สธ.ชี้โควิดเพิ่มจริง! แต่อัตราตาย 0.07% ใกล้เคียงหวัดใหญ่ จ่อแก้สัญญาซื้ออีวูชิลด์ 2 แสนโดส

สธ.ชี้โควิดเพิ่มจริง! แต่อัตราตาย 0.07% ใกล้เคียงหวัดใหญ่ จ่อแก้สัญญาซื้ออีวูชิลด์ 2 แสนโดส

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2565 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีมีการระบุว่าสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย มีจำนวนผู้ติดเชื้อจริงสูงกว่าที่มีการรายงานในระบบราวๆ 10 เท่าว่า ในข้อมูลทั่วโลกที่มีการรายงานขณะนี้ ก็ไม่ใช่ตัวเลขผู้ติดเชื้อจริง มีการคาดการณ์ว่า มากกว่าตัวเลขที่รายงาน 7-8 เท่า ซึ่งการติดตามจำนวนผู้ติดเชื้อก็ดูแนวโน้มการระบาดของโรค

“ส่วนในประเทศไทย ขณะนี้แนวโน้มการติดเชื้อเพิ่มขึ้นจริง หลังจากที่มีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ มากขึ้น แต่ไม่ได้รุนแรงเหมือนการระบาดช่วงสายพันธุ์เดลต้าและเชื้อโอมิครอนในช่วงแรกๆ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขผู้ติดเชื้อขณะนี้ไม่ได้มีความสำคัญ แต่สิ่งที่เราให้ความสำคัญคือ ผู้ป่วยอาการหนักใส่ท่อช่วยหายใจ ผู้เสียชีวิต ซึ่งจะสะท้อนสถานการณ์ว่าจริงๆ แล้วโรครุนแรงหรือไม่ ระบบสาธารณสุขรองรับได้หรือไม่ ซึ่งกรมควบคุมโรคเฝ้าระวังเรื่องนี้อยู่” นพ.โอภาสกล่าว

อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า กรณีที่มีการตื่นตระหนกเมื่อมีการรายงานพบผู้ติดเชื้อในพื้นที่ต่างๆ ขอย้ำว่า กราฟขึ้นๆ ลงๆ ได้ ซึ่งขณะนี้กำลังพิจารณาจุดสมดุลของฐานต่ำสุดเทียบกับช่วงการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า ซึ่งมีผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 300-400 รายต่อวัน ปอดอักเสบ 800-900 รายต่อวัน เสียชีวิต 20-30 รายต่อวัน

“หากตัวเลขอยู่ระดับนี้ แลกกับการที่เราสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ คิดว่าคนส่วนใหญ่ก็น่าจะพอยอมรับได้ แต่เราพยายามดูแลให้มีผู้ป่วย และเสียชีวิตให้น้อยที่สุด” นพ.โอภาสกล่าว และว่า ข้อมูลขณะนี้ อัตราการติดเชื้อป่วยเสียชีวิตอยู่ที่ร้อยละ 0.07 ถือว่าใกล้เคียงกับโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีอัตราการป่วยเสียชีวิต 1 ใน 1,000 หรืออยู่ที่ ร้อยละ 0.1 ซึ่งไข้หวัดใหญ่ก็ไม่ได้ตรวจทุกวัน และขณะนี้โรคโควิด-19 ยังถือว่ามีความรุนแรงน้อยกว่าอีกหลายๆ โรคในแต่ละวัน” นพ.โอภาสกล่าว

Advertisement

นพ.โอภาสกล่าวว่า สำหรับคำแนะนำสำหรับประชาชนในการปฏิบัติตัวหลังพ้นระยะการระบาดใหญ่ (post-pandemic) คือ 1.การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น (บูสเตอร์ โดส) ทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่ม 608 เนื่องจากในจำนวนผู้เสียชีวิตรายวัน ส่วนใหญ่ยังเป็นคนกลุ่มนี้ คนทั่วไปยังแนะนำการฉีดทุก 4 เดือน ยกเว้นว่าจะมีการศึกษาและมีคำแนะนำออกมาเพิ่มเติม ส่วนที่คนกังวลว่าวัคซีนจะไม่สามารถป้องกันเชื้อโอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ได้นั้น วัคซีนทุกตัว แม้ว่าประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อลดลง แต่ประสิทธิภาพในการลดการป่วยหนัก ลดการเสียชีวิตนั้นไม่ได้ลดลง จึงขอเชิญชวนให้ไปฉีด 2.การสวมหน้ากากอนามัย/ผ้า ถือว่ายังมีประโยชน์ โดยเฉพาะเมื่อต้องอยู่รวมกับคนหมู่มาก

ผู้สื่อข่าวถามถึงแนวทางการให้ยาฉีดอีวูชิลด์ (Evusheld) เพื่อป้องกันโรคโควิด-19 หลังจาก อย.ได้อนุมัติให้มีการใช้แล้ว นพ.โอภาสกล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้รับการอนุมัติให้มีการจัดซื้อแล้ว เบื้องต้น จำนวน 2 แสนโดส แต่ไม่ได้เพิ่มงบประมาณเพื่อจัดซื้อ จะเป็นการขอเปลี่ยนแปลงสัญญากับทางบริษัทผู้ผลิตเพื่อเปลี่ยนจากวัคซีน มาเป็นยาดังกล่าวแทน ส่วนการนำไปใช้นั้น คณะกรรมการวิชาการในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบให้นำมาใช้ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องภูมิคุ้มกัน คือ ผู้ป่วยโรคไต ผู้ป่วยเปลี่ยนไต ฟอกไต และเนื่องจากเป็นยาใหม่ จึงมีข้อเสนอว่าให้มีการทำการศึกษาวิจัยร่วมด้วย

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image