รองผู้ว่าฯ ทวิดา ถอดบทเรียนไหม้บ่อนไก่ จ่อทวนแผนจัดระเบียบสายไฟทั่วกรุง

รองผู้ว่าฯ ทวิดา ถอดบทเรียนไหม้บ่อนไก่ จ่อทวนแผนจัดระเบียบสายไฟทั่วกรุง

วันนี้ (22 มิถุนายน 2565) น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เดินทางไปตรวจเยี่ยมพื้นที่ชุมชนบ่อนไก่พัฒนา หลังเกิดเหตุไฟไหม้ชุมชนเมื่อวันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา

น.ส.ทวิดา เปิดเผยว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ได้กำชับมาหลายเรื่อง ทั้งเรื่องเสื้อผ้า และเด็กที่ต้องไปโรงเรียน จากการลงพื้นที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวพบว่า พื้นที่ค่อนข้างคับแคบ กำลังประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการขยับขยายที่อยู่ชั่วคราวนี้

“ทั้งนี้ผู้ว่าฯ กทม.ยังได้สั่งการให้ถอดบทเรียนเหตุไฟไหม้นี้อย่างเร่งด่วน ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงบ้านเรือน ระบบไฟ ตรอกซอยที่คับแคบ ปั๊มน้ำที่มีไม่ทั่วถึง และระยะที่จะดึงสายฉีดน้ำเข้าไปในจุดเสี่ยง” น.ส.ทวิดา กล่าวและว่า จากรายงานพบว่า 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เหตุไฟไหม้ในกรุงเทพมหานคร มักเกิดจากไฟไหม้สายสื่อสารในที่ชุมชนหนาแน่น เพราะมีการใช้ไฟจำนวนมาก กทม.จึงห่วงกรณีไฟฟ้าลัดวงจร จากนี้ต้องเร่งทบทวนแผนจัดระเบียบสายไฟ และตรวจตราสภาพสายไฟทั่วทั้งกรุงเทพฯ

Advertisement

ด้าน นายนพรัตน์ ปฏิแพทย์ หัวหน้าสถานีดับเพลิง (ส.ดพ.) บ่อนไก่ กองปฏิบัติการดับเพลิงและกู้ภัย 2 กล่าวชี้แจงประเด็นเรื่องประปาหัวแดงดับเพลิงในชุมชนบ่อนไก่พัฒนาว่า รอบชุมชนมีประปาหัวแดงอยู่อย่างน้อย 5 หัว ในระยะ 50 เมตร อาจจะไม่เพียงพอต่อการดับเพลิง เพราะเกี่ยวข้องกับเรื่องแรงดันน้ำ ที่ต้องลากสายฉีดเข้าไปดับไฟตามตรอกซอกซอย โดยอุปสรรคอยู่ที่พื้นที่ค่อนข้างคับแคบ ทำให้ปฏิบัติงานได้อย่างยากลำบาก

“ส่วนภาพประปาหัวแดงที่ถูกโบกปูนหน้าตู้ซักผ้านั้น เป็นประปาหัวแดงที่ไม่ได้ใช้งานมานานแล้ว ซึ่งยังไม่ได้นำออกไป และบริเวณใกล้เคียงก็มีอีกหัวที่ยังใช้งานได้อยู่ สาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้คือ ไฟฟ้าลัดวงจร จากการสอบถามประชาชนในพื้นที่ระบุว่า ไฟไหม้สายเมนไฟฟ้า จากนั้นสายไฟขาดเปลวไฟจึงตกไปที่บ้าน 2 หลัง ห่างกัน 4-5 คูหา ก่อนลุกลามไปครัวเรือนอื่น” นายนพรัตน์ กล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ระหว่างที่ น.ส.ทวิดา ลงพื้นที่ พบประชาชนจำนวนหนึ่งทยอยกลับเข้าบ้านเรือนแม้ไฟฟ้าจะยังใช้การไม่ได้ โดยเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ทะเบียนจากสำนักงานเขตปทุมวัน ลงพื้นที่เข้าไปสำรวจจำนวนสำมะโนครัว ส่วนสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ก็ลงพื้นที่สำรวจสภาพบ้านเรือนประชาชนเช่นกัน เบื้องต้นผู้ประสบภัยที่เป็นเจ้าของบ้านจะได้รับเงินเยียวยาสูงสุด 49,500 บาท โดยประเมินจากภาพความเสียหาย และการสัมภาษณ์ผู้ประสบภัย ส่วนผู้ประสบภัยที่ไม่ใช่เจ้าของบ้านจะได้รับเงินเยียวยา 3,800 บาท จากนี้ กทม.จะเร่งทำประกาศพื้นที่ให้ความช่วยเหลือ และออกหนังสือรับรองผู้ประสบภัยจากสำนักงานเขต ก่อนจ่ายเงินเยียวยาภายใน 90 วัน

ทั้งนี้ เมื่อช่วงเช้าวันเดียวกัน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.ได้ลงพื้นที่เข้าตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจผู้ประสบภัยที่ศูนย์สร้างสุขทุกวัยบ่อนไก่ (ศูนย์เยาวชนบ่อนไก่) ที่ล่าสุด กทม.ได้ทำเป็นที่พักพิงชั่วคราวจัดไว้รองรับชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน พร้อมกับรับมอบสิ่งของจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนตลอดจนประชาชนที่ทยอยนำสิ่งของต่างๆ เข้ามาช่วยเหลือ

นายชัชชาติ กล่าวว่า ตลอดทั้งคืนที่ผ่านมา มีปัญหาเรื่องเด็กเล็กที่อยู่ในวัยเรียนประสบปัญหาเสื้อผ้าชุดนักเรียนอยู่ในกองเพลิง จึงสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เพราะเกรงว่าจะหยุดเรียนนาน ส่วนปัญหาอื่นๆ เช่น ที่อยู่อาศัยตลอดจนอาหารการกิน ไม่ได้คาดหวังว่าจะได้รับบริจาคตลอดไป ดังนั้น จึงต้องมีหน่วยงานเข้ามาดูแลจัดการ เช่น ตั้งโรงประกอบอาหารชั่วคราว รวมถึงที่อาบน้ำให้ประชาชน เนื่องจากต้องใช้ระยะเวลาอีกนาน ส่วนที่พักอาศัยระยะยาว จะต้องหาพื้นที่ให้ประชาชนที่ประสบภัยได้เช่าอยู่ในราคาประหยัด เพราะบ้านที่พักอาศัยเดิมที่ถูกไฟไหม้ จะต้องรอให้เจ้าของที่เป็นผู้พิจารณาว่าจะให้กลับมาอยู่หรือไม่ แต่ยืนยันว่าจะไม่มีทิ้งประชาชนที่รับความเดือดร้อนแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image