วงเสวนาถามอนุทิน รับผิดชอบไหวหรือไม่ ผลกระทบจากกัญชา สุดห่วง! เมาแล้วขับ

วงเสวนาถามอนุทิน รับผิดชอบไหวหรือไม่ ผลกระทบจากกัญชา สุดห่วง! เมาแล้วขับ

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2565 ที่โรงแรมแมนดาริน สามย่าน เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง มูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต และมูลนิธิเมาไม่ขับ ร่วมกันจัดเสวนา หัวข้อ “นโยบายกัญชาเสรีกับปัญหาอุบัติเหตุเสพ(เมา)แล้วขับและการปกป้องเด็กและเยาวชนไทย”

นายสุรสิทธิ์ ศิลปะงาม ผู้จัดการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวว่า ไม่ได้คัดค้านการใช้กัญชาทางการแพทย์ แต่ขณะนี้คนทำงานเรื่องนี้กำลังช็อก เพราะตอนแรกก็เน้นการใช้ทางการแพทย์ เพื่อลดใช้ยาต่างประเทศ แต่ในทางปฏิบัติไม่ได้เป็นไปตามนั้น เพราะปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติดทั้งที่ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. … ยังไม่มีผลมาบังคับใช้ ซึ่งคาดว่าใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน

“เผลอๆ รัฐบาลชุดนี้หมดวาระลงไปก่อนด้วยซ้ำ จะทำให้ช่วงเวลาก่อนที่ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จะออกมากลายเป็นหลุมดำขนาดใหญ่ ที่น่าห่วงคือ การใช้ในเด็ก เยาวชน ในโรงเรียน ขนาดยาบ้ามีกฎหมายควบคุมไว้ยังพบการลักลอบใช้ในโรงเรียน นี่มีกัญชาเข้ามาอีก อีกปัญหาที่น่ากังวลคือ การเมากัญชาแล้วขับ ซึ่งกรณีที่เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ออกมาพูดก่อนหน้านี้ว่า คนใช้กัญชาไม่ขับรถนั้น เป็นการพูดจากข้อมูล 40-50 ปีก่อน ตอนนี้มีการใช้หลายแบบ มีสูตรผสมต่างๆ ที่อันตราย และคนใช้ก็มีหลายประเภท บางคนง่วงหลับ บางคนครึกครื้น ดังนั้นในช่วงนี้รัฐบาลต้องเอาจริงในการหารือสั่งการกระทรวงมหาดไทย (มท.) ให้สั่งการกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คอยดูแลไม่ให้มีการเอากัญชาไปใช้ในทางที่ผิด รัฐก็ต้องควบคุมเพราะตอนนี้เสรีมากเกินไป” นายสุรสิทธิ์กล่าว

นายสุรสิทธิ์กล่าวว่า ที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่า ไม่ได้ส่งเสริมให้มีการใช้สันทนาการ ให้ประชาชนใช้วิจารณญาณ และสอดส่องกันนั้น เป็นการผลักภาระให้ประชาชนเกินไป

Advertisement

“เป็นรัฐมนตรีว่าการ สธ.ไม่ควรพูดเช่นนี้ ต้องมีหน้าที่ปกป้องคุณภาพชีวิตของคนไทย เข้าใจนโยบายพรรคประกาศมาแต่แรก แต่นักการเมืองก็คือนักการเมือง ทำอะไรต้องมีขอบเขต ถ้าจะผลักกัญชาเป็นสินค้าทางการแพทย์ เพื่อดูแลคนป่วย ก็เอาทางด้านนั้นไปเลย หมอคงไม่ขัด แต่ตอนนี้นโยบายออกมาไม่มีใครพูดถึงทางการแพทย์ ไปพูดถึงแต่สันทนาการหมด ประเด็นถูกเบี่ยง เหมือนการเมืองนโยบายบรรลุแล้ว แต่ภาระทั้งหมดตกอยู่กับประชาชน แล้วอย่าลืมว่า ทุกวันนี้สังคมไทยอ่อนแอมาก รองนายกฯอนุทิน รับผิดชอบไหวหรือไม่” นายสุรสิทธิ์กล่าว

ด้าน นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก และที่ปรึกษามูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว กล่าวว่า นาทีนี้กัญชาไม่ใช่สารเสพติดประเภทที่ 5 (ยส.5) ตามคำประกาศอันศักดิ์สิทธิ์ผ่านทางรัฐมนตรีว่าการ สธ. นายอนุทิน ชาญวีรกูล แบบเรียบร้อยโรงเรียนพรรคภูมิใจไทยไปแล้ว ผลที่ตามมาคือ คนไทยตั้งแต่แก่ ยันเด็ก สามารถเข้าถึงกัญชาได้อย่างเสรี แต่สิ่งที่เปลี่ยนไม่ได้คือ สารเสพติดในช่อดอกกัญชา ทั้งนี้ ตนไม่คัดค้านกัญชาเพื่อการแพทย์ เพื่อสุขภาพ ส่วนกัญชาเพื่อเศรษฐกิจนั้นก็ไม่แน่ใจว่าเศรษฐกิจใครระหว่างทุนใหญ่กับชาวบ้าน ซึ่งทุกฝ่ายต้องจับตาและช่วยกันวิเคราะห์ แต่ที่ตนอยากรู้ว่ากัญชาเพื่อสันทนาการนั้น ใครจะรับผิดชอบและรับผิดชอบอย่างไร ไม่ให้เป็นหลุมดำหลุมใหม่ของเด็กและเยาวชน

