“เอนก” เดินหน้าหารือ “เซิร์น” เปิดทางนักวิทยาศาสตร์ไทยร่วมงาน-ปันประสบการณ์

“เอนก” เดินหน้าหารือ “เซิร์น” เปิดทางนักวิทยาศาสตร์ไทยร่วมงาน-ปันประสบการณ์กับนักวิจัยเซิร์น เรียนรู้ความก้าวหน้าด้านฟิสิกส์พลังงานสูงและฟิสิกส์อนุภาค

เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. รศ.ดร.สาโรช รุจิรวรรธณ์ ผอ.สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (สซ.) ดร.ปกรณ์ อาภาพันธ์ ผอ.สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (จิสด้า) ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผอ.หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนฯ (บพค.) และ ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ กรรมการ สซ. ได้เดินทางไปหารือความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่สถาบันวิจัยเซิร์น (Conseil Européen pour la Recherche Nucléaire, CERN) เมืองเจนีวา สหพันธรัฐสวิส โดยมี ผศ.ดร.นรพัทธ์ ศรีมโนภาษ และ ดร.ชญานิษฐ์ อัศวตั้งตระกูลดี จากภาควิชาฟิสิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สองนักวิจัยไทยผู้ร่วมวิจัยในสถานีวิจัย Compact Muon Solenoid (CMS) ของเซิร์นร่วมให้การต้อนรับ

ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เปิดเผยว่า “เซิร์น” เป็นสถาบันวิจัยฟิสิกส์พื้นฐานระดับโลก มีบทบาทสำคัญในการสร้างความตระหนักและเผยแพร่ความรู้ด้านฟิสิกส์อนุภาค เป็นแหล่งรวมนักวิจัย วิศวกร และนักฟิสิกส์ชั้นนำของโลกในการออกแบบ จัดสร้างเครื่องเร่งอนุภาค  เครื่องตรวจวัดอนุภาค และวิจัยทั้งทางทฤษฎีและการทดลองด้านฟิสิกส์อนุภาค รวมถึงการวิจัยที่เป็นฟิสิกส์แนวหน้า (Frontier Physics) ความร่วมมือระหว่างไทยกับเซิร์นเกิดขึ้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่สนพระทัยในความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของเซิร์น ทรงมีพระราชดำริที่จะให้นักวิทยาศาสตร์จากประเทศไทยได้มีโอกาสทำงานวิจัยร่วมกับนักวิจัยที่เซิร์น ทรงเสด็จนำคณะนักวิทยาศาสตร์ไทยไปเยือนเซิร์นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543  จนถึงปัจจุบันเป็นจำนวน 6 ครั้ง และเป็นองค์อุปถัมภ์ให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและเซิร์นเป็นอย่างดีมาโดยตลอด

Advertisement

รมว.อว.กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน ไทยและเซิร์นมีกิจกรรมร่วมกันใน 5 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการคัดเลือกนักศึกษาและครูสอนฟิสิกส์เพื่อเข้าร่วมโปรแกรมภาคฤดูร้อนเซิร์น 2. โครงการจัดส่งนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายไปศึกษาดูงานที่เซิร์น 3. โครงการ National e-Science Infrastructure Consortium 4. โครงการส่งเสริมการจัดกิจกรรมวิชาการที่เกี่ยวข้องกับเซิร์น และ 5. โครงการส่งเสริมนักศึกษาปริญญาโท-เอก นักวิจัยไปทำงานวิจัย ณ เซิร์น และพัฒนาให้เกิดการทำวิจัยร่วมกับเซิร์น

“การเดินทางมาที่เซิร์นในครั้งนี้ ตนและคณะได้หารือแนวการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานวิจัย และมหาวิทยาลัยของประเทศไทยกับเซิร์น ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศไทยได้เรียนรู้ความก้าวหน้าในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสาขาเกี่ยวกับฟิสิกส์พลังงานสูงและฟิสิกส์อนุภาค เช่น ให้นักวิทยาศาสตร์ไทยได้มีโอกาสทำงานร่วมกับนักวิจัยของเซิร์น สามารถเข้าถึงการใช้เครื่องมือและข้อมูลที่มีความทันสมัย ได้เรียนรู้เกี่ยวกับเครื่องเร่งอนุภาค เครื่องตรวจวัดอนุภาค และซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้หารือถึงความร่วมมือในการส่งเสริมและพัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในระดับต่าง ๆ เพื่อให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์ นำมาซึ่งการยกระดับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย และการสร้างกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าว

Advertisement

ทั้งนี้ สถาบันวิจัยเซิร์นก่อตั้งขึ้นในปี 2497 โดยมีประเทศสมาชิกก่อตั้ง 12 ประเทศ เป็นองค์กรระหว่างประเทศในยุโรป โดยเมื่อปี พ.ศ. 2552 เซิร์นได้ประสบความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ในการเดินเครื่องเร่งอนุภาคแบบวงกลมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ที่เรียกว่า เครื่องเร่งอนุภาค LHC (Large Hadron Collider) มีเส้นรอบวง 27 กิโลเมตรอยู่ในอุโมงค์ลึกใต้ผิวดิน 100 เมตร ในพรมแดนทั้งสวิตเซอร์แลนด์และฝรั่งเศส เครื่องเร่งอนุภาค LHC เป็นเครื่องอนุภาคโปรตอน ที่มีพลังงานได้สูงสุดถึง 7 TeV ประกอบด้วยสถานีวิจัยที่สำคัญ 4 สถานี ได้แก่ ATLAS, CMS, ALICE, LHCb เพื่อศึกษาถึงผลของการชนกันของลำอนุภาคโปรตอน ซึ่งเป็นการจำลองเหตุการณ์บิ๊กแบง (Big Bang) ที่เป็นจุดกำเนิดของจักรวาล โดยคาดว่าจะทำให้ค้นพบอนุภาคที่เป็นที่มาของอนุภาคมูลฐานของสสารได้ อันนำไปสู่การไขความลับเกี่ยวกับการกำเนิดจักรวาล (ดูอ้างอิง: https://home.cern/)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image