อธิบดีกรมสุขภาพจิต ส่งกำลังใจให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ย้ำ รักษาได้ คนรอบข้างใส่ใจ-อยู่เคียงข้าง

อธิบดีกรมสุขภาพจิต ส่งกำลังใจให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ย้ำ รักษาได้ คนรอบข้างใส่ใจ-อยู่เคียงข้าง

เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีข่าวศิลปิน นักแสดง อาชีพที่ให้ความบันเทิงกับผู้อื่นแต่เกิดภาวะอาการซึมเศร้าขึ้น หมดไฟการทำงาน และบางรายส่งสัญญาณถึงการทำร้ายตัวเอง ว่า โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่เราพบได้พอสมควร ยิ่งในช่วงของวัยทำงานและหลายๆ คนอาจมีอาการรุนแรงขึ้นในช่วงเวลาที่มีวิกฤตต่างๆ ในชีวิต ซึ่งสิ่งที่น่าเห็นใจคือในบางครั้งผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะมองโลกในมุมที่หดหู่ และสิ้นหวัง ทำให้รู้สึกปฏิเสธการช่วยเหลือหรือรู้สึกมองสิ่งรอบตัวในทางที่ไม่มีความหวังไปหมด

“แต่ในความเป็นจริงแล้ว โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่รักษาได้ แม้ว่าบางรายจะต้องใช้เวลาบ้าง ดังนั้น ขอให้ผู้ที่อยู่ในภาวะโรคซึมเศร้า หรือที่เป็นโรคซึมเศร้า อย่างน้อยที่สุด พยายามที่จะมีจุดมุ่งหวัง หรือแสวงหาการรักษาให้ไวที่สุด เรื่องยาต่างๆ อาจจะต้องใช้เวลาในการรักษาประมาณ 2 สัปดาห์ถึงจะรู้สึกดีขึ้น” พญ.อัมพร กล่าวและว่า ที่สำคัญอีกประเด็นคือคนที่อยู่รอบตัวของผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า สามารถช่วยสอดส่องดูแลและสนับสนุน สร้างความเข้าใจที่ดีต่อกัน ประคับประคองผู้ป่วยซึมเศร้าให้มีอาการดีขึ้นได้

พญ.อัมพร กล่าวอีกว่า แม้คุณหมอจะไม่ได้เป็นผู้ที่ดูแลผู้ป่วยรายนี้ แต่ได้เห็นข่าวที่ออกมา อันนี้ถือว่า เป็นวิกฤติที่เป็นโอกาสที่ดีที่สังคมแสดงให้เห็นว่าสังคมรอบตัวมีความห่วงใยและเห็นใจเขามาก กระแสความอยากช่วยเหลือนั้นเต็มไปหมด เป็นสิ่งที่สะท้อนว่าสังคมเราไม่ได้ทิ้งกันเลย เพียงแต่ว่าเราจะมองเห็นความปราถนาดีเหล่านี้หรือไม่

“คุณหมอขอส่งกำลังใจให้อีกคนนึง รวมถึงคนที่อยู่รอบตัวเขาที่พยายามช่วยเหลือกัน และขอให้เขาก้าวออกจากความเป็นซึมเศร้าได้เร็วที่สุด และหากมีอะไรที่กรมสุขภาพจิตสามารถช่วยเหลือได้ก็พร้อมที่จะเข้าไปสนับสนุนเต็มที่ ขอให้สังคมได้หยิบยื่นความหวังและกำลังใจด้านบวกให้แก่กัน” พญ.อัมพร กล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในปัจจุบัน ยังคงพบประชาชนบางส่วนที่ยังกลัวการไปพบจิตแพทย์อยู่ พญ.อัมพร กล่าวว่า ในอดีตที่ผ่านมา การไปรักษาทางด้านจิตเวทถูกมองว่าเป็นตราบาปของสังคม หรือเป็นเรื่องที่น่าอับอาย แต่จริงๆ แล้วการเจ็บป่วยทางจิตใจ เป็นรูปแบบของการเจ็บป่วยชนิดหนึ่ง มีประเด็นเรื่องของสารเคมี และการทำงานในสมองที่อาจจะรวนไป ทำให้เรามองทุกอย่างหดหู่

