ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ถกร่วม กฟน.-กปน.-ตร. ขยายทราฟฟี่ ฟองดูว์ ปัดฝุ่นจุดน้ำดื่มฟรี! ทั่วกรุง

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ถกร่วม กฟน.-กปน.-ตร. ขยายทราฟฟี่ ฟองดูว์ ปัดฝุ่นจุดน้ำดื่มฟรี! ทั่วกรุง

วันนี้ (28 มิถุนายน 2565) ที่ศาลาว่าการ กทม.(เสาชิงช้า) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังหารือความร่วมมือด้านต่างๆ กับตัวแทนการประปานครหลวง (กปน.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ว่า วันนี้เป็นนิมิตรหมายที่ดีที่ได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร โดยมีทาง กปน., กฟน. และตำรวจที่ดูแลสายด่วน 191 โดยต่อเนื่องมาจากแพลตฟอร์ม ทราฟฟี่ ฟองดูว์ ที่ กทม.นำมาใช้

“ช่วงแรกทราฟฟี่ ฟองดูว์ จะประสานงานกันภายในหน่วยงานสังกัด กทม. สำนัก และสำนักงานเขต ทำให้ช่วยแก้ปัญหาได้เร็วขึ้น แต่จากนี้ ถึงเวลาที่จะเลื่อนไปอยู่นอก กทม.แล้ว เพราะการให้บริการของ กทม.มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วันนี้เลยมีการเชิญหน่วยงานเบื้องต้นที่มีความเกี่ยวข้องมากๆ เข้ามาดูเรื่องร้องเรียนได้ทันที และเราก็ได้ให้คนพัฒนาระบบให้หน่วยงานเหล่านี้มีรหัสเข้ามาดูเรื่องของตัวเองได้เลย” นายชัชชาติ กล่าว

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวอีกว่า สำหรับขั้นตอนการดูแลปัญหานั้น กทม.จะรับเรื่องเข้ามา และส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะมีการแบ่งเขตการดูแลที่ต่างกันออกไป

“จะมีการตั้งผู้ประสานงานในแต่ละหน่วย เพราะบางเรื่องเทคโนโลยีอาจจะแก้ไม่ได้ นอกจากนี้ ยังมีการพูดคุยกันเฉพาะเรื่อง เช่น กปน. อยากทำจุดน้ำดื่มให้ประชาชน ซึ่งตรงนี้เมื่อก่อนเราเคยมีอยู่ 400 จุด แต่รื้อทิ้งหมดแล้ว จากนี้ จะตั้งคณะทำงานมาหารือร่วมกัน โดยให้ นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. เป็นผู้ดูแล เราเชื่อว่าจุดน้ำดื่มเป็นสิ่งสำคัญของเมืองเหมือนกัน เหมือนสมัยก่อน ที่เรามีตุ่มน้ำให้คนดื่มน้ำ ปัจจุบันเราอยู่ในกรุงเทพฯ หาจุดดื่มน้ำฟรีแทบไม่ได้ ดังนั้น ผมว่าการทำจุดน้ำดื่มที่ไม่กีดขวางทางเดิน และสะอาด จะช่วยยืนยันความปลอดภัยของน้ำประปา ขณะเดียวกัน ในแง่สิ่งแวดล้อมจะช่วยลดจำนวนขวดพลาสติกได้” นายชัชชาติ กล่าว

Advertisement

นายชัชชาติ กล่าวต่อไปว่า อีกเรื่องคือ เรื่องของสายสื่อสาร ที่ข้างบนมีเยอะแล้ว แต่ใต้ดินมีเยอะกว่าอีก โดยจะมีการไปคุยเรื่องสายสื่อสาร ลดจำนวนสาย และเอาลงดิน ส่วน กฟน.มีเรื่องหม้อแปลง ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ โดยประเด็นสำคัญคือ การสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนว่า หม้อแปลงต่างๆ ยังอยู่ในมาตรฐานที่ใช้ได้

นายชัชชาติ กล่าวว่า กทม.พร้อมจะร่วมมือกับ กฟน.อย่างเต็มที่ โดยพยายามจะกำหนดจุดและรายงานว่ามีปัญหาที่จุดไหน แต่ปัจจัยที่สำคัญคือ สายสื่อสาร ที่มีชนวนทำให้ไฟลุกลามไปได้ กทม.จะช่วยตัดสายสื่อสาร และส่วนไหนที่เอาลงดินได้ ก็จะเอาลงดิน

ด้านนายเดชา วิริยะเจริญกิจ ผู้ช่วยผู้ว่าการ กฟน. กล่าวว่า รูปแบบการจ่ายไฟมี 2 ส่วน คือ ระบบเน็ตเวิร์ก ที่หม้อแปลงอยู่ในเมืองประมาณ 400 ลูก ปกติจะบำรุงรักษาปีละ 1 ครั้ง แต่จากนี้จะเพิ่มความถี่เป็น 6 เดือนครั้ง ขณะเดียวกัน จะมีการระดมพลไปตรวจสอบทั้งหมด

Advertisement

“ขอความร่วมมือประชาชน หากพบเห็นหม้อแปลงมีน้ำมันไหล หรือได้ยินเสียงดัง รบกวนแจ้งเข้ามาที่ กฟน.ด้วย เพราะสายอาจจะขาดและเป็นอันตรายต่อประชาชน โดยประชาชนสามารถโทรศัพท์เข้ามาที่สายด่วนเบอร์ 1130” นายเดชา กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงการเยียวยาผู้ประสบภัยจากกรณีไฟไหม้สำเพ็ง นายเดชา กล่าวว่า กฟน.ยืนยันว่ามีการเยียวยาเบื้องต้น ส่วนการชดเชยต้องรอผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์สาเหตุโดยละเอียดก่อน และ กฟน.พร้อมเยียวยาอย่างเต็มที่

นายชัชชาติ กล่าวเสริมว่า ส่วนการเยียวยานั้นเป็นไปตามข้อกฎหมาย ถ้าเป็นความผิดของหน่วยงาน ตนเชื่อว่าหน่วยงานจะรับผิดชอบอย่างเต็มที่ ซึ่ง กทม. ต้องฝ่ายโยธาไปตรวจสอบทรัพย์สินของทาง กทม. ด้วย ถ้าหากพบว่าเสียหายก็จะมีการเรียกร้องไปยัง กฟน. ด้วยเช่นกัน

เมื่อถามอีกว่า ประเด็นเรื่องการใช้งบประมาณ 2 หมื่นล้าน ในการนำสายสื่อสารลงดิน นายชัชชาติ กล่าวว่า เป็นตัวเลขที่บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) เคยทำไว้ ซึ่งจำนวนนี้ตนมองว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก บางครั้งเรื่องเร่งด่วนอาจไม่ใช่การนำสายไฟลงดิน แต่คือการตัดสายตาย เพราะสายส่วนมากเป็นสายที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งการตัดสายตายก็จะช่วยลดภาระ และอาจไม่ได้ใช้เงินมากด้วย อาศัยความร่วมมือ แต่ตามหลักที่ผ่านมาเราตัดเองไม่ได้ เพราะถ้าตัดแล้วเกิดความเสียหายอาจจะโดนฟ้อง ก่อนจะย้ำว่าก่อนจะนำสายลงดิน ทำให้สายเหลือน้อยก่อน ส่วนที่ก่อนหน้าที่มีนโยบายให้แต่เขตพื้นที่ตัดสายตายทิ้ง 20 กิโลเมตร นั้น จะเริ่มนำร่องในเส้นทางสำเพ็งต่อเนื่องเยาวราช

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image