ผู้ว่าฯบุรีรัมย์-ปลัด สธ. ร่วมเปิด ‘มหกรรม 360 องศา ปลดล็อคกัญชาฯ’ คาดปี’68 มูลค่าพุ่ง 1.5 หมื่นล้าน

ผู้ว่าฯบุรีรัมย์-ปลัด สธ. ร่วมเปิดมหกรรม 360 องศา ขานรับนโยบายปลดล็อกกัญชา คาดปี’68 มูลค่าพุ่ง 1.5 หมื่นล้าน

เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ที่สนามช้าง อินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงาน “มหกรรม 360 องศา ปลดล็อคกัญชา ประชาชนได้อะไร” ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-12 มิถุนายน ตั้งแต่เวลา 09.00-16.30 น.

โดยมี นายธัชกร หัตถาธยากูล ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์, นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข, น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นพ.มล.สมชาย จักรพันธุ์ ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.), พล.ต.ท.สมประสงค์ เย็นท้วม ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย คณะรัฐมนตรี และคณะผู้บริหาร ผู้ตรวจการ กระทรวงสาธารณสุข และผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วประเทศ ร่วมด้วย

บรรยากาศเวลา 10.00 น. สนามช้าง อินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต มีการฉายวีดิทัศน์ “มหกรรม 360 องศา ปลดล็อคกัญชา ประชาชนได้อะไร” เนื้อหาบอกเล่าถึงการปลดล็อกกัญชาโดยไม่ต้องขออนุญาต เพียงจดแจ้งผ่านแอพพ์ ‘ปลูกกัญ’ โดยขั้นตอนคือ 1.ลงทะเบียน 2.แจ้งวัตถุประสงค์ และ 3.รับเอกสารจดแจ้ง เพื่อใช้เป็นแหล่งข้อมูลในการเชื่อมโยงทางการแพทย์ และภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับกัญชา ไปจนถึงมูลค่าการตลาด ในปี 2564 มูลค่า 600 ล้านบาท โดยคาดว่าปี 2568 จะเพิ่มขึ้นกว่า 15,000 ล้านบาท ทั้งยังมีส่วนช่วยในการดึงดูดนักท่องเที่ยว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้บริหารโรงพยาบาลจากทั่วประเทศ กลุ่มแพทย์ และ อสม. เดินทางมาร่วมรับนโยบายปลดล็อกกัญชา โดยนั่งบนสแตนด์สนามช้างฯ เซอร์กิต ซึ่งบรรจุคนได้ 8,500 คน แต่วันนี้มีผู้มาร่วมล้นหลาม ทะลุ 30,000 คน

จากนั้นเวลา 10.07 น. นายธัชกร หัตถาธยากูล ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวต้อนรับความว่า ในนามชาว จ.บุรีรัมย์ รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ท่านได้เสียสละเวลาอันมีค่ายิ่ง เดินทางมาที่ จ.บุรีรัมย์ ทั้งนี้ จ.บุรีรัมย์ ได้บูรณาการทุกภาคส่วนในการทำให้นโยบายของกระทรวงสาธารณสุขบรรลุเป้าหมาย ใช้กัญชาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ตลอด 3 ปีที่ผ่านมาเราดำเนินนโยบายให้กัญชาเป็นพืชสมุนไพร รักษาโรคบางโรค ทำให้เป็นพืชเศรษฐกิจ ด้วยการปลูกและนำไปใช้ ขาย

นายธัชกรกล่าวว่า เราจัดงานพันธุ์บุรีรัมย์ 2 ครั้ง เป็นฤกษ์ดีที่รัฐบาลได้ปลดล็อก เราจึงจัดงาน “มหกรรม 360 องศา ปลดล็อคกัญชา ประชาชนได้อะไร” ครั้งนี้ ให้ผู้ที่สนใจได้มาศึกษาองค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อให้นโยบายของกระทรวงสาธารณสุขสัมฤทธิผลมากที่สุด

