สธ.ชี้โควิดกระเพื่อม! แอดมิต รพ.เพิ่มขึ้น 10% ข้อมูลตปท.ชัด BA.4, BA.5 ลงปอดจริง

สธ.ชี้โควิดกระเพื่อม! แอดมิต รพ.เพิ่มขึ้น 10% ข้อมูลตปท.ชัด BA.4, BA.5 ลงปอดจริง

วันนี้ (23 มิถุนายน 2565) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า สำหรับสถานการณ์โรคโควิด-19 ภายหลังการผ่อนคลายมาตรการและกิจการ/กิจกรรมตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนเป็นต้นมา เช่น เปิดผับบาร์ คาราโอเกะ เป็นต้น แนวโน้มการติดเชื้อในภาพรวมของประเทศเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่ชัดเจน

“แต่ที่ชัดเจนคือ พื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่มีโรงพยาบาล (รพ.) สังกัดกรมการแพทย์ 3 แห่ง คือ รพ.ราชวีถี รพ.เลิดสิน และ รพ.นพรัตนราชธานี มีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ตามที่คาดการณ์ว่า เมื่อมีการผ่อนคลายกิจกรรมก็จะมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นได้ รวมถึงเริ่มพบการติดเชื้อในโรงเรียนมากขึ้นด้วย ฉะนั้น วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ยังมีความจำเป็นอย่างมาก ตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรค ที่ให้ฉีดเข็มกระตุ้น (บูสเตอร์ โดส) ทุก 4 เดือน ส่วนเข็มกระตุ้นในเด็กนักเรียนขอให้ติดตามประกาศจากกรมควบคุมโรคอีกครั้ง” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับโรคโควิด-19 ในปัจจุบันที่มีผู้ติดเชื้อจากการตรวจ ATK ด้วยตนเองที่บ้าน ก็ขอให้ช่วยรายงานเข้าระบบทั้งรักษาที่บ้าน (HI) หรือเจอแจกจบ (OPD) ที่จะมีแพทย์ติดตามใน 48 ชั่วโมงแรก เพื่อช่วยในการเก็บข้อมูลประเมินสถานการณ์

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์เตียง เฉพาะ รพ.สังกัดกรมการแพทย์ที่อยู่ในกรุงเทพฯ ก่อนหน้าที่จะผ่อนคลายมาตรการ มีอัตราครองเตียงรวมกันไม่ถึง 1,000 เตียง

Advertisement

“แต่ช่วงนี้ก็เพิ่มขึ้นเป็นพันกว่าเตียง คิดเป็นร้อยละ 10 ส่วนผู้ป่วยอาการรุนแรง เมื่อเทียบเฉพาะกับผู้ป่วยครองเตียง เช่น รพ.ราชวีถี ครองเตียงราว 30 ราย อาการรุนแรง 3 ราย คิดเป็นร้อยละ 10 ขณะที่เตียงโควิด-19 ยังว่างอีกจำนวนมาก ส่วนเตียงไอซียู ขณะนี้มีอัตราการครองเตียง ร้อยละ 10-20” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงอาการของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน BA.4 และ BA.5 นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ตามที่ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า มีการพบเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน BA.4 และ BA.5 ในประเทศไทย ขณะเดียวกัน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ก็ได้เฝ้าระวังและรายงานว่า เริ่มพบผู้ติดเชื้อ BA.4 และ BA.5 เพิ่มขึ้น

“โดยหลักการของสายพันธุ์ดังกล่าวคือ คาดว่าจะมีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งที่มีการหลบภูมิคุ้มกันจากวัคซีนในบางชนิด แต่ความรุนแรงยังไม่ชัดเจนว่าทำให้มีผู้ที่ต้องเข้า รพ.มากขึ้นหรือไม่ ทั้งนี้ รายงานจากต่างประเทศ ที่นำเชื้อดังกล่าวไปทดลองในเซลล์ปอด พบว่าเชื้อลงปอดมากกว่าโอมิครอน BA.1 และ BA.2 แต่ไม่ได้นำมาเทียบกับสายพันธ์เดลต้าที่เคยมีความรุนแรงที่สุด ขณะเดียวกัน ทวีปยุโรปเริ่มพบการติดเชื้อเพิ่มขึ้นและมีการเข้ารักษาใน รพ.มากขึ้นพอสมควร การติดเชื้อซ้ำเกิดขึ้นได้แน่นอน แต่ระยะจะสั้นหรือไม่ ต้องรอข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์ฯ อีกครั้ง แต่ในข้อมูลรายงานต่างประเทศที่ทดสอบกับเซลล์ปอดยืนยันได้ว่า BA.4 และ BA.5 ลงปอดมากกว่า BA.1 และ BA.2 ดังนั้น แนวโน้มจึงน่าจะรุนแรงกว่า” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

เมื่อถามว่า ในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ ทางศูนย์บริหารสถานการณ์โรคโควิด-19 (ศบค.) ผ่อนคลายให้ถอดหน้ากากอนามัย/ผัา ในที่โล่งแจ้งได้ จะมีคำแนะนำประชาชนอย่างไร นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับโรคโควิด-19 จากนี้จะเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบของบุคคลมากขึ้น เป็นการประเมินความเสี่ยงด้วยตนเอง แต่คำแนะนำของทางการแพทย์ยังอยากให้สวมหน้ากากอยู่

“แต่ในทางปฏิบัตินั้น หากเป็นการอยู่คนเดียว ในที่โล่งแจ้ง ก็สามารถถอดได้ แต่หากอยู่ในสถานที่ปิด ใช้รถร่วมกับผู้อื่น อยู่ในสถานที่สาธารณะที่มีคนจำนวนมากๆ ก็ต้องสวมไว้” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image