อนุทิน ย้ำ บัตรทอง พัฒนาอยู่เสมอ ทั้งในภาวะปกติ-วิกฤต

การมีอยู่ของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง หรือ 30 บาท รักษาทุกโรค มีไว้เพื่อสร้างหลักประกันว่า ทุกคนที่มีสัญชาติไทย อย่างน้อยจะต้องมี 1 สิทธิการรักษาพยาบาล หากไม่ได้ใช้สิทธิข้าราชการ หรือประกันสังคม ก็ยังมีบัตรทองเป็นหลักประกันสร้างความอุ่นใจว่า จะไม่มีใครล้มละลายจากการรักษาพยาบาล

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นความท้าทายของระบบบัตรทองอย่างยิ่ง เพราะต้องบริหารจัดการดูแลการรักษาพยาบาลของประชาชนในภาวะวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 ขณะเดียวกัน ก็ยังต้องพัฒนาสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่ไม่ใช่โควิด-19 เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการด้านสุขภาพที่ดีขึ้นด้วย

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจในรายการ “คุยเรื่องบ้าน คุยเรื่องเมือง คุยทุกเรื่องกับรัฐมนตรี” ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2565

Advertisement

อนุทิน ชี้ให้เห็นว่า สิทธิบัตรทองเป็นจุดแข็งอีก 1 จุด ของระบบการสาธารณสุขไทย การมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทำให้สามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 และกดอัตราการเสียชีวิตให้ต่ำได้ในเวลา 2 ปีที่ผ่านมา เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ชุมชนโลกให้ความเชื่อมั่นความสำเร็จในการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ระบาดในประเทศไทย

อนุทิน กล่าวถึงหลักการในการจัดการระบบสุขภาพในภาวะการระบาดว่า ใช้ข้อคิดที่ว่าไม่มีใครปลอดภัยจนกว่าทุกคนจะปลอดภัย ซึ่งผลพลอยได้ ไม่ใช่เพียงแค่สามารถที่ดูแลพี่น้องประชาชนในเรื่องของค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเท่านั้น แต่เป็นการลดความเหลื่อมล้ำ คนไทยไม่ว่าจะยากดีมีจน แต่ถ้าเป็นเรื่องของการรักษาพยาบาลจะต้องได้รับการดูแลอย่างเต็มที่ ในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าระบบบัตรทองมีการประเมินและปรับตัวต่อสถานการณ์ตลอดเวลา เช่น ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 รัฐจะต้องเข้ามาดูแลการรักษาพยาบาลให้กับพี่น้องประชาชนทุกคน เมื่อเชื้อกลายพันธุ์ มีอาการรุนแรง ทุกคนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหมด แต่ปัจจุบัน โควิด-19 เปลี่ยนสายพันธุ์เป็นโอมิครอนที่ติดเชื้อเร็ว แต่อาการไม่รุนแรง ผู้คนยังสามารถสัญจรไปมาได้ ไม่ต้องรักษาในโรงพยาบาล สธ. และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ปรับวิธีการใช้การดูแลแบบ Home Isolation มีการรักษาแบบ Tele medicine มีการโทรสอบถามอาการจากบุคลากรสาธารณสุขแล้วส่งยาถึงบ้าน ทำให้คนที่ติดเชื้อสามารถใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติอยู่ที่บ้านได้ รวมทั้งส่งผลให้โรงพยาบาลมีเตียงไว้สำหรับคนที่อาการหนักจริงๆ ทำให้อัตราการครองเตียงในโรงพยาบาลของผู้ป่วยโควิด-19 ในปัจจุบันต่ำกว่า ร้อยละ 20 อัตราการใช้เครื่องช่วยหายใจก็ยังมีจำนวนเหลือพอที่จะรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินได้ เหล่านี้คือ การปรับตัวตลอดเวลาในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ในช่วงที่ผ่านมา

