รองผู้ว่าฯ ศานนท์ ควง ดร.ยุ้ย ลุยหัวลำโพง คุย สสส. เยี่ยมห้องเช่า ตั้งเป้าฟื้น ‘บ้านอิ่มใจ’ ช่วยคนไร้บ้าน

รองผู้ว่าฯศานนท์ จับมือ สสส. หารือ-ตั้งจุดช่วยคนไร้บ้านย่านหัวลำโพง

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน เวลา 16.00 น. ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกรุงเทพมหานคร, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรมพัฒนาสังคมสวัสดิการ และภาคีเครือข่าย ลงพื้นที่ตั้งจุดประสานงานช่วยเหลือคนไร้บ้านหัวลำโพง โดยผสานความร่วมมือภาคส่วนต่างๆ เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางจากภาวะไร้บ้าน และการตั้งหลักชีวิตของคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะ

นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งดูแลด้านการศึกษาและสังคม พร้อมด้วยผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ (ดร.ยุ้ย) ที่ปรึกษาผู้ว่าฯกทม. นัดหมาย นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส., นายอนรรฆ พิทักษ์ธานิน ผู้จัดแผนงานพัฒนาองค์ความรู้ฯ สุขภาวะคนไร้บ้าน สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สสส. พร้อมด้วยเครือข่าย ร่วมหารือแนวทางความร่วมมือผลักดันนโยบายคนไร้บ้าน และการป้องกันกลุ่มเปราะบางในการเข้าสู่ภาวะไร้บ้าน หรือ “คนไร้บ้านหน้าใหม่” ตั้งเป้าฟื้นโครงการ “บ้านอิ่มใจ” และขยายผลโครงการ “ที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง” ยกระดับคุณภาพชีวิต และลดความเสี่ยงทางสุขภาวะของคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะ

นายศานนท์ รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า การลงพื้นที่ศึกษารากของปัญหาจากคนไร้บ้านโดยตรง เข้าใจคนไร้บ้าน ทำงานภายใต้ฐานข้อมูล และฟื้นฟู “บ้านอิ่มใจ” เพื่อมีพื้นที่ให้คนไร้บ้านได้พำนักชั่วคราว เป็นศูนย์คัดกรอง และช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในกรุงเทพมหานคร

Advertisement
(จากซ้าย) อนรรฆ พิทักษ์ธานิน ผู้จัดแผนงานพัฒนาองค์ความรู้ฯ สุขภาวะคนไร้บ้าน สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สสส., ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ (ดร.ยุ้ย) และศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯกทม.

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การทำงานกับแผนงานสนับสนุนองค์ความรู้เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะและคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบการเข้าสู่ภาวะไร้บ้านเป็นเวลานาน เสี่ยงทำให้มีปัญหาทางสุขภาพกายและจิตใจสูงขึ้นจากการใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ และโควิด-19 ส่งผลให้คนไร้บ้านในกรุงเทพฯ สูงขึ้นกว่าร้อยละ 30 จากคนไร้บ้าน 1,307 คน เพิ่มเป็น 1,700-1,800 คน ขณะที่คนไร้บ้านทั่วประเทศเพิ่มขึ้น 4,000 คน

“สสส. เร่งดำเนินการสิ่งจำเป็น บรรเทาปัญหาคนไร้บ้านที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพราะหากปล่อยให้เกิดการเข้าสู่ภาวะไร้บ้านเป็นเวลานาน จะทำให้มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพกายและจิตใจที่สูงขึ้น” นางภรณีกล่าว

นางภรณีกล่าวว่า สสส.จึงได้สนับสนุนการดำเนินงาน 5 ด้านร่วมกับมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยและภาคีเครือข่าย ได้แก่

Advertisement

1.ด้านความมั่นคงทางอาหาร การจัดทำครัวกลาง จำหน่ายอาหารราคาถูก

2.ด้านที่อยู่อาศัย พัฒนาศูนย์พักคนไร้บ้านใน 4 พื้นที่ กรุงเทพมานคร ปทุมธานี เชียงใหม่ และขอนแก่น ให้มีกระบวนการพัฒนาศักยภาพรายบุคคลให้ตั้งหลักชีวิตได้ มีความสามารถในการอยู่ร่วมกับคนอื่น และประสานงานกับภาคส่วนต่างๆ ได้

3.ด้านบริการสาธารณสุข สนับสนุนเวชภัณฑ์ที่จำเป็นการรับรองสิทธิในการเข้าถึงบริการสุขภาพ

4.การจัดตั้งจุดประสานงานเพื่อช่วยเหลือคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะ เพื่อจัดทำฐานข้อมูลประชากรกลุ่มเปราะบาง ดำเนินการติดตามคนไร้บ้านและช่วยเหลือให้ข้อมูลข่าวสารกับคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะ

5.ด้านการประกอบอาชีพเพื่อให้คนไร้บ้านสามารถพึ่งพาตัวเองได้ และกลับคืนสู่ครอบครัวและชุมชน

“การเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ลดความเสี่ยงจากการใช้ชีวิตบนพื้นที่สาธารณะ สสส.จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายพัฒนา ‘นวัตกรรมการจัดบริการที่อยู่อาศัยและความช่วยเหลือฉุกเฉินบนฐานการมีส่วนร่วมของคนไร้บ้าน’ หรือโครงการ ‘ที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง’ เพื่อจัดการที่อยู่อาศัยผ่านการมีส่วนร่วมของคนไร้บ้านในรูปแบบ ‘แชร์’ ค่าเช่าที่อยู่อาศัย ร่วมกับกองทุนที่เครือข่ายคนไร้บ้านและมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย โดยคนไร้บ้านต้องสมทบค่าเช่าร่วมกับโครงการ ในสัดส่วน 60:60 ของค่าเช่าห้อง ซึ่งส่วนเพิ่มร้อยละ 20 ของการสมทบจากคนไร้บ้าน จะนำไปเป็นเงินกองทุนช่วยเหลือสมาชิกกลุ่มด้านอื่นๆ

การดำเนินการตั้งแต่เดือน ก.พ.-เม.ย.ที่ผ่านมา พบคนไร้บ้านกลุ่มเป้าหมายเข้าถึงที่อยู่อาศัย 30 คน และมีกองทุนสะสมเครือข่ายกว่า 3 หมื่นบาท เดือน พ.ค.-ก.ค. มีผู้สนใจเข้าร่วมอีก 20 คน และเดือน มิ.ย.-ส.ค. จะเพิ่มอีก 10 คน สะท้อนว่าโครงการนี้ช่วยให้เข้าถึงที่อยู่อาศัย ทำให้คนไร้บ้านเข้าถึงงาน และรายได้ที่เพียงพอ มีเงินออม มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น เป็นพื้นฐานสำคัญของการตั้งหลักชีวิต ความสำเร็จที่เกิดขึ้นชี้ชัดว่า คนไร้บ้านมีศักยภาพหากได้โอกาสและการสนับสนุน จุดเริ่มต้นที่ดีนี้ สสส.เชื่อว่าจะเป็นพลังสำคัญลดจำนวนคนในอนาคตได้” นางภรณีกล่าว

นายอนรรฆ พิทักษ์ธานิน ผู้จัดการแผนงานพัฒนาองค์ความรู้ฯ สุขภาวะคนไร้บ้าน สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า สถานการณ์โควิด-19 ทำให้จำนวนคนไร้บ้านหน้าใหม่ในกรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้น จนศูนย์พักคนไร้บ้านของภาครัฐและภาคประชาสังคมในปัจจุบันไม่เพียงพอกับการรองรับ ส่งผลให้คนไร้บ้านและกลุ่มเปราะบางจำนวนมาก ต้องเจอความเสี่ยงจากการใช้ชีวิตในที่สาธารณะ นวัตกรรมที่อยู่อาศัย “คนละครึ่ง” เกิดขึ้นจากเป็นความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ที่พยายามช่วยเหลือเรื่องที่อยู่อาศัยสำหรับคนไร้บ้าน ที่จะนำไปสู่การตั้งหลักชีวิตในระยะยาว

“วันนี้เป็นนิมิตหมายอันดี ที่ผู้บริหารของกรุงเทพมหานคร เห็นความสำคัญของการสนับสนุนช่วยเหลือคนไร้บ้าน และการป้องกันการเข้าสู่ภาวะไร้บ้าน จากนโยบายเกี่ยวกับคนไร้บ้านที่ครอบคลุมทั้งการฟื้นบ้านอิ่มใจที่จะเป็นศูนย์พักฉุกเฉินสำหรับคนไร้บ้านและกลุ่มเปราะบาง รวมถึงการเข้าถึงสวัสดิการ และการเข้าถึงงานและรายได้ที่เพียงพอ ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมระดับเมือง ที่จะเป็นระบบคุ้มครองทางสังคมของเมือง ที่มิได้ช่วยเหลือสนับสนุนแต่เพียงคนไร้บ้านหรือคนไร้บ้านหน้าใหม่เท่านั้น หากแต่รวมถึงประชากรเปราะบางทางเศรษฐกิจสังคมในกรุงเทพฯ ทุกคน

ในส่วนประเด็นนโยบายเกี่ยวกับคนไร้บ้าน ที่อยากเสนอผู้บริหารกรุงเทพมหานครชุดใหม่เพิ่มเติม ได้แก่ การทำระบบฐานข้อมูลคนไร้บ้านในกรุงเทพมหานครที่ครอบคลุม ที่จะช่วยให้เกิดการสนับสนุนและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตคนไร้บ้านและกลุ่มเปราะบางต่อภาวะไร้บ้านที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการพัฒนาการสนับสนุนระบบการเช่าที่อยู่อาศัยสำหรับกลุ่มเปราะบางต่อภาวะไร้บ้านและคนไร้บ้านหน้าใหม่ ควบคู่กับการทำงานเชิงรุกทั้งการช่วยเหลือฉุกเฉินในพื้นที่สาธารณะและการค้นหากลุ่มเปราะบางต่อภาวะไร้บ้านในชุมชน ที่จะมีส่วนอย่างสำคัญในการป้องการการเข้าสู่ภาวะไร้บ้านในระยะยาว ซึ่งภายใต้บทบาทหน้าที่และศักยภาพของกรุงเทพมหานครสามารถดำเนินการได้อยู่แล้ว และมีภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วนพร้อมร่วมทำงานขับเคลื่อนเพื่อการสร้างโอกาสให้กับคนไร้บ้านบนฐานของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” นายอนรรฆกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image