“กัญชาเสมือนดาบที่คมกริบทั้ง 2 ด้าน คำถามคือ มาตราใดของร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. … ของพรรคภูมิใจไทย ที่แสดงถึงความผิดชอบทางจริยธรรมของพรรคการเมือง ของนักการเมืองกรณีการปกป้องเด็กและเยาวชนจากคมดาบที่คมกริบอีกด้านของกัญชา อย่าเอาเรื่องยา หรือสารต่างๆ มาแปรรูปเป็นสารเสพติดมาเป็นข้ออ้างสร้างความชอบธรรมให้วาทกรรม และกติกากัญชาเสรี โดยหลักการ รัฐต้องให้ความสำคัญหรือต้องควบคุมการเข้าถึง การซื้อ การขายกัญชาให้กับเด็กและเยาวชนอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่แนะนำให้ลดความต้องการหรือรู้จักใช้ ใช้ให้เป็นเช่นที่รัฐมนตรีว่าการ สธ.ให้สัมภาษณ์หลังมีข่าวผู้เสพกัญชาเสียชีวิต” นางทิชากล่าว

Advertisement

ขณะที่ รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) กล่าวว่า ขณะนี้มีร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ 2 ฉบับ ที่อยู่ในการแปรญัตติของคณะกรรมาธิการฯ โดยร่างฯของพรรคพลังประชารัฐนั้น ค่อนข้างรัดกุม โดยรวมเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ป้องกันการนำไปใช้สันทนาการ ส่วนร่างฯของพรรคภูมิใจไทย จะไม่ค่อยมีข้อห้ามเรื่องของการใช้สันทนาการนัก เช่น ไม่กำหนดปริมาณการครอบครองของแต่ละคน ซึ่งในต่างประเทศที่มีการเปิดใช้กัญชานั้นจะมีข้อกำหนดตรงนี้ และมีข้อกำหนดไม่ให้ปกปิดมิดชิด ไม่โชว์หน้าบ้าน เช่นที่สหรัฐอเมริกา ดังนั้น ประเทศไทยก็ต้องศึกษาประสบการณ์ของต่างประเทศที่เปิดใช้เสรี ซึ่งก็ยังมีปัญหาเรื่องผลกระทบ ไทยก็ไม่ควรเสรีไปมากกว่านั้น ถ้าเป็นไปได้ กฎหมายที่ออกมาก็อยากให้กำหนดปริมาณการครอบครอง กำหนดให้ช่อดอกยังคงเป็นยาเสพติด เพราะที่มีสารทีเอชซี (THC) สูง การปลูกนอกจากจดแจ้งแล้ว ควรกำหนดเรื่องการเก็บ หรือปิดไม่ให้นำมาแสดงให้เห็นได้โดยทั่วไป ทั้งนี้ ยืนยันว่าการที่หลายฝ่ายออกมาพูดถึงผลกระทบนั้นไม่ใช่การดิสเครดิตใคร เพราะเท่าที่ติดตาม คนที่ออกมาก็เป็นนักวิชาการ เป็นองค์กรวิชาชีพที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย แต่ที่ออกมาเพราะเป็นห่วงผลกระทบ ต้องการให้ร่วมกันหาทางนำกัญชามาใช้ให้เกิดประโยชน์ และปลอดภัยที่สุด

“กฎหมายต้องมีความรัดกุม ดีกว่าให้ประชาชนเลือกเอง หรือระมัดระวังตัวเอง เพราะกัญชาอยู่ในการควบคุมเข้มงวดมาเป็นเวลานาน คนรู้สึกอยากทดลองใช้ ร่วมกับข้อมูลต่างๆ ที่ออกมา คนอาจจะแห่เข้าไปใช้มากขึ้น ที่กังวลมากคือเด็กและเยาวชน และโดยนัยยะเราจะไม่ไปว่าคนที่ใช้กัญชา แต่ต้องมีการควบคุมการขาย ควบคุมการเข้าถึง เราเน้นมาตรการมากกว่าที่จะไปโทษคนใช้ หรือไปบอกเขาว่าทำไมไม่หัดใช้ให้ถูก เราได้แต่แนะนำว่าใช้อย่างไร ในขณะที่มาตรการของเราก็ต้องเข้มข้นด้วย เพื่อที่จะช่วยพิทักษ์ความปลอดภัยให้ประชาชน” รศ.พญ.รัศมนกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image