อนุทิน กล่าวอีกว่า นอกจากการบริหารจัดการในสถานการณ์วิกฤตแล้ว ระบบหลักประกันสุขภาพยังมีการพัฒนาต่อยอดมาโดยตลอดโดยเฉพาะการเพิ่มสิทธิในการรักษาโรคต่างๆ สมัยก่อนมีอยู่หลายโรคที่ยังไม่ครอบคลุม มีหลายกิจกรรมที่ผู้ป่วยยังคงต้องใช้เงินของตัวเองในการรักษาพยาบาลอยู่ แต่นับตั้งแต่รัฐบาลชุดนี้ได้เข้ามาบริหารราชการแผ่นดินตั้งแต่กลางปี 2562 ก็พยายามปิดช่องโหว่ต่างๆ ปรับปรุงสิทธิและสวัสดิการต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น สิทธิฟอกไต สมัยก่อนฟรีเฉพาะผู้ที่ล้างไตทางหน้าท้อง และผู้ที่เข้าเกณฑ์การฟอกด้วยเครื่องไตเทียม แต่ถ้าหากเลือกฟอกด้วยเครื่องไตเทียมโดยไม่เข้าเกณฑ์ จะเสียเงินอยู่ 1,500 บาทต่อครั้ง ปกติต้องฟอก 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ เดือนหนึ่งประชาชนต้องใช้เงินถึงเกือบ 20,000 บาท ยังไม่รวมถึงค่าเดินทาง ค่าอาหารต่างๆ เป็นภาระอย่างมาก

Advertisement

“ตอนที่ยังต้องเสียเงินอยู่ คุณหมอที่ดูแลคลินิกฟอกไตมาบอกว่าถ้าไม่เร่งทำสิ่งเหล่านี้ จะมีคนที่จะต้องยอมตายเพราะว่าไม่สามารถเป็นภาระหรือหารายได้ที่จะมาดูแลการฟอกไตของตัวเองได้ พอฟังแล้วผมรีบหารือกับเลขาธิการ สปสช.ทันที และเสนอคณะกรรมการ สปสช.แล้ว ก็ดีใจมากที่คณะกรรมการ สปสช.มีมติเป็นเอกฉันท์ อนุมัติทันทีว่า จากนี้ไปคนไทยทุกคนที่ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย สามารถเลือกวิธีการล้างไตที่เหมาะสมกับตัวเองได้ ไม่บังคับว่าต้องล้างไตผ่านช่องท้องเป็นทางเลือกแรกเพียงอย่างเดียว หากเลือกฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม ก็สามารถใช้ระบบบริการหลักประกันสุขภาพได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น จนผมไปตรวจสถานบริการทั่วประเทศได้เห็นว่า รอยยิ้มมีมากขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น กำลังใจที่จะมีชีวิตอยู่มีมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเลย สิ่งนี้เกิดจากการออกพื้นที่แล้วได้รับฟังปัญหาซึ่งผมดีใจมากที่ได้มีส่วนร่วมในการผลักดันการฟอกไตฟรีและสามารถเพิ่มความสุขให้กับพี่น้องประชาชนได้” อนุทิน กล่าว

นอกจากนี้ เรื่องฟอกไตฟรีแล้ว สปสช.ยังให้ความใส่ใจต่อผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียง จากนี้ไปจะมีการจัดสวัสดิการผ้าอ้อมเพื่อให้ท่านเหล่านั้นได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นภาระให้กับผู้ดูแลน้อยลง เพราะถ้าอยู่ในสุขภาวะและสุขอนามัยที่ดี ผู้ป่วยติดเตียงผู้สูงอายุก็จะไม่เป็นภาระให้กับคนดูแล ไม่เป็นภาระจากสังคม และที่สำคัญที่สุด การติดเชื้อการเจ็บป่วยด้วยอาการข้างเคียงอื่นๆ ที่มาจากความไม่สะอาดของสิ่งแวดล้อมก็จะลดน้อยลง เช่นเดียวกับโรคมะเร็ง ขณะนี้โรคมะเร็งรักษาที่ไหนก็ได้แล้ว ในปีที่ผ่านมา สธ.ได้ลงทุนซื้อเครื่องฉายรังสีมากที่สุดในโลก ขณะนี้มีเครื่องฉายรังสีอยู่ทั่วภูมิภาคของประเทศ ผู้ป่วยสามารถไปรับการรักษาด้วยการฉายรังสี ด้วยเคมีบำบัดต่างๆ ในทุกโรงพยาบาล ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตามประเทศไทย ช่วยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชนอย่างมากมาย

“นี่คือตัวอย่างสิทธิบัตรทองที่ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ขึ้นมาเพื่อให้พี่น้องประชาชนให้มีความสะดวกเพิ่มมากขึ้น ผมบอกปลัด สธ., เลขาธิการ สปสช.เสมอว่า นโยบายที่มอบให้ขอให้เก็บทุกเม็ดครับ เก็บทุกเม็ดเพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ มีความมั่นคงในสุขภาพของตัวเอง และมั่นใจว่าสุขภาพของพี่น้องประชาชนได้รับการดูแลจากรัฐ” อนุทิน กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image