สธ.จับตาโอมิครอน BA.5 ชี้กลายพันธุ์เหมือนเดลต้า คาดอีกไม่นานระบาดทั่วโลกรวมไทย

สธ.จับตาโอมิครอน BA.5 ชี้กลายพันธุ์เหมือนเดลต้า คาดอีกไม่นานระบาดทั่วโลกรวมไทย

วันนี้ (24 มิถุนายน 2565) ที่โรงแรมริชมอนด์ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงผลการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ในประเทศไทย ว่า ตั้งแต่ที่โลกมีการระบาดโควิด-19 กว่า 2 ปี ขณะนี้มีสายพันธุ์ที่น่าห่วงกังวล (Variant of Concern: VOC) เหลือเพียงสายพันธุ์เดียวคือ โอมิครอน ที่ระบาดเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งแทบไม่มีสายพันธุ์อื่นไม่ว่าจะเป็นเบต้า แอลฟาหรือเดลต้า แล้ว โดยโอมิครอนก็ยังไม่ได้แตกรูปแบบหรือเปลี่ยนแปลงกลายเป็นตัวใหม่

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกจัดกลุ่มโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยที่ต้องจับตาว่าเป็น VOC lineages under monitoring หรือ VOC-LUM ซึ่งมีแนวโน้มทำให้มีการแพร่เป็นคลัสเตอร์ใหญ่ หรือสามารถติดเชื้อได้แม้ว่าฉีดวัคซีน หรือเคยติดเชื้อมาแล้ว ขณะนี้มีอยู่ 5-6 สายพันธุ์ที่ต้องจับตา เช่น BA.2.12.1 , BA.2.9.1 , BA.2.11 , BA.2.13 ซึ่ง BA.4 BA.5 ก็รวมอยู่ในนั้นด้วย ทั้งนี้ โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2.12.1 ที่มีเป็นข่าวในสหรัฐอเมริกา ว่าขณะนี้ก็เริ่มลดลง ซึ่งประเทศไทยก็พบประปราย

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า สำหรับ BA.4 และ BA.5 พบว่า มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งยีนส์ที่ L425R ซึ่งเหมือนที่พบในเดลต้ามาก่อน จากหลักการจึงคาดว่าจะมีผลต่อและมีความอันตรายต่อปอดมากขึ้น จึงมีความวิตกกังวลมากขึ้น

Advertisement

“เนื่องจากโอมิครอนเดิมก็แพร่เร็วอยู่แล้ว และหากมีความรุนแรงของเดลต้าก็น่าจะมีปัญหาขึ้นได้ แต่ทั้งหมดนี้ยังเป็นการสันนิษฐานจากตำแหน่งพันธุกรรมอยู่ อย่างไรก็ตาม BA.4 และ BA.5 มีตำแหน่งพันธุกรรมบางจุดที่ต่างกันแต่ไม่ได้ส่งผลในเรื่องของความรุนแรงที่มากขึ้น ทั้งนี้ สำหรับสถานการณ์ทั่วโลกในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกพบว่า BA.5 น่าจับตาใกล้ชิดมากกว่า BA.4 เพราะพบการติดเชื้อในสัดส่วนที่มากขึ้น โดย BA.5 เพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 16 เป็น ร้อยละ 25 ส่วน BA.4 ลดจาก ร้อยละ 16 เหลือร้อยละ 9 ฉะนั้น ภาพรวมของโลกมี BA.4 ลดลง ขณะที่ BA.5 เพิ่มมากขึ้น ซึ่งอีกไม่นานก็จะกลายเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดทั่วโลกรวมถึงไทยด้วย” นพ.ศุภกิจ กล่าว

 

