กรมอนามัยเผยได้รับแจ้งกลิ่นควันกัญชาทำรำคาญแล้ว ย้ำผิดครั้งแรกเตือนให้รู้ตัวก่อน

กรมอนามัยเผยได้รับแจ้งกลิ่นควันกัญชาทำรำคาญแล้ว ย้ำผิดครั้งแรกเตือนให้รู้ตัวก่อน

กรณีตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นมา กัญชา กัญชง ถูกปลดออกจากการเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และดูแลสุขภาพ โดยมีการป้องกันการนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสมด้วยการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ พ.ศ.2565 ขณะเดียวกัน กรมอนามัย ได้ออกประกาศกรมอนามัย เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในการทำ ประกอบหรือปรุงอาหาร ในสถานประกอบกิจการร้านอาหาร พ.ศ.2565 ซึ่งกำหนดว่าร้านอาหารจะต้องติดป้ายแจ้งว่ามีเมนูใส่กัญชามากน้อยอย่างไร รวมถึงมีคำเตือนให้ประชาชนเลือกบริโภค และไม่จำหน่ายให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรนั้น

เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ให้สัมภาษณ์ถึงผลการดำเนินงานภายหลังการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ไม่เหมาะสมว่า กระทรวงสาธารณสุข เน้นย้ำหลักการปลดล็อกกัญชา เพื่อใช้ในการแพทย์และไม่ใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม จึงมีการออกประกาศเรื่องกลิ่นและควันออกมา เพราะเราห่วงเรื่องการนำไปจัดส่งเสริมการขาย การปาร์ตี้กัญชา ทั้งนี้ ตามขั้นตอนและการดำเนินงานตามกฎหมาย ไม่ได้มุ่งเน้นหาว่าใครสูบกัญชาซึ่งมีความผิดแล้วจะจับกุมทันที แต่ขั้นตอนคือ หากพบว่ามีการสูบเกิดขึ้น ก็จะมีการตรวจเตือน จากการเฝ้าระวังและรายงานผลเข้ามา ก็พบว่ามีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ เนื่องจากมีการปลดล็อกให้ปลูกกัญชาได้ในบ้าน แต่หากเป็นการใช้ในบ้าน ไม่ได้มีผลกระทบกับผู้อื่น หรือการสูบในที่สาธารณะควัน กลิ่นไม่สร้างความรำคาญ ก็ไม่มีความผิดตามประกาศ

“เราก็พบว่ามีการสูบใกล้ผู้อื่น แล้วมีการแจ้งเรื่องเข้ามา ซึ่งจะมีกระบวนการตรวจเตือนเรื่องนี้ โดยคนที่ถูกแจ้งก็งดหรือเลี่ยงการกระทำไป ข้อมูลตรงนี้ก็ทยอยเข้ามา แต่ยังไม่มีถึงขั้นจับกุม แต่ข้อสังเกตหลังจากที่มีการช่วยกันรณรงค์ว่าแม้ปลดล็อกกัญชาแล้วแต่ไม่ใช่เพื่อการสันทนาการ ก็จะไม่พบใครสูบในที่สาธารณะเท่าที่ควร แต่สิ่งที่เราย้ำคือ หากไม่จำเป็น ก็ไม่ควรใช้กัญชา เพื่อเรานำมาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ เศรษฐกิจและสังคม” นพ.สุวรรณชัยกล่าว

อธิบดีกรมอนามัยกล่าวว่า ส่วนการใช้กัญชาเพื่อปรุงอาหารเพื่อเพิ่มรสชาติเป็นวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นมานานแล้ว โดยผู้บริโภคหลายคนก็ทราบว่าร้านไหนใส่กัญชาเพราะบางคนจะมีอาการคอแห้งๆ แต่หากคอแห้งมากๆ ลูกค้าก็จะหาย อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง ร้านอาหารสามารถทำเมนูให้อร่อยได้โดยไม่ต้องใส่กัญชา ส่วนร้านที่จะใส่กัญชาก็ต้องมีป้ายเตือนลูกค้า ใส่กัญชาในปริมาณที่เหมาะสม ปลอดภัย และไม่ขายให้กลุ่มที่กำหนด คือเด็กและหญิงตั้งครรภ์ให้นมบุตร

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรมอนามัยมีการตรวจสอบร้านอาหารที่แอบใส่กัญชาในเมนูแต่ไม่แจ้งลูกค้าหรือไม่ นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า กรมอนามัยมีทีมลงไปตรวจสอบ พบว่าร้านได้แจ้งกับลูกค้าว่าใส่กัญชา เพราะเป็นจุดขายให้ร้าน แต่ในส่วนของความเชื่อที่ว่าใส่กัญชาแล้วลูกค้าติดใจรสชาติมากขึ้นแต่ไม่แจ้งลูกค้าถือว่าเอาเปรียบผู้บริโภค ตรงนี้เราจึงต้องย้ำว่าร้านต้องติดป้ายเมนูกัญชา เพราะไม่ใช่ทุกคนที่อยากกินแบบที่ใส่กัญชา และในบางคนก็มีความไวต่อกัญชาด้วย ซึ่งเราได้รับรายงานมาประปราย โดยหน่วยงานในพื้นที่ 2 หน่วย คือ 1.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นผู้ใช้อำนาจตามกฎหมาย พ.ร.บ.การสาธารณสุข และ 2.เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ร่วมภาคส่วนอื่น เช่น คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ ที่ต้องไปสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health literacy) ให้เกิดขึ้น รวมถึงเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการใช้ในทางไม่เหมาะสม หรืออันตราย ไม่ใช่เฉพาะกัญชาแต่เช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆ ที่ต้องควบคุมการใช้เพื่อไม่ให้ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image