ตัวแทนเหยื่อเมาแล้วขับ ขอบคุณผู้ว่าฯชัชชาติ แจกหมวกกันน็อกเด็กกว่าแสนใบ

ตัวแทนเหยื่อเมาแล้วขับ ขอบคุณผู้ว่าฯชัชชาติ แจกหมวกกันน็อกเด็กกว่าแสนใบ

วันนี้ (28 มิถุนายน) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนกรุงเทพมหานคร (ศปถ.กทม.) ครั้งที่ 3/2565 เพื่อติดตามผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการฯ ร่วมกันกำหนดแนวทางป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ตลอดจนส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยมี นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯกทม. นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัด กทม. นายประภาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง พร้อมด้วย คณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนกรุงเทพมหานคร ภาคีเครือข่าย ผู้แทนหน่วยงานในสังกัด กทม.หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมที่อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการ กทม. (ดินแดง) และผ่านระบบทางไกล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนนายชัชชาติเข้าประชุม ตัวแทนเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ มูลนิธิเมาไม่ขับ ได้เข้ายื่นหนังสือขอบคุณนายชัชชาติ ที่ตอบสนองข้อเรียกร้องภายใน 28 วัน หลังจากที่ยื่นหนังสือร้องเรียน ภายใต้นโยบายการปกป้องความปลอดภัยของเด็ก ด้วยการประกาศแจกหมวกกันน็อกให้เด็กนักเรียนสังกัด กทม. จำนวน 126,117 ใบ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสมาคมประกันวินาศภัยไทย และบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด

ทั้งนี้ ในที่ประชุมฯ ได้รายงานสรุปผลการประชุม ศปถ.เขต ตามข้อสั่งการในที่ประชุมฯ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 โดยให้ศึกษานโยบายของผู้ว่าฯกทม. 9 ด้าน 9 ดี ซึ่งมีอย่างน้อย 216 ข้อ เน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยดี และเดินทางดี กำหนดตัวชี้วัดระดับเขตทั้ง 50 เขต ลดจุดเสี่ยง เพื่อให้ทุกสำนักงานเขตให้ความสำคัญกับการแก้ไขจุดเสี่ยงในพื้นที่เขต สำหรับจุดเสี่ยงในกรุงเทพมหานคร มีทั้งหมด 917 จุด แบ่งเป็น จุดเสี่ยงตามตัวชี้วัด สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักการโยธา และสำนักงานเขต และจุดเสี่ยงคงค้างที่รองบประมาณปี 2564 จำนวน 118 จุด จุดเสี่ยงเพิ่มเติมปี 2565 ของ 50 สำนักงานเขต จำนวน 700 จุด และจุดเสี่ยงจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล 99 จุด

Advertisement

ผู้ว่าฯกทม.กล่าวว่า ได้มอบหมายในที่ประชุมฯ ให้สำรวจทางข้าม เพื่อปรับปรุงให้ได้มาตรฐานความปลอดภัยทางถนน ทำสัญญาณไฟกะพริบ ไฟส่องสว่างให้ดีขึ้น ป้องกันและลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุ พร้อมทั้งฝากให้ทุกคนช่วยกันคิด เพื่อกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน

สำหรับการดำเนินการ เรื่องการประเมินความปลอดภัยทางถนนตามมาตรฐานนานาชาติ (IRAP) ประกอบด้วย 1.กายภาพถนนปลอดภัย แก้ไขจุดเสี่ยงอันตราย เพิ่มอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย มาตรการด้านวิศวกรรมจราจร ออกแบบและปรับปรุงถนนด้วยมาตรฐานนานาชาติ 2.ยานพาหนะที่ปลอดภัย ระบบขนส่งสาธารณะ เพิ่มรูปแบบการเดินทางทางเลือก มาตรการส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ 3.การจราจรและความเร็วปลอดภัย จัดลำดับขั้นตอน จัดการจราจรอัจฉริยะ จัดการความเร็วที่เหมาะสม 4.ผู้ใช้รถใช้ถนนปลอดภัย ศูนย์ควบคุมเทคโนโลยีกล้องวงจรปิด ระบบเชื่อมโยงใบสั่งจราจร ศูนย์ฝึกอบรมการขับขี่ ศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุทางถนน นอกจากนี้ ในที่ประชุม ได้รายงานจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมสู่ถนนปลอดภัย สร้างแนวร่วมให้กับประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน โดยเน้นเรื่อง ความเร็ว ทางข้าม และจักรยานยนต์ ตามมติจากการประชุม ศปถ.กทม.ครั้งที่ 2/2565 รวมถึงได้หารือถึงการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากความประมาท ขับขี่ด้วยความเร็ว ไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร

 

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image