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า สำหรับการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ จะดูใน 3 ประเด็นคือ 1.แพร่เชื้อเร็วขึ้นหรือไม่ 2.หลบภูมิคุ้มกันจากวัคซีนหรือภูมิคุ้มกันหลังจากการติดเชื้อหรือไม่ และ 3.ความรุนแรง อาการหนักขึ้น ยาที่รักษายังใช้ได้หรือไม่ โดยข้อมูลที่มีปัจจุบันพบชัดเจนว่า BA.4 และ BA.5 แพร่เชื้อได้เร็วกว่า BA.2 ขณะที่แอนติบอดีในร่างกายที่จะทำลายฤทธิ์ของเชื้อ ใช้ได้น้อยลง หมายความว่ามันสู้กับแอนติบอดีได้ดีกว่า ที่สำคัญคือ ยารักษาในบางรายตอบสนองน้อยลง แต่จะมีความรุนแรงขึ้นหรือไม่ จะต้องรอข้อมูลทางคลินิกเพิ่มเติม ซึ่งยังเป็นเพียงข้อสันนิษฐาน

Advertisement

นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อไปว่า ข้อมูลระบุว่า ผู้ที่เคยติดเชื้อมาก่อนสามารถติดเชื้อ BA.4 และ BA.5 ซ้ำได้ โดยข้อมูลของผู้ที่เคยติดเชื้อ BA.1 ในกลุ่มไม่ได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 เลยเมื่อเจอ BA.5 ภูมิคุ้มกันในการป้องกันโรคลดลงถึง 6-7 เท่า ส่วนคนที่ฉีดวัคซีนภูมิคุ้มกันลดลง 2 เท่า จึงบอกได้ว่าคนที่เคยติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ BA.1 หรือ BA.2 มาก่อน อาจป่วยซ้ำได้ด้วยสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 แต่หากฉีดวัคซีนแล้วมีภูมิคุ้มกัน สูงมากพอ ก็ยังสู้ได้มากกว่าคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน ดังนั้น วัคซีนเข็มกระตุ้น (บูสเตอร์ โดส) จึงจำเป็น

“ขณะนี้ เรากำลังเปิดประเทศ ผ่อนมาตรการเพื่อชีวิตดำเนินไปได้ ซึ่งข้อมูลศึกษาจากประเทศอังกฤษพบว่า BA.4 และ BA.5 เมื่อเทียบกับ BA.2 พบว่า ในบางประเทศแพร่เร็วกว่าจริงอาจถึง 1.5 เท่า สหรัฐ แพร่เร็วกว่าประมาณ 1 เท่า แอฟริกาใต้ประมาณ 1 เท่า ฝรั่งเศส เยอรมนีแพร่เร็ว แต่ไม่ต่างกับ BA.2 แต่เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก โปรตุเกส กลับแพร่เร็วได้ต่ำกว่าด้วยซ้ำ ซึ่งยังไม่รู้ว่าเกิดขึ้นจากอะไร แต่หมายความว่า แต่ละประเทศไม่ได้แพร่เร็วกว่า BA.2 สักเท่าไร จึงต้องจับตาดูต่อไป” นพ.ศุภกิจ กล่าว

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า ข้อมูลที่แต่ละประเทศถอดรหัสพันธุกรรมแล้วส่งข้อมูลไปยังจีเสส (GISIAD) พบว่า BA.5 พบ 31,577 ตัวอย่าง BA.4 พบ 14,655 ตัวอย่าง สรุปได้ว่าเจอ BA.5 มากขึ้นโดยพบมากในอเมริกาและยุโรป ทั้งนี้ ข้อมูลการถอดสายพันธุ์ขึ้นอยู่กับขีดความสามารถในแต่ละประเทศด้วย

“แต่กรมวิทยาศาสตร์ฯ ให้ความมั่นใจกับประชาชนว่า ไทยมีการเฝ้าระวังสายพันธุ์ทั้งแบบที่รู้ผลเร็วใน 1 วันเป็นข้อมูลเบื้องต้น และมีการถอดรหัสทั้งตัว (whole genome sequencing) ใช้เวลา 1 สัปดาห์ ขณะนี้ไทยตรวจสัปดาห์ 500-600 ตัวอย่าง และมีการส่งข้อมูลเข้าจีเสส ที่โปร่งใส่ เปิดเผยได้ในระบบ และยืนยันว่าไทยยังตรวจได้ทั้งหมด ไม่มีตัวไหนหลบการตรวจสายพันธุ์” นพ.ศุภกิจ กล่าว

