กทม.จัดบริการดูแลสุขภาพจิตคนกรุง ลดภาวะความเครียดจากสถานการณ์ปัจจุบัน

กทม.จัดบริการดูแลสุขภาพจิตคนกรุง ลดภาวะความเครียดจากสถานการณ์ปัจจุบัน

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2565 น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เผยผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ไม่ได้รับการรักษามีอัตราฆ่าตัวตายสูงถึงร้อยละ 20 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบันได้ส่งผลให้ประชาชนประสบกับปัญหาการดำเนินชีวิตต่างๆ มากขึ้น ทำให้เกิดภาวะความเครียด สับสน เป็นสาเหตุให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพตามมา โดยเฉพาะปัญหาสุขภาพจิตซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ กทม.โดยสำนักการแพทย์ และสำนักอนามัย ตระหนักถึงปัญหาสุขภาพของประชาชนมาโดยตลอด จึงได้ดำเนินการเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้น โดยจัดบริการให้คำปรึกษาสุขภาพจิตแก่ประชาชนที่โรงพยาบาล (รพ.) 4 แห่ง ของสำนักการแพทย์ และที่ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจที่พร้อมจะเผชิญปัญหาในการดำเนินชีวิต อันจะเป็นการลดความเจ็บป่วยทั้งทางกายและจิตใจ และไม่หันไปตัดสินแก้ไขปัญหาด้วยวิธีรุนแรง สำหรับบริการให้คำปรึกษาสุขภาพจิตที่กรุงเทพมหานครจัดให้แก่ประชาชน มีดังนี้

1.บริการให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต ผ่านสายด่วนสุขภาพ สำนักการแพทย์ กทม. โทร 1646 ตลอด 24 ชั่วโมง

2.เปิดให้บริการคลินิกจิตเวช ใน รพ.สังกัด กทม. 8 แห่ง ได้แก่ รพ.กลาง รพ.ตากสิน รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ รพ.สิรินธร รพ.ราชพิพัฒน์ รพ.หลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ รพ.ลาดกระบังกรุงเทพมหานคร รพ.เวชการุณย์รัศมิ์

Advertisement

“สำหรับการให้บริการด้านจิตเวชของสำนักอนามัย มีการตรวจประเมินคัดกรองด้านสุขภาพจิตเบื้องต้น ในศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง ในวันและเวลาราชการ กรณีประเมินแล้วพบอาการรุนแรง มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย จะนัดหมายเข้าคลินิกจิตเวชให้บริการตรวจรักษาจ่ายยาและให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต โดยจิตแพทย์ หรือส่งต่อ รพ.เฉพาะทางด้านจิตเวชต่อไป” น.ส.ทวิดากล่าว

Advertisement

รองผู้ว่าฯกทม.กล่าวว่า ในส่วนของมาตรการเชิงป้องกัน สำนักอนามัย โดยศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) ได้จัดอบรมอาสาสมัครสาธารณสุข ให้ช่วยเฝ้าระวังประชาชนที่มีอาการซึมเศร้า โดยแจ้งผ่าน ศบส.เพื่อประเมินสุขภาพจิตและให้การช่วยเหลือ และมีการพัฒนาระบบการประเมินสุขภาพจิตด้วยตนเองผ่าน QR code ซึ่งประชาชนจะทราบผลการประเมินและสามารถดูแลตนเองเบื้องต้นได้ พร้อมทั้งออกให้บริการหน่วยเคลื่อนที่ เพื่อดูแลสุขภาพเชิงรุกในชุมชนและสถานประกอบการที่แจ้งเข้ามา มีการให้ความรู้ การประเมินโรคซึมเศร้า ให้คำปรึกษา ติดตามดูแลช่วยเหลือกลุ่มเสี่ยง และส่งต่อหากอาการไม่ดีขึ้น และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง โดยออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีคุณค่าในอัตราที่พอเหมาะ พักผ่อนให้พอเพียงเลี่ยงพฤติกรรมที่บั่นทอนสุขภาพ เช่น สูบบุหรี่ ดื่มสุรา รวมทั้งสร้างสิ่งแวดล้อมทั้งที่บ้าน ที่ทำงานให้สะอาดน่าอยู่ และไม่ก่อให้เกิดมลพิษทั้งทางใจและทางกาย เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image