6 ก.ค.นี้ เปิดสภา กทม.ถกงบปี’66 กว่า 7.9 หมื่นล้าน วิรัตน์ ย้ำ! โปร่งใสพร้อมตรวจสอบ

6 ก.ค.นี้ เปิดสภา กทม.ถกงบปี’66 กว่า 7.9 หมื่นล้าน วิรัตน์ ย้ำ! โปร่งใสพร้อมตรวจสอบ

วันนี้ (20 มิถุนายน 2565) ที่ศาลาว่าการ กทม.(ดินแดง) นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร รับมอบเอกสารงบประมาณจากตัวแทนสำนักงบประมาณ กรุงเทพมหานคร (กทม.) และแถลงแนวทางการพิจารณางบประมาณปี 2566

นายวิรัตน์กล่าวว่า วันนี้สำนักงบประมาณ กทม.นำเอกสารร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 มาส่งมอบให้กับสภา กทม. เพื่อพิจารณาบรรจุเป็นวาระเพื่อพิจารณารายจ่ายประจำปี 2566 ของสภา กทม. ซึ่งจะมีการเปิดประชุมสภา กทม.สมัยสามัญประจำปี 2565 สมัยที่ 3 ในวันที่ 6 กรกฎาคม 2565 เป็นไปตามเงื่อนไขที่จะต้องส่งข้อบัญญัตินี้ก่อนจะสิ้นสุดงบรายจ่ายประจำปี 2565 หรือภายใน 90 วัน

นายวิรัตน์กล่าวว่า สภา กทม.จะมีกรอบพิจารณาหลังจากบรรจุเข้าระเบียบวาระ 45 วัน เริ่มจากการบรรจุข้อบัญญัติเข้าระเบียบวาระในการประชุมสภา กทม.สมัยสามัญประจำปี 2565 สมัยที่ 3 ในวันที่ 6 กรกฎาคม 2565 และเปิดอภิปราย 2 วัน ระหว่างวันที่ 6-7 กรกฎาคม 2565 โดยจะถ่ายทอดสดให้ประชาชนได้รับทราบด้วย จากนั้นจะแต่งตั้งคณะกรรมการวิสามัญงบประมาณประจำปี รวม 47 คน ตามเงื่อนไข และจะมีคณะอนุกรรมการ 2 คณะในการพิจารณางบประมาณ ได้แก่ คณะอนุกรรมการเขต กับคณะอนุกรรมการสำนัก ก่อนรายงานเข้าคณะกรรมการวิสามัญ และฝ่ายบริหารเสนอโครงการจำเป็นเร่งด่วนต่อสภา กทม. คาดว่าจะพิจารณาเสร็จสิ้นภายในวันที่ 20 สิงหาคม 2565

Advertisement

“ตลอด 8 ปีเราไม่มีการเลือกตั้ง ทั้งนี้ จะเป็นการทำหน้าที่ครั้งแรกที่จะเปิดเผยงบประมาณรายจ่ายประจำปีให้ประชาชนได้รับทราบ สภา กทม.มีความตั้งใจ หารือฝ่ายกฎหมาย ที่จะเปิดเผยงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 และยินดีที่จะเปิดเผยทุกหมวด ทุกรายการผ่านเว็บไซต์สภา กทม.ด้วย” นายวิรัตน์กล่าว และว่า สำหรับงบประมาณประจำปี 2566 มีทั้งสิ้น 79,000 ล้านบาท เป็นเงินภาษีจำนวนมาก เงินจำนวนนี้ยังไม่เกี่ยวกับงบอุดหนุน และเทียบเท่ากับงบปีก่อน

ประธานสภา กทม.กล่าวว่า การจัดทำงบประมาณของ กทม.เป็นแบบสมดุล การพิจารณางบประมาณครั้งนี้ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ดีที่สุด เพราะไม่ได้แบ่งเป็นฝ่ายค้าน และฝ่ายบริหาร ทำให้สามารถตรวจสอบได้อย่างอิสระ

“งบประมาณปี 2566 ไม่ได้ตั้งขึ้นโดยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนปัจจุบัน แต่เป็นการตั้งงบประมาณตั้งแต่สมัย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนเก่า ซึ่งสภา กทม.ไม่ได้มีความกังวลใจอะไร อยู่ที่ความเหมาะสมของการตั้งงบประมาณ สภา กทม.จะพิจารณาตามเหตุผล และวิธีพิจารณางบประมาณ” นายวิรัตน์กล่าว และว่า ส่วนกรณีที่นายชัชชาติจะเสนอนโยบาย 216 ข้อในวาระที่ 2 และ 3 นั้น เมื่อสภา กทม.มีการปรับลดงบประมาณแล้วก็เป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร หากจะเสนอโครงการใหม่ๆ ก็จะต้องเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่ทางฝ่ายบริหารจะต้องมีรายละเอียดชี้แจงต่อคณะกรรมการวิสามัญ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image