โควิดไทยเข้าสู่ระยะหลังระบาดใหญ่ตามแผน สธ.เล็งฉีดวัคซีนกลุ่ม 6 เดือนขึ้นไป

โควิดไทยเข้าสู่ระยะหลังระบาดใหญ่ตามแผน สธ.เล็งฉีดวัคซีนกลุ่ม 6 เดือนขึ้นไป

วันนี้ (27 มิถุนายน 2565) ที่โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงแผนการขับเคลื่อนโรคโควิด-19 เข้าสู่โรคประจำถิ่น หลังวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ว่า เรื่องของโรคประจำถิ่นนั้น คงต้องรอให้องค์การอนามัยโลกเป็นผู้ประกาศ ส่วนประเทศไทยจะใช้ว่า เข้าสู่ระยะหลังการระบาดใหญ่ (Post-Pandemic)

“หัวใจสำคัญคือ การระบาดใหญ่ในประเทศไทยคงไม่มีแล้ว และโรคลดความรุนแรงลง ระบบสาธารณสุขรองรับได้ และไม่ใช่ว่าหลังวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ จะไม่มีโรคแล้ว ก็จะมีเป็นคลื่นเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง อาจเป็นคลัสเตอร์เล็ก ปานกลาง หรือใหญ่ แต่ทั้งหมดจะอยู่ภายใต้การควบคุม ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม และมีระบบเฝ้าระวังและเตรียมการการรักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยหนักและใส่ท่อช่วยหายใจ” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

ทั้งนี้ ปลัด สธ. กล่าวว่า การฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยง 608 ก็ต้องดำเนินการตลอด ซึ่งก็ดีขึ้น ขณะนี้ฉีดสะสมเกือบ 140 ล้านโดสแล้ว ประชาชน 60 ล้านคน ได้ฉีดเข็มแรกแล้ว

“บางทีเราก็หาคนฉีดไม่ค่อยได้ ก็ต้องดูว่าจะทำอย่างไร ซึ่งวันนี้เรามีโอกาสได้คุยกับกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) บอกว่า มีคนไทย 16 ล้านคนอยู่นอกประเทศ บางทีอาจจะได้ฉีดอยู่ข้างนอกประเทศแล้ว อาจจะไม่ได้รายงาน เราก็พยายามทำตัวเลขให้ใกล้เคียงที่สุด นอกจากนี้ กรมควบคุมโรคยังรายงานว่า สหรัฐอเมริกาอนุญาตให้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเด็กเล็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป ถึง 5 ปี ซึ่งจะมีการหารือเวลาและรูปแบบการฉีดที่เหมาะสม ซึ่งอาจเป็นสถานพยาบาล เพราะเด็กเล็กต้องมีการตรวจติดตามอยู่แล้ว โดยมีการเตรียมวัคซีนไว้แล้ว หากได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก็จะมีการฉีดในเด็กกลุ่มนี้เพิ่มเติมต่อไป” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า วันที่ 1 กรกฎาคมนี้ จะประกาศให้ประเทศไทยเป็น Post-Pandemic ใช่หรือไม่ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ก็คงเป็นไปตามแผน แต่อย่างที่บอกว่าไม่ใช่จะไม่มีโรค แต่จะมีการติดเป็นคลัสเตอร์บ้าง แต่ไม่มีคลัสเตอร์ใหญ่ๆ คนติดเป็นล้าน เกิดคลัสเตอร์แล้วลดลงไปเช่นนี้ เป็นคลื่นเล็กๆ และโรคไม่รุนแรงอยู่ในการควบคุม คือ ความหมาย Post-Pandemic ของเรา ส่วนเรื่องสิทธิการรักษารัฐบาลก็ดูแล สิทธิกองทุนต่างๆ ก็ครอบคลุมอยู่แล้ว โดยจะมีการหารือกันในเรื่องนี้ต่อไป

เมื่อถามถึงคนเริ่มกังวลถึงสายพันธุ์โอมิครอน BA.4 และ BA.5 แต่ขณะนี้มีการอนุญาตให้ถอดหน้ากากตามความสมัครใจ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ไม่ได้เพิ่งเจอตอนนี้ สธ.โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีการวางระบบเฝ้าระวังสายพันธุ์ โดยพบตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาแล้ว

“ก็ผ่านมา 3 เดือนแล้ว เคสก็เพิ่มขึ้นบ้าง ปัญหาที่เรากังวลว่า โรคแพร่เร็วจนเราควบคุมไม่ได้ใช่หรือไม่ และทำให้เกิดอาการหนักขึ้นจนมีคนป่วยหนักเข้าโรงพยาบาล (รพ.) มากหรือไม่ ซึ่งเราเฝ้าระวังอยู่ขณะนี้ยังไม่พบว่ามีลักษณะนั้น อย่างต่างประเทศ เช่น สหรัฐ อังกฤษ พบ BA.4 และ BA.5 แพร่เร็วกว่าโอมิครอนดั้งเดิม 1.3-1.4 เท่า แต่ประเทศอื่นในยุโรปก็บอกว่า แพร่ได้น้อยกว่า ดังนั้น เรื่องแพร่เร็วก็ยังไม่มีความชัดเจน แสดงว่าไม่ได้เกี่ยวกับตัวเชื้ออย่างเดียว แต่เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมด้วยที่ทำให้เกิดการแพร่เร็ว เราก็เฝ้าระวังว่าจะเกิดเช่นนั้นในประเทศไทยหรือไม่ ซึ่งจากการตรวจส่งสายพันธุ์ เราก็พบสัดส่วนประมาณร้อยละ 40 โดยเจอในคนต่างชาติมากกว่าคนไทย นอกจากนี้ ยังพบว่า BA.4 และ BA.5 ทำให้ภูมิต้านทานเชื้อลดลงบ้าง จึงแนะนำให้ฉีดวัคซีนเพิ่มเติม” นพ.เกียรติภูมิ กล่าวและว่า บางคนคิดว่า ฉีดวัคซีน 3 เข็ม จะเพียงพอ แต่จริงๆ ถ้าถึงระยะเวลาที่แนะนำ คือ 4 เดือน ควรไปฉีดซ้ำ เพราะวัคซีนเมื่อเราไปดูคนที่ป่วย BA.4 และ BA.5 ถ้าได้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น (บูสเตอร์ โดส) อาการเจ็บป่วยน้อยลงกว่าคนที่ไม่ได้ฉีด ก็ชัดเจนว่าวัคซีนยังได้ผลป้องกันหนักและเสียชีวิต

Advertisement

ด้าน นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า เรื่องการฉีดวัคซีนในเด็กเล็กนั้น ต้องรอทางไฟเซอร์และโมเดอร์นามาขึ้นทะเบียนเพิ่มเติม เพื่อฉีดในกลุ่มอายุ 6 เดือนขึ้นไป ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการมายื่นขอขยายอายุการฉีดเพิ่มเติม แต่หากยื่นเรื่องเข้ามาแล้วก็สามารถพิจารณาได้ทันที โดยขนาดที่ใช้ในกลุ่มอายุ 6 เดือนขึ้นไป จะมีขนาดน้อยกว่าวัคซีนที่ใช้ในเด็กอายุ 5-11 ปี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image