ก.แรงงาน จับมือเอกชน หนุนฝึกทักษะดิจิทัล รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย

ก.แรงงาน จับมือเอกชน หนุนฝึกทักษะดิจิทัล รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย

วันนี้ (28 มิถุนายน 2565) นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ว่าด้วยการพัฒนาฝีมือแรงงานด้านเทคโนโลยีการออกแบบและการผลิตอุตสาหกรรม ระหว่าง กพร. กับ นายคง เจีย เฟิง รองประธานฝ่ายอาวุโส บริษัท ซีเมนส์ จำกัด โดยมี ว่าที่ร.ต.สมศักดิ์ พรหมดำ รองอธิบดี กพร. นางชนิดา ยศสินศักดิ์ หัวหน้าฝ่ายการเงินธุรกิจดิจิทัลอินดัสทรี และ นายสมบูรณ์ อนันตธนะสาร หัวหน้าฝ่ายซอฟต์แวร์อุตสาหกรรม บริษัท ซีเมนส์ จำกัด เป็นพยานในบันทึกข้อตกลง ที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน

 

นายประทีป กล่าวภายหลังพิธีลงนามความร่วมมือว่า การบูรณาการเป็นกลไกหนึ่งที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้นโยบายการทำงานแบบบูรณาการ โดยนำศักยภาพของแต่ละภาคส่วนมาช่วยกันพัฒนาคนของประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ให้นักลงทุนได้เห็นความสามารถด้านฝีมือของแรงงานไทย และเป็นปัจจัยประกอบการตัดสินใจการลงทุนในประเทศไทย ปัจจุบันดิจิทัลที่มีความเจริญก้าวหน้าทั้งด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ ผู้ประกอบธุรกิจต้องเผชิญกับการแข่งขัน ภาคอุตสาหกรรมจะต้องปรับตัวเพื่อให้เกิดความได้เปรียบ โดยนำเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติในการออกแบบและการผลิตมาใช้ในงานอุตสาหกรรม จึงจะสามารถช่วยให้ผู้ประกอบการลดต้นทุน ประหยัดเวลาที่ใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาด บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการทำงานดังกล่าวจึงสำคัญและจำเป็นต้องมีทักษะความรู้ สามารถใช้เทคโนโลยีนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ กพร.จึงร่วมมือกับ บริษัท ซีเมนส์ จำกัด พัฒนาทักษะให้แก่กำลังแรงงานและบุคลากรที่ทำงานในสถานประกอบกิจการ

Advertisement

อธิบดี กพร. กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา กพร.ได้ร่วมกับบริษัทจัดฝึกอบรมหลักสูตรที่เกี่ยวข้องด้านเทคโนโลยีการออกแบบและการผลิตอุตสาหกรรมมีผู้ผ่านการฝึกอบรม รวมทั้งสิ้น 87 คน รวมทั้งบริษัทได้สนับสนุนการเก็บตัวเยาวชนเข้าแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ สาขาเมคคาทรอนิกส์ พร้อมจัดส่งผู้เชี่ยวชาญในการเป็นผู้ฝึกสอนให้แก่เยาวชนที่เก็บตัวเข้าแข่งขันอีกด้วย และในความร่วมมือครั้งนี้ ต้องการร่วมกันขยายเป้าหมายการฝึกให้มากขึ้น ในหลักสูตรด้านเทคโนโลยีการออกแบบและการผลิตอุตสาหกรรม จำนวน 4 รุ่น เป้าหมาย 80 คน เบื้องต้น จะดำเนินการฝึกให้แก่ ครูฝึกของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน คณะครู อาจารย์ในสถาบันการศึกษาด้านอาชีวศึกษาและหัวหน้างานในสถานประกอบกิจการ โดยใช้สถานที่ฝึกอบรมของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน 2 แห่ง ได้แก่ สถาบันพัฒนาบุคลากรเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (Manufacturing Automation and Robotics Academy : MARA) ตั้งอยู่ที่ จ.ชลบุรี จำนวน 3 รุ่น และสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีอัตโนมัติและเมคคาทรอนิกส์ (Automation and Mechatronics Academy : AMA) ตั้งอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น จำนวน 1 รุ่น ซึ่งมีการจัดทำหลักสูตรการฝึกร่วมกันและใช้เป็นหลักสูตรกลางของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานด้วย

นายคง เจีย เฟิง กล่าวว่า บริษัทให้การสนับสนุนซอฟต์แวร์ด้านเทคโนโลยีการออกแบบและการผลิตอุตสาหกรรม จำนวน 20 ชุด จัดวิทยากรในการให้ความรู้ เครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับการฝึกอบรม รวมถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ต้องใช้ในการฝึกอบรมด้วย หลักสูตรที่ดำเนินการฝึก เช่น การใช้ PLC ควบคุมระบบอัตโนมัติ (PLC Automation) การจำลองการทำงานของหุ่นยนต์อุตสาหกรรมเบื้องต้น (Robotic Simulation) การออกแบบทางอุตสาหกรรมโดย NX Design การจำลองการทำงานและเพิ่มประสิทธิภาพของโรงงานอุตสาหกรรม (Plant Simulation) เป็นต้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image