ชัชชาติ พบ ส.อ.ท. ตั้งไข่ กรอ.กทม.ชัดเจน ก.ค.นี้ ก่อนลุยแซนด์บ็อกซ์เกษตรมั่นคง

ชัชชาติ พบ ส.อ.ท. ตั้งไข่ กรอ.กทม.ชัดเจน ก.ค.นี้ ก่อนลุยแซนด์บ็อกซ์เกษตรมั่นคง

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 21 มิถุนายน ที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมคณะผู้บริหาร กทม. ประชุมร่วมกับ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ และคณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมฯ เพื่อหารือแนวทางการขับเคลื่อนกรุงเทพมหานคร ผ่านการทำงานของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนของกรุงเทพมหานคร (กรอ.กทม.)

นายชัชชาติกล่าวว่า เอกชนมีบทบาทในการสร้างเมือง กทม.ต้องร่วมมือกับเอกชนอย่างแข่งขัน เป็นผู้อำนวยความสะดวก ลดขั้นตอน เพื่อให้ธุรกิจสร้างงานสร้างเมืองที่มีประสิทธิภาพได้ ส่วน กรอ.กทม. สามารถตั้งได้ภายในเดือนกรกฎาคม 2565 ซึ่งจะมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อหารือกันทุกเดือน

“หลายเรื่องสามารถทำได้เลย เช่น โรงงาน, น้ำเสีย, ขยะ, เกษตร สามารถตั้งคณะทำงานเป็นกลุ่มย่อย คาดว่า 1-2 เดือน น่าจะเห็นผล ทั้งนี้ กรอ.กทม.เป็นการร่วมกันแก้ไขปัญหาเมืองและสนับสนุนการพัฒนาในทุกมิติ เช่น การนำโมเดล BCG มาใช้ในขับเคลื่อนการพัฒนาเมือง การส่งเสริมโรงงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การเพิ่มพื้นที่สีเขียว ส่งเสริมให้เอกชนร่วมปลูกต้นไม้ การฟื้นฟูแม่น้ำลำคลอง การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ผ่านโครงการ 12 เทศกาล 12 เดือน และการส่งเสริมเกษตรครบวงจรเพื่อสร้างรายได้ให้แต่ชุมชน นอกจากนี้ พร้อมที่จะพัฒนาระบบการให้บริการของ กทม. ให้มีประสิทธิภาพ ปรับปรุงการอนุมัติ อนุญาต เป็นแบบ One Stop Service เพื่อความสะดวก รวดเร็ว และโปร่งใส” นายชัชชาติกล่าว

Advertisement

ผู้ว่าฯกทม.กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง กทม. กับ ส.อ.ท. เน้นเรื่องความโปร่งใส ประสิทธิภาพการให้บริการ ที่ผ่านมา ขั้นตอนการขอใบอนุญาตใช้เวลานาน โดยให้มีการสะท้อนปัญหามาก่อน แล้วจะมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนปรับปรุงขั้นตอน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการให้ดีขึ้น เป็นสิ่งที่ทำได้เลย ไม่ต้องใช้งบประมาณ ซึ่งมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 หรือ พ.ร.บ.อำนวยความสะดวก โดย กทม.มีทั้งหมด 221 ขั้นตอน ซึ่งจะรับฟังความเห็นจากภาคเอกชนว่าอยากได้ขั้นตอนไหน ให้มีความรวดเร็วมากขึ้น หลายอย่างเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนระบบ สามารถทำได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการผลักดัน BCG ลงชุมชนอย่างไรได้บ้าง นายชัชชาติกล่าวว่า จะมีการหารือกับ ส.อ.ท. ว่า มีโครงการอะไรที่ต่อยอดได้ เช่น โครงการขยะพลาสติกที่คลองเตย โดยหลักการจะเลือกต้นแบบจากชุมชนที่ทำสำเร็จไปขยายผลต่อ

Advertisement

นายชัชชาติกล่าวว่า นอกจากนี้ แซนด์บ็อกซ์ มีหลายรูปแบบ เริ่มตั้งแต่เกษตรมั่นคง สร้างแบรนด์เกษตรที่อยู่ในชุมชน ใช้แรงงานภายในชุมชน ซึ่งอาจจะหาที่ดินว่างเปล่า โดยใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นแรงจูงใจ ซึ่งต้องไปดูเงื่อนไข พร้อมกับนำที่ว่างเปล่าของราชการมาใช้ประโยชน์

“ถ้าทำการเกษตรก็เสียภาษีลดลงอยู่แล้ว ไม่ต้องไปปลูกกล้วยหรอก มาทำเกษตรให้ชุมชน อย่างน้อยเป็นด้าน CSR กลับคืนไป แล้วได้ภาษีเรตเท่าเดิม” นายชัชชาติกล่าว

ด้าน นายเกรียงไกร กล่าวว่า การหารือมี 3 เรื่อง ได้แก่ 1.ความยั่งยืน 2.ผลักดันโครงการสมาร์ท แอนด์ คัลเจอร์ อินดัสทรี มุ่งเน้นในการสร้างสมาร์ทอินดัสทรีในกรุงเทพฯ เพื่อขับเคลื่อนทั้งซัพพลายเชนให้เป็นแหล่งสร้างรายได้ให้ชุมชน ซึ่งจะมีการเลือกพื้นที่นำร่องทำในรูปแบบแซนด์บ็อกซ์ เพื่อทำให้โมเดลนี้เกิดขึ้นได้ตามรูปแบบที่วางไว้ และ 3.สิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับด้านอุตสาหกรรม อาจส่งผลกระทบกับกรุงเทพฯ ซึ่งยืนยันว่า โรงงานทุกแห่งในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้รับมาตรฐานตามที่กำหนดไว้ทั้งหมด และพร้อมในการร่วมมือกับ กทม.เพื่อพัฒนาต่อไป รวมถึงวางแผนในการจัดตั้ง กรอ.กทม.เพื่อหารือร่วมกันตามวาระต่อไป

“การจัดตั้ง กรอ.กทม. คาดว่าจะมีความชัดเจนออกมาภายในเดือนกรกฎาคมนี้ เนื่องจากจะต้องหารือกับสมาคมอื่นที่เกี่ยวข้องก่อน ส่วนการสร้างสมาร์ทซิตี้ที่วางแผนไว้ เราพยายามเร่งให้เกิดขึ้นให้ได้อย่างชัดเจนในเดือนพฤศจิกายนนี้ แม้รัฐบาลไม่ได้ขอ แต่เราอยากทำให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมสามารถทำได้” นายเกรียงไกรกล่าว

ทั้งนี้ ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ได้นำเสนอยุทธศาสตร์ 4 ด้าน ได้แก่ 1.Industry Collaboration การผนึกกำลังอุตสาหกรรมไทยให้เข้มแข็ง 2.First2Next-Gen Industry ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสู่อนาคต 3.Smart SMEs ยกระดับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสู่สากล และ 4.Smart Service Platform พัฒนาการบริการเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทย ผ่านวิสัยทัศน์ “Strengthen Thai Industries for Stronger Thailand” เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมไทย เพื่อประเทศไทยที่เข้มแข็งกว่าเดิม รวมถึงนำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนากรุงเทพมหานคร B C G + E S โดยขับเคลื่อนแนวคิด B: Bio Economy เศรษฐกิจชีวภาพ ผ่านการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะ (Smart Agriculture Industry: SAI) โดยการนำพื้นที่เปล่าในกรุงเทพมหานครมาใช้ประโยชน์ และสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image