Advertisement

“ในนามพี่น้องบุรีรัมย์ขอต้อนรับท่านเข้าสู่ จ.บุรีรัมย์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง และอยากนำเรียนว่า จ.บุรีรัมย์ของเรา สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่ในระดับดีมาก เราอยู่ในสภาวะควบคุมได้ ขอให้นอนฝันดี มีความสุขในงานนี้ ด้วยความยินดี” นายธัชกรกล่าว

ธัชกร หัตถาธยากูล ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์

ต่อมาเวลา 10.15 น. นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวรายงานวัตถุประสงค์และแนวทางการจัดงาน ระบุว่า ตามที่ท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามปลดพืชกัญชาออกจากรายการยาเสพติดให้โทษ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 และจะมีผลบังคับใช้ภายใน 120 วัน หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยการลงนามปลดพืชกัญชาออกจากรายการยาเสพติด มีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนสามารถนำมาใช้ดูแลสุขภาพตนเองเบื้องต้น และต่อยอดเศรษฐกิจครอบครัว

นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า หลังจากประเทศไทยเปิดโอกาสให้นำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ตั้งแต่ปี 2562 กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นเจ้าภาพหลักในเรื่องนี้ได้มีการติดตามประสิทธิผลและความปลอดภัยของการใช้ยากัญชาในการรักษาโรคต่างๆ การเข้าถึงยากัญชาทางการแพทย์ของประชาชน มีการเปิดคลินิกกัญชาในหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงการติดตามเรื่องความกังวลของสังคม ไม่ว่าจะเป็นการส่งผลต่อจิตประสาท หรือการเสพติดนั้น กระทรวงสาธารณสุขได้มีระบบการรักษาและกำกับติดตามผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาในคลินิกกัญชาทางการแพทย์ ซึ่งพบว่า ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาด้วยยากัญชามากขึ้น และมีความปลอดภัยสูง

ปลัด สธ.กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ การให้ความรู้ ความเข้าใจกับประชาชนก็เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะเมื่อประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจ จะเป็นภูมิคุ้มกันสำคัญในการทำให้กัญชาถูกใช้ประโยชน์อย่างถูกต้อง ดังนั้น ผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุขจึงมีนโยบายเร่งดำเนินการในเรื่องนี้ โดยเน้นทำให้เร็วและครอบคลุม ทำให้ทันก่อนที่ประชาชนจะเริ่มปลูกเองได้ เพราะประชาชนต้องมีความรู้ ตั้งแต่เรื่องโรคที่สามารถใช้กัญชาในการดูแลสุขภาพตนเองเบื้องต้น สายพันธุ์ต่างๆ ของกัญชา วิธีการปลูก และการใช้ยา หรือการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากกัญชา จึงกำหนดให้มีการจัดประชุมวิชาการกัญชาทางการแพทย์ขึ้นใน 12 เขตสุขภาพทั่วประเทศ ในงานนี้มีการประชุมวิชาการทั้งภาคประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งตลอดการจัดงานทั้ง 3 วัน โดยมีเป้าประสงค์เพื่อให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนมากที่สุด

“การดำเนินงานของเขตสุขภาพที่ 9 ซึ่งประกอบไปด้วย จ.นครราชสีมา, บุรีรัมย์, สุรินทร์ และชัยภูมิ เป็นเขตสุขภาพที่มีความเข้มแข็งในการขับเคลื่อนกัญชาเสรีทางการแพทย์ โดย นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 9 และนายแพทย์สาธารณสุขทั้ง 4 จังหวัด มีการดำเนินการทั้งในส่วนต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ