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า สำหรับการพบ BA.4 และ BA.5 นั้น ในประเทศไทยรายแรกในกลางเดือนเมษายน 2565 ข้อมูลตรวจสายพันธุ์ ระหว่างวันที่ 18-22 มิถุนายน ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจทั้งหมด 396 ตัวอย่าง พบเป็น BA.2 จำนวน 213 ตัวอย่าง คิดเป็น ร้อยละ 53.8 และเป็น BA.4 กับ BA.5 รวม 181 ตัวอย่าง คิดเป็น ร้อยละ 45.7 สัดส่วนที่พบสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 พบมากในผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ ร้อยละ 72.7 พบในประเทศ ร้อยละ 27.3 ฉะนั้นต้องดูอีก 2-3 สัปดาห์ ถึงจะเห็นแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นจริงในประเทศไทย

“กรมวิทยาศาสตร์ฯ จึงประสานกรมการแพทย์ โรงพยาบาล (รพ.) ใหญ่ๆ ให้ส่งตัวอย่างผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงมาตรวจสายพันธุ์ เพื่อนำมาเป็นข้อมูลว่า BA.4, BA.5 มีความรุนแรงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม การเฝ้าระวังของกรมวิทยาศาสตร์ฯ จะมีการสุ่มตรวจสายพันธุ์ในผู้เดินทางเข้าประเทศ ชายแดน ผู้ที่มีอาการรุนแรง และคลัสเตอร์แปลกๆ อยู่อย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ยังไม่มีใครกล้าฟันธงว่า BA.4, BA.5 มีความรุนแรงมากขึ้นจริง แต่ที่แน่นอนที่สุดคือ วัคซีนเข็มกระตุ้น และมาตรการป้องกันตัวเองอย่างเหมาะสมช่วยลดความรุนแรงได้ แม้จะมีการออกคำแนะนำแล้วว่าให้สวมหน้ากากอนามัยตามสมัครใจ แต่การสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างและล้างมือเป็นความตระหนักรู้ด้านสุขภาพของประชาชน ขอให้ถามตัวเองว่าหากเราอยู่คนเดียว ไม่มีปัญหาอะไร อยู่ห่างไกลจากผู้คนก็ถอดได้ แต่ถ้าตอนไหนที่คิดว่ามีความจำเป็นไปพูดคุยกับคนอื่น ก็ใส่ไว้ป้องกันหลายโรคได้เช่นกัน ส่วนข้อมูลตอนนี้เรายังไม่เห็นข้อมูลว่าจะต้องเพิ่มมาตรการอะไรเพิ่มเติม” นพ.ศุภกิจ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในจำนวนเคสที่พบ BA.4, BA.5 นั้น กลุ่มอาการเป็นอย่างไรบ้าง และมีรายงานว่าในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีรายงานผู้ติดเชื้อมีอาการ อัตราการครองเตียงเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 มีความสัมพันธุ์กับ 2 สายพันธุ์นี้หรือไม่ นพ.ศุกภิจ กล่าวว่า ยังไม่มีรายงานผู้ที่มีอาการหนัก หรือเสียชีวิตจากสายพันธุ์นี้เข้ามา ส่วนพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีรายงานอาการหนักครองเตียงเพิ่มขึ้นนั้น เราไม่ได้มีการตรวจหาสายพันธุ์ในกลุ่มผู้มีอาการหนักตรงนี้ ส่วนเรื่องยารักษาโรค ปัจจุบันที่มีอยู่นั้นยังสามารถรักษาได้

ด้าน นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า ขอย้ำว่าข้อมูลที่ระบุว่าการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง L452R ของ BA.4 BA.5 ที่ทำให้เกิดอาการปอดอักเสบง่ายขึ้น ยังเป็นข้อมูลที่อยู่ในห้องปฏิบัติการ (แล็บ) แต่ยังไม่มีหลักฐานข้อมูลทางคลินิก ส่วนองค์การอนามัยโลกก็ได้สรุปว่า ไม่มีความรุนแรงมากกว่า BA.1, BA.2 ที่เราทราบกันว่ามีความรุนแรงน้อยกว่าเดลต้า

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image