หมอประสิทธิ์ชี้โอมิครอน BA.4, BA.5 ทำติดเชื้อซ้ำได้ แนะกลุ่ม 608 ฉีดวัคซีนเข็ม 4

หมอประสิทธิ์ชี้โอมิครอน BA.4, BA.5 ทำติดเชื้อซ้ำได้ แนะกลุ่ม 608 ฉีดวัคซีนเข็ม 4

วันนี้ (26 มิถุนายน 2565) ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์โรคโควิด-19 สายพันธุ์ย่อยของเชื้อโอมิครอน ว่า สำหรับสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 พบข้อมูลมาหลายเดือนแล้ว โดยเฉพาะประเทศทางยุโรป ที่พบอัตราติดเชื้อกลับมาสูงขึ้นเป็นหมื่นรายต่อวัน ซึ่งข้อมูล ณ ขณะนี้พบว่า สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 เริ่มไปทดแทนสายพันธุ์ย่อย BA.2 เนื่องจาก BA.4 และ BA.5 แบ่งตัวเร็วกว่า แต่ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า รุนแรงมากกว่า เพราะยังไม่มีหลักฐานการป่วยจนเข้านอนในโรงพยาบาล (รพ.) อาการรุนแรงถึงเสียชีวิตที่ชัดเจนเพียงพอ ถือ เป็นสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าติดตาม

“อย่างไรก็ตาม การที่มีการแพร่ระบาดเร็วขึ้นมองได้ 2 แง่ คือ 1.ตำแหน่งการกลายพันธุ์ และ 2.คนเริ่มผ่อนคลายมาตรการหน้ากากอนามัย จึงมีโอกาสที่แพร่กระจายได้มากขึ้น รวมถึงกิจกรรมสังคมที่มากขึ้นด้วย ทั้งนี้หลายประเทศก็ไม่ได้ตรวจหาเชื้อกันแล้ว ดังนั้น ที่เห็นผลตรวจเป็นหมื่นราย แสดงว่ายอดจริงต้องมากกว่านั้นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราไม่เห็นความรุนแรงที่ชัดเจน คือ วัคซีน อย่างที่เคยย้ำว่า หากฉีดมากกว่า 3-4 เข็มขึ้นไป ก็จะช่วยลดความรุนแรงได้แม้จะมีการกลายพันธุ์ แต่ไวรัสยังเป็นโคโรนาตัวเดิม ข้อเตือนใจสำหรับไทยที่เปิดประเทศมีผู้เดินทางเข้าเป็นหมื่นคน ดังนั้น เมื่อตรวจพบเจอก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ เมื่อมีการเดินทางก็มีแนวโน้มจะกระจายไปได้มากขึ้นด้วย” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องย้ำคือ 1.วัคซีน เพราะข้อมูลการศึกษาของ BA.4 และ BA.5 มีแนวโน้มว่าอาจจะเกาะเซลล์ปอดได้มากกว่า BA.2 แต่ยังไม่ต้องไปเทียบกับเดลต้า เพราะไม่มีหลักการว่าจะรุนแรงมากกว่า คำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ได้ศึกษาข้อมูลประชากรกว่า 5 แสนคน พบว่า การฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ป้องกันติดเชื้อได้ ร้อยละ 25 แต่ถ้าฉีด 4 เข็ม ก็จะเพิ่มสูงถึงร้อยละ 70-75

สำหรับผมแนะนำให้ฉีด 4 เข็ม ในกลุ่มคนทั่วไป และบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ก็เป็นเข็มที่ 5 ได้เลย ซึ่งหลายคนก็ได้รับแล้ว” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวและว่า 2.คนไทยต้องกระชับตัวเอง เพราะบังคับนักท่องเที่ยวได้ยาก ดังนั้น ต้องป้องกันตนเองด้วยมาตรการเดิมคือ สวมหน้ากากอนามัย/ผ้า เว้นระยะห่าง และล้างมือ เพราะเรายังมีเด็กต่ำกว่า 5 ขวบ ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากคนเคยติดเชื้อโควิด-19 จะมีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้สั้นสุดกี่เดือน และติดเชื้อซ้ำจะมีผลต่ออวัยวะภายในร่างกายอย่างไร ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า เชื่อว่าสั้นกว่านั้น เนื่องจากโอมิครอนทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำได้ แต่คนจำนวนหนึ่งติดจริง แต่มีอาการน้อย จึงไม่ได้ตรวจ ดังนั้น จริงๆ ที่เราเคยพูดว่าจะติดเชื้อซ้ำได้ใน 4-6 เดือน ก็อาจจะสั้นกว่านั้น เพียงแต่คนไม่ได้ตรวจ ทั้งนี้ ข้อมูลที่เห็นได้ว่า BA.4 และ BA.5 ติดเชื้อได้เร็ว ตนเห็นว่าภูมิคุ้มกันที่มีอยู่อาจลดลงเร็วกว่าตอนที่ป้องกัน BA.2 ฉะนั้น ข้อแนะนำฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มที่ 2 คือ วัคซีนเข็มที่ 4 ในประชากรทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเสี่ยง หากระยะห่างจากเข็มที่ 3 มากกว่า 4 เดือนแล้ว ส่วนคนที่ติดเชื้อซ้ำ ต้องบอกว่าลองโควิด (Long Covid19) เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง และเกิดขึ้นได้ทุกสายพันธุ์ บางคนมีอาการทำให้ชีวิตประจำวันลดลง เช่น สมองตื้อ ผมร่วง ดังนั้น หากมีสายพันธุ์ที่กระจายเร็วกว่าเดิม การติดเชื้อก็จะไม่คุ้มกับลองโควิด

“คนที่หายแล้วติดอีกซ้ำๆ ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่ามีหรือไม่มีผลกระทบกับภาพรวมสุขภาพ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรจะติดเชื้อซ้ำ เพราะตอน BA.2 ที่ไม่ลงปอด เราสบายใจ แต่มา BA.4 มีสมมติว่ามีข้อมูลพิสูจน์ชัดว่าอาการรุนแรง เล่นงานปอด นั่นก็เรื่องใหญ่ หากทุกครั้งที่ติดแล้วจู่โจมปอด ก็ทำลายเนื้อปอดที่อาจไม่ฟื้นตัวกลับมาง่ายๆ” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

เมื่อถามว่า BA.4 และ BA.5 จะเป็นคลื่นระบาดรอบใหม่หรือไม่ ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า โอกาสที่จะกลับมาระบาดมากแบบระลอกเดลต้าไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะคนฉีดวัคซีนกันมาก ระวังตัวมากขึ้น ซึ่งขอเน้นย้ำว่าเรายังคงต้องป้องกันตัวเองให้มากขึ้น หากพบว่าเริ่มมีสัญญาณรุนแรงมากขึ้น เราก็เตรียมกลับมายกการ์ด

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image