พญ.อัมพร กล่าวว่า ในกลุ่มผู้หญิงจะเป็นโรคนี้ได้ง่ายกว่า เพราะผู้หญิงอาจจะมีช่วงเวลาของการเป็นรอบเดือน หรือช่วงที่หลังคลอดบุตรที่ฮอร์โมนตกลงไปเยอะๆ จนไปส่งผลกับสารเคมีในสมอง และจะรู้ได้เลยว่า จริงๆ เราไม่ใช่คนเศร้าเลย แต่สภาพร่างกายทำให้เราเศร้า

“ในระยะหลังๆ จิตแพทย์ได้รับการตอบรับที่ดี หลายคนรู้ว่าคุณจะได้รับการดูแลอย่างไร ซึ่งก็เป็นแนวโน้มที่ดี ที่เราควรจะขยายความเข้าใจนี้ออกไปเรื่อยๆ ถ้ายังรู้สึกอึดอัดไม่มั่นใจ โทรศัพท์ไปปรึกษากันก่อนก็ได้ ไม่ต้องเปิดเผยตัวตนที่เบอร์โทรศัพท์ 1323 สายด่วนกรมสุขภาพจิต หรือ แอดไลน์ @1323forthai” พญ.อัมพร กล่าว

Advertisement

ถามต่อถึงกรณีที่มีการโพสต์ข้อความ-รูปภาพ ผ่านทางโซเชียลมิเดีย เราจะสามารถแยกได้อย่างไรว่า เป็นสัญญาณของโรคซึมเศร้า หรือเพียงเรียกร้องความสนใจ เนื่องจากหากเกิดการโพสต์บ่อย อาจทำให้ความสนใจที่จะให้การช่วยเหลือลดน้อยลง พญ.อัมพร กล่าวว่า อันนี้เป็นเรื่องที่พึงระวัง สำหรับการเพยแผร่ข้อมูลผ่านโซเชียลมิเดีย ในมุมของการเป็นผู้เผยแพร่ อาจจะมีมุมที่ตัวเองอัดอั้น และเหมือนกับการเปรย ลำพึงลำพันออกมาแต่เป็นในภาพกว้าง

พญ.อัมพร กล่าวว่า มองว่าเป็นมิติที่ดีที่ทำให้คนได้รับรู้ว่าเรารู้สึกอย่างไร แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ อาจเป็นข้อมูลหรือข้อความที่มีผลกระทบต่อตัวเรา หรือคนอื่นๆ ในระยะยาวก็ได้ การเผยแพร่ข้อมูลอาจคล้ายๆ กับการตะโกนบอกคนอื่นๆ ว่า ฉันกำลังรู้สึกแย่นะ ฉันไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไปแล้วนะ ซึ่งคนรอบข้างที่ไม่เข้าใจ อาจจะไปบอกว่าเป็นการเรียกร้องความสนใจ แต่จริงๆ แล้วเรื่องนี้เขาต้องการความใส่ใจ และกำลังใจ หากคนรอบข้างเข้าใจและให้กำลังใจอย่างพอเหมาะ

“เห็นใจไม่ได้แปลว่าตามใจไปหมดทุกเรื่อง แต่เห็นใจหมายถึงเข้าไปประคับประคองในระดับที่เหมาะสม และสม่ำเสมอ และจูงให้คนคนนั้นพึ่งพิงตัวเองได้และดูแลตัวเองได้ให้มากที่สุด หากคนรอบข้างทำได้ ภาวะการเรียกร้องความสนใจซ้ำๆ ซากๆ จะน้อยลงไปเรื่อยๆ” พญ.อัมพร กล่าว

ถามต่อว่า อาการที่กล่าวมาข้างต้น ถือว่าเป็นสัญญาณที่สามารถบ่งบอกได้หรือไม่ว่ามีอาการ หรือภาวะซึมเศร้า พญ.อัมพร กล่าวว่า อันนี้ถือว่าเป็นสัญญาณชนิดหนึ่ง ซึ่งบางคนอาจจะสื่อแรง หรือเบา ชัด หรือไม่ชัด แต่อย่างน้อยก็ขอให้ใส่ใจกันบ้างอย่าถึงกับขนาดที่ละเลยและอย่าไปตีตราว่าเป็นปัญหาทางบุคลิกภาพที่เรียกร้องความสนใจเสมอไป ต่อให้เขาเรียกร้องถ้าเราตอบสนองดี การเรียกร้องก็จะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ได้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image