“ในส่วน ต้นน้ำ มีการปลูกกัญชาถึง 53 แห่ง ปลูกกัญชงถึง 93 แห่ง, กลางน้ำ มีโรงพยาบาล GMP คือโรงพยาบาลคูเมือง ที่มีศักยภาพผลิตยากัญชา ทั้งแผนปัจจุบันและแผนไทย เพื่อสนับสนุนทั้งเขตสุขภาพที่ 9 และเขตสุขภาพอื่นๆ ด้วย ส่วน ปลายน้ำ สามารถเปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์ในโรงพยาบาลภาครัฐครบทุกแห่ง คลินิกกัญชาทางการแพทย์ภาคเอกชน 9 แห่ง ซึ่งทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยากัญชาทั้งแผนไทย แผนปัจจุบัน ซึ่งจุดเด่นของเขตสุขภาพที่ 9 คือผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยากัญชาแผนปัจจุบันมากที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่มโรคผู้ป่วยระยะประคับประคอง (Palliative Care)” ปลัด สธ.ระบุ

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข

นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า นอกจากนี้ ยังขยายไปถึงการขับเคลื่อนถึงเศรษฐกิจ การพัฒนานำไปผสมในอาหาร เช่น ลูกชิ้นยืนกินของ จ.บุรีรัมย์, หมี่โคราชของ จ.นครราชสีมา, กาละแมของ จ.สุรินทร์, หม่ำของ จ.ชัยภูมิ เพื่อเพิ่มมูลค่าในผลิตภัณฑ์ของดีของแต่ละจังหวัด นอกเหนือจากการประชุมวิชาการแล้ว ยังมีนิทรรศการความรู้ที่มีทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่มีผลงานโดดเด่นมาร่วมจัดแสดงให้ประชาชนได้เห็น สัมผัส ชิม และลงมือทำ

นพ.เกียรติภูมิกล่าวต่อว่า “สถาบันกัญชาทางการแพทย์” เป็นหน่วยงานที่จะประสานให้มีการนำกัญชาไปใช้ประโยชน์ทางสุขภาพ ประชาชนสามารถมาสอบถามเรื่องการรักษา และการต่อยอดทางเศรษฐกิจได้ “สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา” มาเปิดบริการให้คำปรึกษาเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการขออนุญาตการปลูกเชิงพานิชย์ได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งมีการเปิดตัวการใช้แอพพลิเคชั่น “ปลูกกัญ” ซึ่งเป็นการรับจดแจ้งสำหรับประชาชนที่ประสงค์ปลูกกัญชา “กรมการแพทย์และกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก” จัดนิทรรศการการรักษาด้วยยากัญชา พร้อมทั้งให้คำปรึกษาเรื่องโรคและยากัญชา

นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า “กรมสุขภาพจิต” ให้คำปรึกษา ให้ความรู้และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างปลอดภัย “กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์” จะมาให้ความรู้เรื่องสายพันธุ์กัญชา การตรวจวิเคราะห์สารต่างๆ ยังมีหน่วยงานจากกระทรวงอื่นๆ เช่น กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาร่วมให้ความรู้ในการปลูกกัญชากัญชง “สำนักงานการศึกษานอกโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ” จะนำหลักสูตรการอบรม การแปรรูปกัญชามาจัดแสดง ผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนเรียนได้ภายในงาน

นพ.เกียรติภูมิกล่าวด้วยว่า “คลินิกกัญชาทางการแพทย์” ในส่วนของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ สามารถพูดคุยกับแพทย์ได้โดยตรง รวมทั้งการจัดบริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์ ทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย ให้ผู้ป่วยมาตรวจรักษาและรับยากลับบ้าน ซึ่งโรค หรือภาวะที่กรมการแพทย์ให้แนวทางแนะนำว่าใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์แล้วได้ประโยชน์ ซึ่งผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มนี้ใช้ยารักษาปกติอยู่แล้วไม่ได้ผล หรือต้องการมารับการรักษาด้วยยากัญชาเพื่อเป็นทางเลือกก็สามารถมาตรวจรักษาได้ในงาน

“บัดนี้ ได้เวลาอันสมควรแล้ว ขอเรียนเชิญท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเปิดพิธีเปิดการสัมมนาทางวิชาการมหกรรม 360 องศา ปลดล็อคกัญชา ประชาชนได้อะไร ระหว่างวันที่ 10-12 มิถุนายน 2565 และมอบนโยบายต่อหน่วยงานสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 9 ต่อไป” นพ.เกียรติภูมิกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image