กทม.เร่งรัดโครงการทางลอดย่านฝั่งธนบุรี ย้ำความปลอดภัยผู้ใช้รถ-คนเดิน

กทม.เร่งรัดโครงการทางลอดย่านฝั่งธนบุรี ย้ำความปลอดภัยผู้ใช้รถ-คนเดิน

วันนี้ (10 มิถุนายน) นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางลอดในพื้นที่ฝั่งธนบุรี ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างทางลอดถนนจรัญสนิทวงศ์-ถนนพรานนก และโครงการก่อสร้างทางลอดรัชดา-ราชพฤกษ์ โดยมีผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักการโยธา เจ้าหน้าที่ควบคุมงาน และผู้รับจ้างโครงการ ร่วมลงพื้นที่และรายงานข้อมูล

นายณรงค์กล่าวว่า กทม.โดยสำนักการโยธา ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างทางลอดถนนจรัญสนิทวงศ์-ถนนพรานนก ความยาวรวม 1,250 เมตร (ม.) ขนาด 2 ช่องจราจร 2 ทิศทาง ความกว้างประมาณ 10 ม. ความสูงภายในทางลอด 5 ม. ความยาวทางลอดประมาณ 600 ม. จุดเริ่มต้นโครงการบริเวณซอยจรัญสนิทวงศ์ 27 ถึงซอยจรัญสนิทวงศ์ 37 ที่ผ่านมา ได้มีการปรับแผนงานก่อสร้าง รวมถึงปรับโครงสร้างทางลอดเพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างและระยะความสูงของสถานีรถไฟฟ้า เนื่องจากการติดตั้งค้ำยันเพื่อป้องกันการเคลื่อนตัวของโครงสร้างสถานีรถไฟฟ้าเป็นอุปสรรคในการขุดดิน ปัจจุบันผลงานในภาพรวมทำได้ ร้อยละ 84 โดยงานก่อสร้างพื้นและหลังคาอุโมงค์เสร็จเรียบร้อยแล้วทั้งหมด ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งรัดงานระบบภายในทางลอด ทั้งในส่วนของระบบไฟฟ้า ระบบดับเพลิง และระบบระบายน้ำ พร้อมทั้งเก็บความเรียบร้อยพื้นผิวจราจรบริเวณทางแยกและส่วนต่อเนื่อง คาดว่าจะสามารถเปิดการจราจรทางลอดดังกล่าวได้ตามแผนงานที่กำหนดภายในเดือนสิงหาคม 2565

Advertisement

“ส่วนโครงการก่อสร้างทางลอดรัชดา-ราชพฤกษ์ ประกอบด้วย งานก่อสร้างทางลอด 4 ช่องจราจร ความกว้างทางลอด 16.40 ม. (กว้างช่องละ 3.25 ม.) ความยาวทางลอดประมาณ 1,025 ม. ส่วนที่มีหลังคาคุมยาวประมาณ 500 ม. พร้อมระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ระบบระบายน้ำ ระบบดับเพลิง และทำการปรับปรุงขยายผิวจราจรส่วนต่อเนื่อง รวมความยาวทั้งโครงการ 1,515 ม. อย่างไรก็ตาม ปัญหาอุปสรรคที่ผ่านมาส่งผลทำให้โครงการล่าช้า อาทิ การขออนุมัติแผนการจัดการจราจร เพื่อปิดพื้นผิวจราจรในการก่อสร้าง มีท่อประปาเดิมใต้ดินขนาด 800 มิลลิเมตร (มม.) ตลอดแนวกึ่งกลางทางลอด และขนาด 1,000 มม. บริเวณกลางแยก ทำให้ไม่สามารถก่อสร้างผนังทางลอดได้ในบางส่วน และไม่สามารถขุดดินทางลอดได้ทั้งหมด ตลอดจนมีคำสั่งปิดสถานที่ก่อสร้างเป็นการชั่วคราวและตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ห้ามออกนอกเคหสถาน ปัจจุบันผลงานโดยภาพรวมทำได้ ร้อยละ 78 เป็นการก่อสร้างโครงสร้างหลักตัวอุโมงค์ ประกอบด้วย ผนังทางลอด หลังคาทางลอด พื้นทางลอด แล้วเสร็จทั้งหมด คงเหลือเฉพาะงานบ่อสูบน้ำใต้พื้นทางลอดที่จะก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2565” นายณรงค์กล่าว

รองปลัด กทม.กล่าวว่า ในส่วนของแผนการดำเนินงานตามงานหลักที่สำคัญในส่วนที่เหลือ ได้แก่ 1.งานตกแต่งและฉาบผนังทางลอด เริ่มดำเนินการเดือนมิถุนายน 2565 จะแล้วเสร็จเดือนกรกฎาคม 2565 2.งานราวกันชน ค.ส.ล. เริ่มดำเนินการเดือนพฤษภาคม 2565 จะแล้วเสร็จเดือนกรกฎาคม 2565 3.งานระบบไฟฟ้า ระบบระบายน้ำ ระบบดับเพลิง และระบบระบายอากาศ เริ่มดำเนินการเดือนมิถุนายน 2565 จะแล้วเสร็จเดือนสิงหาคม 2565 4.งานปูผิวแอสฟัลต์และงานจราจรสงเคราะห์ เริ่มดำเนินการเดือนสิงหาคม 2565 จะแล้วเสร็จเดือนกันยายน 2565 โดยจะเร่งรัดดำเนินงานก่อสร้างให้เป็นไปตามแผนงาน คาดว่าจะสามารถเปิดใช้การจราจรทางลอดได้ภายในเดือนกันยายน 2565

Advertisement

ทั้งนี้ นายณรงค์ได้กำชับให้ผู้รับจ้างและเจ้าหน้าที่โครงการ เร่งรัดโครงการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามแผนงานที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะในส่วนของโครงสร้างหลัก เช่น พื้นทางลอด หลังคาทางลอด หากแล้วเสร็จให้เปิดการจราจร เพื่อบรรเทาปัญหาจราจรติดขัด จากนั้นให้ทยอยเก็บรายละเอียดของงานในส่วนที่เหลือ รวมถึงเตรียมความพร้อมในการป้องกันปัญหาการระบายน้ำหากเกิดสถานการณ์ฝนตกหนัก การทำความสะอาดพื้นที่โครงการให้เป็นระเบียบเรียบร้อย พร้อมทั้งเน้นย้ำเรื่องการปฏิบัติตามมาตรการด้านความปลอดภัยในพื้นที่โครงการก่อสร้างและบริเวณโดยรอบอย่างเคร่งครัด เช่น การจัดระเบียบแนว Barrier แผงติดตั้งผ้าใบ การติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่าง ไฟสัญญาณป้ายเตือน มีพื้นที่สำหรับจุดกลับรถ จัดทำทางข้ามชั่วคราวระหว่างดำเนินการก่อสร้าง เพื่อเพิ่มความปลอดภัยต่อประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนในเส้นทางดังกล่าว การซ่อมแซมคืนพื้นผิวจราจรในพื้นที่โครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จเป็นช่วงๆ การปรับปรุงทางเท้า เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางได้อย่างสะดวกและปลอดภัยตลอดแนวพื้นที่โครงการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image