ได้ใช้เคี้ยวมากที่สุด โดยผ่าตัดในวันเดียว และแบ่งทีมออกเป็น 2 ทีม ช่วยเหลือกัน ใช้เวลากว่า 10 ชั่วโมง และผลลัพธ์คนไข้สามารถมีฟันออกมา เป็นฟันปลอมชนิดติดแน่น ส่วนโครงหน้าหรือใบหน้าใน 1 เดือน สามารถกลับมาใกล้เคียงเดิมมากที่สุด และสามารถใช้งานได้ปกติเร็วมากที่สุด จะทำการผ่าตัดผ่านคอมพิวเตอร์ก่อน เพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถเอาเชื้อออกไปได้หมด

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในแต่ละปีจะมีเคสที่ยากและซับซ้อนประมาณกี่เคสต่อปี นพ.ทพ.คณินกล่าวว่า ในการรักษาที่มีความซับซ้อนมากๆ โดยเฉลี่ยประมาณ 25-30 เคสต่อปี

ต่อข้อถามว่า ใช้เวลาในการเตรียมการผ่าตัดเคสดังกล่าวนานหรือไม่ นพ.ทพ.คณิณกล่าวว่า เนื่องจากเป็นเคสแรก จึงจะต้องใช้เวลาในการเตรียมการค่อนข้างยาวนาน โดยใช้เวลาในการเตรียมตัวเป็นปี เพราะระหว่างนั้น มีโรคระบาดโควิด-19 ต่างๆ เข้ามาด้วย เมื่อระยะเวลาผ่านไป เนื้องอกโตขึ้น ขนาดเปลี่ยนไป จนการรักษาจะต้องเปลี่ยนไปด้วย แต่ด้วยประสบการณ์ที่มี เคสต่อไปจะสามารถเตรียมการได้เร็วยิ่งขึ้น คาดว่าไม่เกิน 1 เดือน – เดือนครึ่งน่าจะทัน

ทางด้าน ทพ.ปริญญากล่าวถึงการใส่ฟันปลอมเข้าไปทันทีว่า ในการใส่ฟันให้คนไข้ โดยใช้เทคนิคใส่ฟันโดยทันทีในรากเทียม ซึ่งเป็นเทคนิคที่มีมานานแล้ว แต่เป็นการใส่นอกช่องปาก เราได้ใช้องค์ความรู้ทุกอย่างที่เรามี ในการสร้างฟันและขากรรไกรให้พอดีกับช่องปาก และพอดีกับตำแหน่งรากเทียม และเชื่อมยึดกันทันที มีการต่อเส้นเลือด เย็บ เพื่อให้ได้ผลประโยชน์สูงสุด เพื่อคนไข้ได้กลับมาใช้ชีวิตปกติได้เร็วที่สุด

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image