ชัชชาติ ชี้บทเรียนไหม้ชุมชนบ่อนไก่ ปลุก ผอ.เขตทำแผนเผชิญเหตุ จ่อตั้งธนาคารฉุกเฉินรับมือ

ชัชชาติ ชี้บทเรียนไหม้ชุมชนบ่อนไก่ ปลุก ผอ.เขตทำแผนเผชิญเหตุ จ่อตั้งธนาคารฉุกเฉินรับมือ

เมื่อเวลา 16.13 น. วันที่ 22 มิถุนายน ที่ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วย น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯกทม. ให้สัมภาษณ์ถึงการติดตามความคืบหน้าการให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุเพลิงไหม้บ้านเรือนที่ชุมชนบ่อนไก่ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา ว่า เหตุการณ์เพลิงไหม้นั้น มีบ้านเรือนเสียหายรุนแรงถึง 30 หลังคาเรือน และมีผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน 109 ราย ในส่วนของการให้ความช่วยเหลือจะต้องเข้าไปดูอย่างละเอียด เพราะประชาชนแต่ละกลุ่มมีความต้องการแตกต่างกัน

นายชัชชาติกล่าวอีกว่า นี่คือบทเรียนสำคัญสำหรับผู้อำนวยการเขต ดังนั้น การซ้อมแผนเผชิญเหตุจึงสำคัญ ทุกอย่างเป็นประสบการณ์ที่จะปรับปรุงให้ดีขึ้น ขณะเดียวกัน ได้มอบหมายให้รองผู้ว่าฯกทม. เรียกเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง พูดคุยถึงปัญหาและอุปสรรคเพื่อถอดบทเรียนครั้งนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อป้องกันภัยในอนาคตหรือไม่ นายชัชชาติกล่าวว่า เราต้องตกผลึกก่อนว่า สิ่งที่เราต้องการจริงๆ คืออะไร ต้องบริหารจัดการให้ดี

“ไม่ใช่มีเรื่องทีนึง แก้ทีนึง โดยเราอาจจะจัดตั้งธนาคารฉุกเฉิน หรือ Emergency Bank เพื่อบริหารจัดการระยะยาวด้วย” นายชัชชาติกล่าว

Advertisement

ทางด้าน น.ส.ทวิดากล่าวว่า เหตุอัคคีภัยครั้งนี้ เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร โดยมีสายไฟพาดด้านนอกบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ดังนั้น จึงต้องเร่งสำรวจสายไฟตายและนำออก

“ส่วนเมื่อวานนี้ (21 มิถุนายน 2565) แม้ว่าจะมีการลำเลียงเจ้าหน้าที่ได้อย่างรวดเร็ว แต่เนื่องจากชุมชนมีความหนาแน่นสูง หลังคาเกยกันเป็นจำนวนมาก จึงต้องมีการเตรียมสำรองพื้นที่เฉพาะไว้สำหรับให้เข้าถึงได้” น.ส.ทวิดากล่าว และว่า สำหรับกรณีการขาดแคลนน้ำที่ใช้ดับเพลิงนั้น เกิดจากการดึงน้ำซึ่งกันและกัน ท่ออาจจะแตกได้ ตรงนี้การประปานครหลวง (กปน.) จะปรับแก้ไขทางกายภาพต่อไป

น.ส.ทวิดากล่าวต่อไปว่า ในส่วนของการดูแลผู้เสียหาย มีการจัดศูนย์พักพิง โดยความร่วมมือของ กทม. สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และบ้านมั่นคง ซึ่งจะต้องจัดระบบให้มากขึ้น เปิดพื้นที่ให้มากขึ้น สำหรับที่นอน ห้องน้ำ และห้องอาบน้ำ

Advertisement

“อย่างไรก็ตาม มีประชาชนส่วนหนึ่งกลับเข้าไปในบ้าน แต่ไม่มีไฟฟ้าใช้ เราจะพยายามจัดสรรไฟฉายขนาดใหญ่ เพื่อส่องสว่างในพื้นที่ให้ ตลอดจนดูแลนักเรียนให้ไปโรงเรียนครบทุกคน นำเตียงเข้าไปในพื้นที่ที่มีผู้สูงอายุติดเตียง ตลอดจนดูแลผู้ประสบภัยที่มีภาวะเครียด ซึ่งได้มีการนำจิตแพทย์ลงพื้นที่เป็นที่เรียบร้อยแล้วส่วนการดูแลระยะยาว พอช.มีบ้านว่าง 5 หลัง ที่ซอยสวนพลู สามารถเข้าอยู่ได้ทันที 20 ราย จึงขอให้เป็นรายที่เดือดร้อนและจำเป็นจริง นอกจากนี้ ยังมีบ้านที่เขตสายไหมซึ่งค่อนข้างไกล ทาง พม.จะช่วยสนับสนุนค่าเช่าเดือนแรก และหลังจากนั้นจะต้องเสียค่าเช่าเดือนละ 999 บาท ซึ่งก็มีเงินช่วยเหลือให้สามารถอยู่ได้ เน้นย้ำว่า ผู้ประสบภัยต้องตั้งหลักได้ก่อน” น.ส.ทวิดากล่าว และว่า สุดท้ายจะกลับเข้าพื้นที่เดิมได้หรือไม่ ทาง พม.และ กทม.จะพยายามเจรจาให้

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image